โคอาลาหนีไฟป่าครั้งใหญ่ของออสฯ เลียต้นไม้หลังฝนตกเพื่อดับกระหาย
ภาพโคอาลาที่กำลังหนีไฟป่าครั้งใหญ่ของออสเตรเลียดื่มน้ำจากขวดที่มีคนใจดีป้อนให้ แม้จะเป็นภาพที่น่าประทับใจ แต่อาจทำให้เราหลงลืมไปว่านี่ไม่ใช่พฤติกรรมในยามปกติของโคอาลาโดยทั่วไป ซึ่งจะได้รับน้ำจากการกินใบยูคาลิปตัสเท่านั้น
ล่าสุดทีมนักสัตววิทยาจากมหาวิทยาลัยซิดนีย์ของออสเตรเลีย พร้อมด้วยนักนิเวศวิทยาอิสระหลายรายในรัฐนิวเซาท์เวลส์ ได้ร่วมกันตีพิมพ์ผลการศึกษาล่าสุดลงในวารสาร Ethology โดยพวกเขาพบว่าโคอาลามีพฤติกรรมดื่มน้ำจากพื้นผิวที่เปียกชุ่มในธรรมชาติด้วย เช่นใช้ลิ้นเลียเปลือกผิวของต้นไม้ที่มันเกาะอยู่ขณะมีฝนตกและหลังฝนตกเป็นเวลานานหลายนาทีเพื่อดับกระหาย
ทีมผู้วิจัยระบุว่าพฤติกรรมดังกล่าวมักเกิดขึ้นขณะมีพายุฝนตกหนัก ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ผู้คนมักจะไปหลบฝนในที่กำบัง จึงทำให้ไม่เคยมีผู้พบเห็นและบันทึกพฤติกรรมเลียน้ำฝนที่เปียกชุ่มต้นไม้ของโคอาลามาก่อน แม้แต่ชนพื้นเมืองดั้งเดิมของออสเตรเลียยังเข้าใจผิดว่ามันเป็นสัตว์ที่ไม่ต้องดื่มน้ำ จึงเรียกมันว่า "โคอาลา" ซึ่งมีความหมายในภาษาดารัก (Dharug) ว่า "ไม่มีน้ำ"
รายงานของทีมผู้วิจัยระบุว่า ได้สังเกตเห็นและบันทึกเหตุการณ์ที่โคอาลาเลียน้ำฝนจากต้นไม้ได้ 44 ครั้ง ระหว่างที่กำลังศึกษาพฤติกรรมอื่น ๆ ของโคอาลาในธรรมชาติ ที่อุทยานประจำภูมิภาคยูแยงส์ (You Yangs Regional Park) ในรัฐวิกตอเรีย โคอาลาบางตัวใช้เวลาเลียน้ำฝนที่อาบอยู่บนลำต้นของต้นไม้นานกว่าครึ่งชั่วโมง
รายงานวิจัยยังระบุว่า หลักฐานที่ได้จากการสังเกตชี้ว่าพฤติกรรมดังกล่าวของโคอาลามีมาแต่เดิมในธรรมชาติ ดังนั้นการที่มันดื่มน้ำจากขวดที่มีคนป้อนให้ขณะเกิดไฟป่า จึงไม่ใช่พฤติกรรมผิดปกติจากภาวะเครียดของสัตว์เนื่องจากความร้อนสูงแต่อย่างใด
ดร.วาเลนตินา เมลลา ผู้นำทีมวิจัยบอกว่า "การค้นพบของเราสร้างความเข้าใจถึงพฤติกรรมของโคอาลาเสียใหม่ ทำให้ทราบว่าพวกมันอาศัยต้นไม้เป็นทุกอย่างในการดำรงชีวิต ทั้งเป็นที่อยู่อาศัย แหล่งอาหาร และแหล่งน้ำไปในตัว"
"สิ่งนี้แสดงว่าโคอาลามีความเสี่ยงจะได้รับผลกระทบร้ายแรง ในระดับที่ไม่ต่างไปจากสัตว์ชนิดอื่น ๆ หากมีการตัดไม้ทำลายป่าเพิ่มขึ้นหรือเกิดภัยแล้งซ้ำอีก" ดร. เมลลากล่าว