รีเซต

กรมการแพทย์เตือนภัย “ยาเคนมผง” ฤทธิ์รุนแรงถึงตาย

กรมการแพทย์เตือนภัย “ยาเคนมผง” ฤทธิ์รุนแรงถึงตาย
PakornR
11 มกราคม 2564 ( 17:25 )
263

กรมการแพทย์โดยสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) เตือนภัยกลุ่มวัยรุ่นนิยมทดลองสิ่งแปลกใหม่ “ยาเคนมผง” ออกฤทธิ์รุนแรง อันตรายอาจถึงตายได้แม้เสพครั้งแรก


นายแพทย์มานัส โพธาภรณ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์  กล่าวว่า  เคตามีน (ketamine)  เป็นยาเสพติดที่ออกฤทธิ์หลอนประสาทอย่างรุนแรง ทำให้เกิดอาการมึนเมา เพลิดเพลิน มีความสุข เกิดภาพเหมือนฝัน รู้สึกเหมือนตัวเอง
กำลังล่องลอยอยู่ในอากาศหรือหลุดลอยออกจากร่าง ซึ่งฤทธิ์ของยาเคในระยะสั้นจะทำให้เกิดอาการหวาดระแวง 
จิตหลอน จำอะไรไม่ได้ ร่างกายเคลื่อนไหวไม่ได้เหมือนเป็นอัมพาตชั่วขณะ หากใช้ติดต่อกันเป็นเวลานานอาจทำให้เกิดปัญหาทางสมองเกี่ยวกับความทรงจำและสมาธิ มีปัญหาเกี่ยวกับการรับรู้และปัญหาทางจิต กลายเป็นคนวิกลจริต 

 


ในปัจจุบัน พบว่ากลุ่มวัยรุ่นนำ ยาเค ผสมกับสารเสพติดอื่นอีกหลายชนิด เช่น  ยาไอซ์ เฮโรอีน ยานอนหลับ(โรเซ่)  
นำมาผสมกันจนมีลักษณะละเอียดคล้ายนมผงแล้วนำมาเสพ จึงถูกเรียกว่า “ยาเคนมผง” เมื่อเสพเข้าสู่ร่างกายทำให้ผู้เสพมีอาการุนแรง ประสาทหลอน คิดว่าจะถูกทำร้ายเป็นสาเหตุของการทะเลาะวิวาท  ทั้งนี้ การเสพ “ยาเคนมผง” ร่วมกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะเพิ่มความเสี่ยงทำให้ผู้เสพเสียชีวิต และสามารถเกิดขึ้นได้แม้จะเสพเป็นครั้งแรก ซึ่งในขณะนี้พบผู้เสียชีวิตที่อาจเกิดจาการเสพยาเคนมผง จำนวนหลายหลาย ในบางรายที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ 


นายแพทย์สรายุทธ์ บุญชัยพานิชวัฒนา ผู้อำนวยการสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติ
บรมราชชนนี กล่าวเพิ่มเติมว่า ยาเสพติดทุกประเภทส่งผลเสียอย่างร้ายแรงต่อร่างกายของผู้เสพ ยิ่งมีการใช้ร่วมกันหลายชนิดก็ยิ่งเพิ่มความเสี่ยง บางรายอาจถึงขั้นเสียชีวิต ซึ่งใน “ยาเคนมผง” มีสารเสพติดที่ออกฤทธิ์รุนแรงหลายชนิด หนึ่งในส่วนผสมนั้นคือ เฮโรอีน ซึ่งออกฤทธิ์รุนแรงในทางกดประสาท หากเสพเฮโรอีนมากเกินความต้านทานของร่างกาย อาจทำให้หัวใจหยุดเต้นถึงเสียชีวิตได้ ขอย้ำเตือนกลุ่มวัยรุ่นหรือผู้ที่คิดจะทดลองใช้ “ยาเคนมผง” รวมไปถึงสารเสพติดชนิดอื่น ให้ตระหนักถึงอันตรายต่อตนเองอาจร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิต และนึกถึงผลกระทบต่อครอบครัวที่จะตามมา แนะผู้ปกครองควรหมั่นสังเกตุพฤติกรรมของบุตรหลานหรือคนในครอบครัว หากพบมีพฤติกรรมเสี่ยงที่จะเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด ให้รีบพูดคุยด้วยเหตุผล ไม่ใช้ความรุนแรง บอกกล่าวถึงอันตรายที่อาจจะตามมา

 

 

ทั้งนี้ หากพบว่าบุตรหลายหรือคนใกล้ชิดมีการเสพยา ควรรีบพาไปพบแพทย์เพื่อเข้าสู่กระบวนการบบัดรักษา และสามารถขอรับคำปรึกษาเกี่ยวกับยาและสารเสพติดได้ที่ สายด่วนยาเสพติด 1165 และหรือเข้ารับการบำบัดรักษาที่สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี กรมการแพทย์ จังหวัดปทุมธานี และโรงพยาบาลธัญญารักษ์ในส่วนภูมิภาค ทั้ง 6 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลธัญญารักษ์เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ขอนแก่น อุดรธานี สงขลา และปัตตานี สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.pmindat.go.th

 

 

ภาพปก : Image by A_Different_Perspective from Pixabay 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง