รีเซต

28 กันยายน 2564 ครบรอบ 104 ปี แห่งการพระราชทานธงชาติไทย

28 กันยายน 2564 ครบรอบ 104 ปี แห่งการพระราชทานธงชาติไทย
TNN ช่อง16
28 กันยายน 2564 ( 09:53 )
216

ภาพประกอบปกจาก / สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี




วันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2559 ในการประชุมคณะรัฐมนตรีที่ประชุมซึ่งนำโดย พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมรักษาราชการแทนนำยกรัฐมนตรี ในขณะนั้น ได้มีมติเห็นชอบให้วันที่ 28 กันยายน ของทุกปีเป็น “วันพระราชทานธงชาติไทย” โดยให้เริ่มในวันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2560 เป็นปีแรก แต่ไม่ถือเป็นวันหยุดราชการ  รวมทั้งกำหนดให้มีการชักและประดับธงชาติในวันดังกล่าวด้วย เพื่อเป็นการสร้างความภาคภูมิใจของคนในชาติ และเป็นการน้อมรำลึกถึงการที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) ที่พระองค์ได้พระราชทานธงไตรรงค์เป็นธงชาติไทย

โดยวันนี้ ( 28 กันยายน พ.ศ. 2564)  เป็นวันครบรอบ 104  ปี “ธงไตรรงค์”






ธงชาติไทย หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ธงไตรรงค์ เป็นธงชาติของประเทศไทย มีลักษณะเป็นธงสี่เหลี่ยมผืนผ้า ใช้สีหลักในธง 3 สี คือ สีแดง สีขาว และสีน้ำเงิน ภายในแบ่งเป็นแถบ 5 แถบ แถบในสุดสีน้ำเงิน ถัดมาด้านนอกทั้งด้านบนและล่างเป็นสีขาวและสีแดงตามลำดับ แถบสีน้ำเงินมีขนาดใหญ่กว่าแถบสีอื่นเป็น 2 เท่า ความหมายสำคัญของธงไตรรงค์นั้นหมายถึงสถาบันหลักทั้งสามของประเทศไทย คือ ชาติ (สีแดง) ศาสนา (สีขาว) และพระมหากษัตริย์ (สีน้ำเงิน) สีทั้งสามนี้เองคือที่มาของการเรียกชื่อธงนี้ว่าธงไตรรงค์ (ไตร = สาม, รงค์ = สี)


พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้ธงนี้เป็นธงชาติไทย  (ขณะนั้นยังเรียกชื่อประเทศว่าสยาม) แทนธงช้างเผือก (ซึ่งใช้เป็นธงชาติมาตั้งแต่รัชกาลที่ 3) เพื่อแก้ไขปัญหาที่ทำตัวช้างเผือกไม่สวยงาม  โดยเริ่มแรกในปี พ.ศ. 2459 ได้ประกาศใช้ธงแดง-ขาว 5 ริ้วเป็นธงค้าขายสำหรับสามัญชนไปก่อน ก่อนจะเติมสีขาบลงไปบนแถบกลางเพื่อเป็นอนุสรณ์ในการเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่หนึ่งกับฝ่ายสัมพันธมิตร และเพื่อระลึกถึงรัชกาลที่ 6 เมื่อช่วงปลายปี พ.ศ. 2460 และใช้เป็นธงชาติไทยเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน


“ความหมายของธงไตรรงค์”


ในพระราชนิพนธ์ "เครื่องหมายแห่งไตรรงค์" ซึ่ง พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรง พระราชนิพนธ์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๐ ได้นิยามความหมายของธงไตรรงค์ไว้ว่า


สีแดง หมายถึง เลือดของเราที่สามารถยอมพลี เพื่อรักษาเอกราชของชาติ


สีขาว หมายถึงความบริสุทธิ์ แห่งคำสอนตามหลัก พระพุทธศาสนา และการมีธรรมะประจำใจ คนไทย


สีน้ำเงิน หมายถึง สีทรงโปรดของพระองค์ท่าน หรือเป็นสีส่วนพระองค์ขององค์พระมหากษัตริย์ และยังเป็นสีประจำพระชนมวาร 


อ้างอิงจาก (http://phranon.go.th/public/news_upload/backend/files_42_1.docx)







การเคารพธงชาติ


ชาวไทยแสดงความเคารพต่อชาติด้วยการหยุดนิ่งในอาการสำรวมในระหว่างการบรรเลงเพลงชาติ แม้จะไม่เห็นการชักธงชาติก็ตามการเคารพธงชาติในปัจจุบันได้ยึดถือหลักการตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการใช้ การชัก หรือการแสดงธงชาติ และธงของต่างประเทศ ในราชอาณาจักร พ.ศ. 2529 กล่าวคือ เมื่อมีการชักธงชาติขึ้นและลง ให้แสดงความเคารพโดยการยืนตรง หันไปทางเสาธง อาคาร หรือสถานที่ที่มีการชักธงชาติขึ้นและลง จนกว่าจะเสร็จการ ในกรณีที่ได้ยินเพลงชาติหรือสัญญาณการชักธงชาติ จะเห็นหรือไม่เห็นการชักธงชาติก็ตาม ให้แสดงความเคารพโดยหยุดนิ่งในอาการสำรวม จนกว่าการชักธงชาติหรือเสียงเพลงชาติ หรือสัญญาณการชักธงชาติจะสิ้นสุดลง


สำหรับการเคารพธงชาติของทหารนั้น เมื่อมีการชักธงชาติขึ้นและลง นายทหารสัญญาบัตรทุกนาย ให้แสดงความเคารพโดยการยืนตรงทำวันทยาหัตถ์ ไม่ว่าจะอยู่ในแถวหรือนอกแถว ส่วนนายทหารประทวนและพลทหาร ให้ทำวันทยาหัตถ์ขณะยืนอยู่นอกแถวทหารเท่านั้น หากอยู่ในแถวทหาร ให้ใช้ท่าตรง ส่วนแถวทหารที่มีอาวุธ นายทหารผู้ควบคุมแถวจะสั่งแสดงความเคารพโดยการทำวันทยาวุธ และสั่งเรียบอาวุธเมื่อธงชาติขึ้นสู่ยอดเสาเรียบร้อยแล้ว พิธีกร เมื่ออยู่ในแถวเคารพธงชาติ สวดมนต์ สงบนิ่ง ให้ก้าวออกไป 1 ก้าว สั่งแล้วให้ถอยกลับเข้าที่




การใช้ธงชาติกับผู้เสียชีวิต

ธงชาตินั้นสามารถใช้เป็นเครื่องประกอบเกียรติยศศพหรืออัฐิได้ โดยบุคคลที่สามารถใช้ธงชาติประกอบเกียรติยศได้นั้น[28] ได้แก่


- ประธานองคมนตรี

- ประธานรัฐสภา

- นายกรัฐมนตรี

- ประธานศาลฎีกา

- ผู้ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นโบราณมงคลนพรัตนราชวราภรณ์

- ผู้เสียชีวิตจากการปฏิบัติหน้าที่หรือช่วยเหลือในการสู้รบ หรือเพื่อปกป้องอธิปไตยหรือรักษาความสงบเรียบร้อยของประเทศ หรือเพื่อปราบปรามการกระทำผิดต่อความมั่นคงของรัฐและพระมหากษัตริย์

- ผู้เสียชีวิตจากการแสดงความกล้าหาญช่วยเหลือเจ้าหน้าที่รัฐ

- บุคคลที่ทางราชการเห็นสมควร

- ส่วนการใช้ธงชาติคลุมศพนั้น สามารถใช้ในการพิธีรับพระราชทานน้ำอาบศพหรือพิธีรดน้ำศพ หรือระหว่างการเคลื่อนย้ายศพเพื่อไปประกอบพิธีทางศาสนา หรือในพิธีปลงศพตามประเพณีของทหารเรือ


ขอบคุณข้อมูล :  วิกิพีเดีย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง