รีเซต

ฝันร้ายที่ไม่มีวันลืม : 'สังหารหมู่นานกิง' บทเรียนแห่งประวัติศาสตร์จีน

ฝันร้ายที่ไม่มีวันลืม : 'สังหารหมู่นานกิง' บทเรียนแห่งประวัติศาสตร์จีน
Xinhua
14 ธันวาคม 2563 ( 14:34 )
294
ฝันร้ายที่ไม่มีวันลืม : 'สังหารหมู่นานกิง' บทเรียนแห่งประวัติศาสตร์จีน

นานกิง, 14 ธ.ค. (ซินหัว) -- กำแพงโบราณในคลิปวิดีโอนี้ถูกสร้างขึ้นเมื่อราว 600 ปีก่อน ในนครนานกิง (หนานจิง) เมืองเอกของมณฑลเจียงซูทางตะวันออกของจีน ตัวกำแพงควรได้รับการอนุรักษ์เป็นอย่างดี ทว่ามันกลับเต็มไปด้วย "รอยแผลเป็น" จากรูกระสุน ซึ่งเกิดจากฝีมือของผู้รุกรานญี่ปุ่น

 

วันที่ 13 ธ.ค. 1937 กองทหารญี่ปุ่นบุกยึดนครนานกิงสำเร็จ พวกเขาสังหารหมู่พลเรือนจีนและทหารที่ไม่มีอาวุธกว่า 300,000 คน ตลอดระยะเวลากว่า 6 สัปดาห์ นับเป็นหนึ่งในเหตุการณ์ร้ายแรงที่สุดของสงครามโลกครั้งที่สอง

วันที่ 13 ธ.ค. 2017 สีจิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน เข้าร่วมพิธีระดับชาติซึ่งจัดเป็นครั้งแรกเพื่อรำลึกถึงชาวจีนมากกว่า 300,000 ราย ที่ถูกทหารญี่ปุ่นคร่าชีวิต ระหว่างเหตุการณ์สังหารหมู่นานกิง

 

"วันที่ 13 ธ.ค. 1937 กองกำลังญี่ปุ่นบุกรุกรานเมืองนานกิงอย่างโหดเหี้ยม ก่อเหตุการณ์สังหารหมู่นานกิงอันน่าสยดสยอง ชาวจีนกว่า 300,000 รายถูกสังหาร ผู้หญิงนับไม่ถ้วนถูกทารุณ เด็กมากมายเสียชีวิตอย่างน่าสะเทือนใจ หนึ่งในสามของอาคารทั่วเมืองถูกทำลาย และทรัพย์สินจำนวนมากถูกปล้นสะดม" สีกล่าว

 

เมื่อครั้งนานกิงตกอยู่ใต้การรุกรานของญี่ปุ่น พลเรือนจีนผู้บริสุทธิ์จำนวนมากเผชิญชะตากรรมแสนหดหู่ หลายชีวิตถูกสังหารอย่างเหี้ยมโหด

เซี่ยชูฉิน ผู้เกิดเมื่อเดือนพฤษภาคม 1929 เล่าว่าพ่อและปู่ย่าของเธอถูกยิง พี่สาวถูกทำร้ายจนตาย แม่และพี่สาวสองคนถูกทหารญี่ปุ่นข่มขืนและสังหาร ส่วนเซี่ยที่ตอนนั้นอายุเพียง 8 ปี รอดชีวิตหลังจากหมดสติเพราะถูกแทงสามครั้ง

 

"ฉันถูกแทงตรงนี้ ตรงนี้ และตรงนี้ ฉันตื่นมาพร้อมเลือดที่ฝ่ามือและลำตัว ฉันรู้สึกหนาวและเจ็บปวด น้องสาววัย 4 ขวบที่ซ่อนอยู่ใต้ผ้าห่มกำลังร้องไห้หาแม่ของเรา มันเป็นความทรงจำที่เจ็บปวดมากทุกครั้งที่นึกถึง" คำบอกเล่าจากเซี่ย

นอกจากนั้นพลเรือนและทหารจีนไร้อาวุธกว่า 50,000 ราย ยังถูกผู้รุกรานชาวญี่ปุ่นรุมล้อมและสังหารขณะกำลังรอข้ามแม่น้ำ ณ ริมตลิ่งอันเป็นที่ตั้งของอนุสรณ์เหยื่อริมแม่น้ำเหยียนจือจี (Yanziji Riverside Victims Monument) ในปัจจุบัน

 

"พลเรือนเหล่านี้ไม่มีอาวุธและไม่ได้รับการฝึกฝน พวกเขาไม่สามารถต้านทานความโหดร้ายของผู้รุกรานชาวญี่ปุ่นได้" จิ้งเซิ่งหง ศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยครูนานกิงกล่าว

มีการรวบรวมแฟ้มข้อมูลเกี่ยวกับเหตุการณ์สังหารหมู่มากกว่า 10,000 ชิ้น ไว้ที่อนุสรณ์สถานเหยื่อเหตุการณ์สังหารหมู่นานกิง ซึ่งรวมถึงบันทึกของผู้รอดชีวิตและเหยื่อ ตลอดจนคำให้การจากพยานบุคคลที่สาม

 

ต้วนเย่ว์ผิง อดีตรองภัณฑารักษ์อนุสรณ์สถานฯ ระบุว่า "เรารวบรวมข้อมูลมากกว่า 5 ล้านคำ และภาพการสังหารหมู่กว่า 100 ภาพ เรายังเสาะหาหลักฐานจากผู้รอดชีวิตมากกว่า 2,700 คนด้วย"

ขณะเดียวกันมีการจัดแสดงภาพถ่ายของผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์สังหารหมู่ เมื่อใดก็ตามที่เหยื่อเหล่านี้จากไป ไฟด้านหลังของภาพก็จะดับลง

 

อนุสรณ์สถานฯ กลายเป็นสถานที่เรียนรู้เรื่องราวในอดีตสำหรับชาวจีนรุ่นหลัง คนหนุ่มสาวจำนวนมากเดินทางไปเยี่ยมชมอนุสรณ์สถานฯ เพื่อทำความเข้าใจถึงประวัติศาสตร์ของเหตุการณ์สังหารหมู่นานกิง

ทั้งนี้ สีจิ้นผิงได้เข้าร่วมพิธีรำลึกครบรอบ 75 ปี ชัยชนะสงครามต่อต้านการรุกรานของญี่ปุ่น สมัยสงครามโลกครั้งที่สอง โดยสีกล่าวว่า "ชาวจีนจะไม่ยินยอมให้บุคคลหรือกองกำลังใดทำอันตรายต่อชีวิตอันสงบสุขและสิทธิการพัฒนา ขัดขวางการแลกเปลี่ยนและความร่วมมือกับชนชาติอื่น หรือบ่อนทำลายสันติภาพและการพัฒนาสำหรับมนุษยชาติ"

 

"ปีนี้ครบรอบ 75 ปี ชัยชนะสงครามต่อต้านลัทธิฟาสซิสต์โลก โลกของเรามีการเปลี่ยนแปลงตลอดร้อยปีที่ผ่านมา ยิ่งเราเผชิญอันตรายมากเท่าใด เรายิ่งควรต่อต้านมากขึ้นเท่านั้น พวกเราต้องรับมือกับความยากลำบาก และตระหนักถึงการฟื้นฟูชาติครั้งยิ่งใหญ่" หลิวเฉิง ศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์ประจำมหาวิทยาลัยนานกิงกล่าวทิ้งท้าย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง