รีเซต

'ศักดิ์สยาม' นัดทางหลวง-การทางพิเศษ เคาะสรุป 'ฟรีโฟลว์' วิ่งผ่านทางด่วนแบบไม่มีไม้กั้น พรุ่งนี้

'ศักดิ์สยาม' นัดทางหลวง-การทางพิเศษ เคาะสรุป 'ฟรีโฟลว์' วิ่งผ่านทางด่วนแบบไม่มีไม้กั้น พรุ่งนี้
มติชน
29 พฤศจิกายน 2563 ( 16:20 )
114
'ศักดิ์สยาม' นัดทางหลวง-การทางพิเศษ เคาะสรุป 'ฟรีโฟลว์' วิ่งผ่านทางด่วนแบบไม่มีไม้กั้น พรุ่งนี้

ได้วิ่งกันฉิว! ‘ศักดิ์สยาม’ นัดทางหลวง-การทางพิเศษ เคาะสรุปฟรีโฟลว์วิ่งผ่านทางด่วนแบบไม่มีไม้กั้นพรุ่งนี้ ด้าน ทล.มั่นใจได้ฤกษ์ต้นปี 64 ใช้ AI เก็บค่าผ่านทางนำร่อง 4 ด่าน ‘ด่านทับช้าง 1-2, ด่านธัญบุรี 1-2’ ส่วนการทางพิเศษช้าหน่อยเริ่มได้ เดือน มิ.ย.นำร่องทางพิเศษฉลองรัช ‘ด่านจตุโชติด่านสุขาภิบาล 5-1 และ ด่านรามอินทรา’ คมนาคมมั่นใจระบบตรวจสอบด้วยกล้องบันทึกภาพ ใช้แทนระบบไม้กั้น แก้ปัญหารถชะลอตัวและรถติดหน้าด่าน

 

เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการนำร่องการเก็บค่าผ่านทางอัตโนมัติแบบไม่มีไม้กั้น (ฟรีโฟลว์) ว่า ขณะนี้กระทรวงคมนาคมได้เตรียมความพร้อมที่จะนำระบบเก็บค่าผ่านทางอัจฉริยะรูปแบบใหม่เข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาจราจรติดขัดบนทางด่วนและทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง หรือมอเตอร์เวย์ ลดความแออัดของรถบริเวณด่านเก็บค่าผ่านทาง ล่าสุด ทล.ได้มีการเปิดประกวดราคาเรียบร้อยแล้ว และตามแผนงานจะเริ่มให้ประชาชนเข้ามาลงทะเบียนเพื่อขอเข้ารับบริการได้ประมาณกลางเดือน ธ.ค.นี้ โดยกรมทางหลวงจะนำร่องบนทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 9 ในช่วงต้นเดือน ม.ค.64 ไม่เกินกลางเดือน โดยจะมีด่านนำร่องจำนวน 4 ด่าน ได้แก่ ด่านทับช้าง 1 ขาออก 4 ช่องจราจร, ด่านทับช้าง 2 ขาเข้า 4 ช่องจราจร, ด่านธัญบุรี 1 ขาเข้า 4 ช่องจราจร และด่านธัญบุรี 2 ขาออก 4 ช่องจราจร ส่วนมอเตอร์เวย์ สาย 7 สาย กทม.-พัทยา-มาบตาพุด จะเริ่มใช้ฟรีโฟลว์ภายในสิ้นปี 64 และหลังจากนั้นจะใช้ระบบฟรีโฟลว์ในทุกเส้นทางของมอเตอร์เวย์ และเส้นมอเตอร์เวย์ สายบางขุนเทียน-เอกชัย-บ้านแพ้ว จะเป็นเส้นทางแรกที่ใช้ระบบ M-Flow เชื่อมต่อกับทางด่วน พระราม3 -ดาวคะนอง ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) แบบไร้รอยต่อ

 

ทั้งนี้ การประกวดราคานั้นทาง ทล.จะเป็นการว่าจ้างเอกชนเข้ามาบริหารจัดการวางระบบ เก็บค่าผ่านทางแบบไร้ไม้กั้นแทน ทล. ด้วยการใช้เทคโนโลยี AI มาพัฒนาระบบจัดเก็บค่าผ่านด้วยกล้องตรวจบันทึกภาพป้ายทะเบียนรถ โดย ทล.ว่าจ้างเอกชนเฉลี่ยที่ 2 บาท/คัน โดยเอกชนจะประกันรายได้ให้กับ ทล.ทุกคัน ปัจจุบันทางพิเศษสาย 9 จะมีรถใช้บริการผ่านด่านประมาณ 300,000 คัน/วัน ซึ่งระบบนี้จะทำให้ผู้ใช้รถยนต์สามารถขับขี่ผ่านบริเวณด่านฯ โดยไม่ต้องหยุดหรือชะลอรถ ด้วยความเร็วได้ถึง 160 กม./ชม. ช่วยระบายรถได้ 2,000 -2,500 คัน/ชม./ช่องทาง

 

อย่างไรก็ตาม ระบบดังกล่าวจะทำให้ผู้ใช้ทางผ่านบริเวณด่านสามารถทำความเร็วขึ้นกว่าระบบเดิมที่ใช้อยู่ถึง 5 เท่า ระบบรองรับการใช้งานกับรถยนต์ทุกประเภทที่ได้รับอนุญาตให้วิ่งบนทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหรือทางพิเศษ ทั้งรถยนต์ 4 ล้อ รถยนต์ 6 ล้อ และรถยนต์มากกว่า 6 ล้อขึ้นไป ชำระค่าธรรมเนียมผ่านวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์หลังการใช้บริการ หรือระบบ Post Paid ทั้งแบบชำระเป็นรายครั้งหรือชำระตามรอบบิลรวมไปถึงการชำระผ่านเว็บไซต์หรือโมบายแอพพลิเคชั่นของระบบ M-Flow ตลอดจนการชำระด้วยระบบ QR Code และการชำระผ่านระบบตัดเงินอัตโนมัติ ซึ่งระบบดังกล่าวได้มีการใช้งานอย่างแพร่หลายในต่างประเทศ เช่น เกาหลี ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และประเทศในแถบยุโรป

 

ด้านนายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยว่า ในวันจันทร์ที่ 30 พ.ย.นี้ กทพ.จะรายงานให้ที่ประชุมร่วมระหว่างกรมทางหลวง (ทล.) และ กทพ. ซึ่งมีนายศักดิ์สยาม ชิดชอบรมว.คมนาคม เป็นประธาน เพื่อติดตามความคืบหน้าโครงการ นำร่องการเก็บค่าผ่านทางอัตโนมัติแบบไม่มีไม้กั้น โดยในส่วนของ กทพ.มั่นใจว่ามีความพร้อมที่จะนำระบบมาใช้ในเดือน มิ.ย.64 โดย กทพ.จะนำร่องการเก็บค่าผ่านทางอัตโนมัติแบบไม่มีไม้กั้นในระยะแรกที่ ด่านฯจตุโชติ, ด่านสุขาภิบาล 5-1 และด่านฯรามอินทราของทางพิเศษฉลองรัช รวมถึงนำไปใช้กับทางพิเศษที่ กทพ.กำลังก่อสร้างคือโครงการทางพิเศษสายพระราม3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯด้านตะวันตก และโครงการทางพิเศษฉลองรัช-นครนายก-สระบุรีอีกด้วย

 

“ยอมรับว่าในการดำเนินการนำร่องการเก็บค่าผ่านทางอัตโนมัติแบบไม่มีไม้กั้นนี้ ในส่วนของ กทพ.มีอุปสรรคบ้าง เช่น ปัญหากรณีที่จะดำเนินการปรับ ผู้ใช้ทางที่หลีกเลี่ยงไม่ชำระค่าผ่านทาง ซึ่งในส่วนนี้ การดำเนินยังไม่มีประกาศกฎกระทรวงฯรองรับ ซึ่งจะทำให้ กทพ.ไม่มีอำนาจตามกฎหมายที่ชัดเจน ส่วนที่ 2 คือการที่ กทพ.จะต้องมีการปรับระบบพอสมควร เนื่องจากที่ผ่านมาการเก็บค่าผ่านทางของ กทพ. เป็นระบบที่เก็บก่อนการใช้บริการ หรือ Prepaid หรือระบบเติมเงินก่อนใช้แบบ Easy Pass แต่การเก็บค่าผ่านทางอัตโนมัติแบบไม่มีไม้กั้นนี้ จะมีลักษณะของการใช้บริการไปก่อนแล้วจึงเรียกเก็บค่าผ่านทาง หรือ Postpaid ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีการปรับระบบการจัดเก็บค่าผ่านทางบ้าง แต่ก็เชื่อว่าจะทันตามกำหนดเวลาที่จะเริ่มนำร่องในด่านฯที่เป็นเป้าหมายตามนโยบายของกระทรวงคมนาคม” นายสุรเชษฐ์กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง