คต.เปิดรับฟัง “มาม่า”และผู้ผลิตสินค้า ใช้ฟิล์มบีโอพีพี ช่วงพิจารณามาตรการเอดี
นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมฯอยู่ระหว่างการพิจารณาการเปิดไต่สวนการทุ่มตลาด (เอดี) สินค้าฟิล์มบรรจุภัณฑ์ไบแอคเซียลลี ออเรียนเต็ดโพลิโพรพิลีน หรือฟิล์มบีโอพีพี ที่มีแหล่งกำเนิดจากจีน อินโดนีเซีย และมาเลเซีย โดยได้รับฟังความคิดเห็นทั้งจากผู้ประกอบการในประเทศ ผู้ใช้ในประเทศ และยังเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการที่ใช้สินค้าสำเร็จรูปที่ผลิตจากฟิล์มบีโอพีพีทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นบรรจุภัณฑ์อาหาร ยา เวชภัณฑ์ สินค้าอุปโภคบริโภค ที่เห็นว่าอุตสาหกรรมจะได้รับผลกระทบจากการขึ้นภาษีเอดี สามารถที่จะยื่นรายละเอียดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นมาให้กรมฯ ใช้ประกอบการพิจารณาได้
“ล่าสุด ที่ มาม่า ออกมาระบุว่า หีบห่อที่ใช้ในการผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป จะได้รับผลกระทบ ทำให้ต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น จากการขึ้นภาษีเอดี กรม ก็ขอให้ มาม่า ยื่นรายละเอียดผลกระทบมาว่าเป็นอย่างไร เพราะเป็นหน้าที่ของกรมอยู่แล้ว ที่ต้องรับฟังความคิดเห็นรอบด้าน และยังทำให้รัฐมีข้อมูลในการพิจารณาครบทุกภาคส่วน โดยอุตสาหกรรมที่ใช้บรรจุภัณฑ์อื่นๆ นอกเหนือจากมาม่า สามารถยื่นแสดงผลกระทบเข้ามาได้เช่นกัน กรมพร้อมที่จะรับฟัง”
นายกีรติ กล่าวต่อว่า กรมไม่ได้เปิดโอกาสให้แค่อุตสาหกรรมที่ใช้บรรจุภัณฑ์ ที่จะได้รับผลกระทบจากการใช้เอดี แต่เปิดโอกาสให้ทุกกลุ่มอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นเหล็ก หรือทินเพลต (วัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตกระป๋องบรรจุอาหาร) ที่กรมฯ กำลังพิจารณาใช้มาตรการเอดีหรือเซฟการ์ด สามารถยื่นผลกระทบเข้ามาได้ด้วย ซึ่ง การยื่นรายละเอียดผลกระทบ จะเป็นประโยชน์กับอุตสาหกรรมเอง เพราะผลกระทบเหล่านี้ จะถูกนำไปใช้ประกอบการเสนอให้คณะกรรมการพิจารณาการทุ่มตลาดและการอุดหนุน (ทตอ.) พิจารณาว่าจะประกาศเรียกเก็บเอดีหรือไม่ โดยตามพ.ร.บ.การตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนซึ่งสินค้าจากต่างประเทศ ได้เขียนไว้ชัดเจนในมาตรา 7 ว่า การใช้มาตรการเอดี ต้องคำนึงถึงประโยชน์ของอุตสาหกรรมภายใน ผู้บริโภค และประโยชน์สาธารณประกอบกัน
ก่อนหน้านี้ บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปตรา “มาม่า” ได้แสดงความไม่เห็นด้วย กับการที่กระทรวงพาณิชย์กำลังพิจารณาใช้มาตรการเอดีกับสินค้าฟิล์มบีโอพีพี เพราะทำให้เกิดผลกระทบในวงกว้างกับทุกอุตสาหกรรมที่ใช้บรรจุภัณฑ์เป็นวัตถุดิบ โดยระบุว่าทางบริษัทจะมีต้นทุนสูงขึ้นจากปัจจุบัน ที่มีต้นทุนหีบห่อโดยรวมประมาณ 10% ของต้นทุนรวม หรือคิดเป็น 0.50 บาทต่อซอง และหากใช้มาตรการเอดีจริง จะทำให้แบกรับภาระต้นทุนไม่ไหว อาจต้องใช้การปรับขึ้นราคา แต่ก็เป็นทางเลือกสุดท้าย เพราะไม่อยากให้กระทบผู้บริโภค