รีเซต

ปลาลอยตายเกลื่อนคลองภาษีเจริญ คาดน๊อคน้ำฝน-ปนน้ำเสียโรงงาน

ปลาลอยตายเกลื่อนคลองภาษีเจริญ คาดน๊อคน้ำฝน-ปนน้ำเสียโรงงาน
มติชน
20 พฤษภาคม 2565 ( 14:57 )
129
ปลาลอยตายเกลื่อนคลองภาษีเจริญ คาดน๊อคน้ำฝน-ปนน้ำเสียโรงงาน

เมื่อเวลาประมาณ 10.00 น. ของวันที่ 20 พฤษภาคม ภายหลังจากที่ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งจากชาวบ้านริมคลองภาษีเจริญ ใกล้เคียงวัดหนองพะอง หมู่ที่ 7 ต.สวนหลวง อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร จึงลงพื้นที่ไปตรวจสอบพร้อมด้วย นายพลภวัฒน์ ชำนาญวาด นายกเทศมนตรีตำบลสวนหลวง ปลัดอำเภอ เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองอำเภอกระทุ่มแบน ตลอดจนกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชนและประชาชน รวมถึงพระภิกษุสงฆ์ของวัดหนองพะอง ช่วยกันตักปลาที่ตายลอยเกลื่อนคลองขึ้นมานำไปกำจัดอย่างถูกวิธี และมีการประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านการตรวจวัดคุณภาพน้ำ เก็บตัวอย่างน้ำไปตรวจสอบ ซึ่งบริเวณดังกล่าวระยะทางยาวเป็นกิโลเมตร มีปลาหลากหลายสายพันธุ์ทั้งปลาสวายน้ำหนักตัวไม่ต่ำกว่า 2 – 3 กิโลกรัม ปลาช่อน ปลาซัคเกอร์ และปลาเล็กปลาน้อย ตายลอยขึ้นมาเหนือน้ำ บางตัวเริ่มเน่าอืดและส่งกลิ่นเหม็น

 

ด้านชาวบ้าน กล่าวว่า แม้สภาพน้ำในคลองภาษีเจริญตลอดทั้งคลอง จะไม่ค่อยดีมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว แต่ก็ไม่เคยเห็นปลาตายมากมายขนาดนี้มาก่อน ยิ่งเป็นปลาตัวใหญ่ๆ แล้ว ยิ่งแทบจะไม่เคยเห็น มาครั้งนี้ก็ไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น ซึ่งสภาพปลาตายนี้เป็นมาตั้งแต่วันพฤหัสบดีแล้ว โดยเชื่อว่าส่วนหนึ่งน่าจะมาจากการลักลอบปล่อยน้ำเสีย จึงต้องการให้หน่วยงานที่มีหน้าที่ในการดูแลรับผิดชอบเข้ามาเร่งตรวจสอบ และหาแนวทางการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น

 

นายพลภวัฒน์ กล่าวว่า สถานการณ์น็อคน้ำเกิดขึ้นในเกือบทุกปี แต่ไม่เคยมีจำนวนมากเท่านี้มาก่อน ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นผลมาจากทั้งปริมาณฝนที่ตกลงมาอย่างหนักเมื่อ 2 วันที่ผ่านมา ประกอบกับอาจจะมีการลักลอบปล่อยน้ำเสียของโรงงานอุตสาหกรรมในช่วงที่ฝนตกลงมาด้วย จึงทำให้ปลาน็อคน้ำตายอย่างฉับพลัน หากตรวจพบว่าโรงงานหรือสถานประกอบการใดลักลอบปล่อยน้ำเสียจะต้องดำเนินการตามกฎหมายอย่างจริงจัง

 

ด้านนายรวิวรรธ รัตนราช ประมงอำเภอกระทุ่มแบน ได้นำผลการตรวจน้ำในคลองที่เก็บตัวอย่างน้ำไปตรวจที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งสมุทรสาคร กองวิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง กรมประมง พบว่า ค่าออกซิเจนในน้ำต่ำกว่าปกติเกือบครึ่ง ซึ่งจะเป็นสาเหตุการตายที่สำคัญ ส่วนวันนี้จะนำปลาที่ตายไปตรวจอีกว่าพบสารเคมีด้วยหรือไม่ ขณะที่การแก้ปัญหาเรื่องออกซิเจนในน้ำต่ำ อาจต้องใช้ระบบตีน้ำเพิ่มออกซิเจน ซึ่งจะต้องมีการหารือร่วมกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต่อไป

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง