รีเซต

หมอศิริราชวิเคราะห์ไทยโอกาสสูงพบโควิด-19 รอบ 2 ห่วงแพคเกจจิ้งนำเชื้อ

หมอศิริราชวิเคราะห์ไทยโอกาสสูงพบโควิด-19 รอบ 2 ห่วงแพคเกจจิ้งนำเชื้อ
มติชน
25 สิงหาคม 2563 ( 14:25 )
181
หมอศิริราชวิเคราะห์ไทยโอกาสสูงพบโควิด-19 รอบ 2 ห่วงแพคเกจจิ้งนำเชื้อ
หมอศิริราชวิเคราะห์ไทยโอกาสสูงพบโควิด-19 รอบ 2 เตือนอย่าชะล่าใจ ห่วงแพคเกจจิ้งนำเชื้อ

เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม ที่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 พร้อมทั้งวิเคราะห์การเผชิญกับการระบาดรอบ 2 ในเอเซียแปซิฟิก ว่า องค์การอนามัยโลกได้ออกคำเตือน เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน ว่า โลกกำลังเข้าสู่ยุคการเปลี่ยนแปลงที่เรียกว่า New and Dangerous Phase เนื่องจากมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 และจำนวนผู้ป่วยที่เสียชีวิตมีอัตราเพิ่มสูงขึ้น

 

ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า ล่าสุดเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม องค์การอนามัยโลกได้ออกประกาศคำเตือนในภูมิภาคเอเซียแปซิฟิกว่า ปัจจัยการระบาดที่สำคัญเกิดขึ้นกับผู้มีอายุน้อยกว่า 50 ปี และจะนำไปสู่เฟสใหม่ของการแพร่ระบาด โดยระบุว่า “สิ่งที่เราต้องติดตาม ไม่ใช่เพียงกลับมาแพร่ระบาดใหม่ แต่เป็นสัญญาณว่ากำลังจะเข้าสู่ยุคใหม่ของการแพร่ระบาดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก” เช่น ออสเตรเลีย ที่เมื่อ 2 เดือนก่อน เคยได้รับยกย่องว่าเป็นประเทศที่ควบคุมการระบาดได้ดี กลับพบการระบาดใหม่ที่รัฐวิคตอเรีย และเพิ่มมากถึง 723 ราย โดยรัฐบาลได้ประกาศปิดเมือง ซึ่งรวมถึงฮ่องกง และเวียดนามด้วย

 

 

ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวถึงเหตุผลที่องค์การอนามัยโลกออกประกาศเตือนภูมิภาคเอเซียแปซิฟิก ว่า จากข้อมูลพบว่า ญี่ปุ่น ผู้ป่วย 2 ใน 3 มีอายุต่ำกว่า 40 ปี ฟิลิปปินส์ และออสเตรเลีย ที่มีการระบาดระลอกใหม่ มีผู้ป่วยกว่าครึ่งที่อายุน้อยกว่า 40 ปี เหตุผลสำคัญ คือ มาตรการผ่อนคลายเพื่อเศรษฐกิจ ผู้ที่เข้าร่วมกิจกรรมเป็นคนในกลุ่มนี้ และผู้สูงอายุมักจะไม่ได้เข้าร่วมกิจกรรม เช่น การเข้าห้างสรรพสินค้า อาจจะเกิดการติดเชื้อในพื้นที่ เมื่อกลับเข้าบ้านก็นำเชื้อถ่ายทอดสู่คนในครอบครัว และคนในกลุ่มที่อายุน้อยกว่า 40 ปีนี้ บ่อยครั้งไม่มีอาการ หรืออาการน้อย การกลายพันธุ์ของไวรัสที่ติดเชื้อง่ายขึ้น แต่ไม่มีหลักฐานว่า มีความรุนแรงมากขึ้น แต่การติดเชื้อที่มากขึ้น ส่งผลให้คนกลุ่มนี้รับเชื้อและแพร่ไปสู่ผู้อื่นหรือกลุ่มเสี่ยงที่มีอัตราการป่วยที่รุนแรง ไปจนถึงการเสียชีวิตได้

 

“วิธีจัดการกับโควิด-19 จะดูเฉพาะประเทศเราไม่ได้ จะดูเฉพาะประเทศรอบๆ เราเท่านั้นก็ไม่พอ ต้องมองสถานการณ์ของโลกใบนี้ เพราะมีผลกระทบกลับมาถึงเราแน่นอน โดยสถานการณ์ขณะนี้พบว่าทุก 3-5 วัน จะมีผู้ติดเชื้อเพิ่ม 1 ล้านรายและมีแนวโน้มแบบนี้ไปอีกระยะใหญ่ๆ คู่ขนานไปกับจำนวนผู้เสียชีวิตที่ดูเหมือนจะลดลง แต่ดูดีๆ พบว่าเริ่มกลับขึ้นมาอีก สิ่งที่น่าเป็นห่วง หากเรามองย้อนหลังไปเมื่อ 100 ปีที่แล้ว ไข้หวัดใหญ่ มีช่วงน่ากลัวที่สุดของทางตะวันตก คือ ฤดูใบไม้ร่วงเพราะอากาศในช่วงนั้นทำให้ไวรัสอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้นานขึ้น รวมถึงการใช้ชีวิตช่วงฤดูใบไม้ร่วงเข้าสู่หน้าหนาว มีหลายอย่างเป็นปัจจัยเสี่ยงกับการติดเชื้อไวรัสทั้งหลาย” ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าว

 

ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า ขณะนี้มีหลายประเทศที่อยู่ในช่วงขาขึ้น และอีกหลายประเทศที่เคยผ่านช่วงขาขึ้น ขาลง และกำลังจะเริ่มเข้าสู่ระยะ 2 โดยประเทศฝั่งตะวันตก เช่น สหราชอาณาจักร พบว่าจำนวนผู้ป่วยลดลงเหมือนสถานการณ์จะดีขึ้น แต่หลังจากนั้นก็ไม่ลดลงอีก เมื่อเข้าปลายเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม จำนวนไม่ลดลง กลับมีเพิ่มขึ้นกว่าพันรายในแต่ละวัน แต่ประเทศต่างๆ มีการปรับตัวค่อนข้างดี เมื่อมีการป่วยเพิ่มขึ้น ก็ได้พยายามเฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยง คือ ผู้สูงอายุและผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจ จึงทำให้อัตราการเสียชีวิตไม่เพิ่มสูงมากเมื่อเทียบกับจำนวนการป่วยที่เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง

 

ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า ส่วนตัวอย่างของประเทศที่การระบาดระลอกใหม่รุนแรงกว่าระลอกแรก คือ ญี่ปุ่น เนื่องจากรัฐบาลให้อำนาจแต่ละจังหวัดในการควบคุมโรค รวมถึงจำนวนการตรวจเชื้อโควิด-19 เมื่อเทียบกับจำนวนประชากร 1 ล้านคน พบว่า การตรวจไม่สูงมาก ส่วนประเทศไทย ข้อมูลล่าสุดเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม มีการตรวจสูงถึง 12,500 ตัวอย่างต่อประชากร 1 ล้านคน ถือว่าสูง แต่อยู่ในระดับ 4-5 ของประเทศอาเซียน

 

“เกาหลีใต้มีการออกประกาศให้ประชาชนสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา เพราะพบว่าตัวเลขกำลังวิ่งขึ้น ไม่ลง โดยเดือนที่แล้วเกาหลีใต้เจอคลัสเตอร์หนึ่ง มาจากธุรกิจจัดส่งของไปตามบ้าน และเกิดการแพร่กระจายจากตรงนั้น และเริ่มแพร่กระจายออกไปนอกพื้นที่ ยังมีอีกหลายเรื่องที่จนถึงวันนี้ เรายังไม่รู้ ในบางประเทศที่ควบคุมได้ดี อยู่ๆ ก็เกิดการระบาดขึ้น ไม่รู้ว่าเชื้อมาจากไหน บางแห่งรู้ว่ามาจากผู้เดินทางจากต่างประเทศเข้ามาในประเทศ เนื่องจากควบคุมได้ไม่ดี แต่บางประเทศยังตอบตรงนี้ไม่ได้ ก็มีการคุยกันเยอะ เช่น ของที่อิมพอร์ตนำเข้ามา แพคเกจจิ้งต่างๆ มีโอกาสเป็นไปได้ และผมก็เชื่อว่ามีโอกาสเป็นไปได้จริงๆ ดังนั้น ในเวลาใดเวลาหนึ่งมีโอกาสเสี่ยง จะบอกว่าประเทศเราไม่นำเข้าของจากต่างประเทศเข้ามาเลย คำตอบคือ ไม่ใช่” ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าว

 

 

ส่วนกลไกในการจัดการกับโรคติดเชื้อ ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวอธิบายว่า จะไม่รอจนจำนวนตัวเลขสูง แม้จะเพิ่มขึ้นไม่มาก แต่หากพบว่ามีการเพิ่มขึ้นและกำลังจะเพิ่มขึ้นอีก จะต้องรีบออกมาตรการบางอย่างทันทีก่อนที่จะไม่ทัน ในกลุ่มอาเซียน 10 ประเทศ พบว่า ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ยังอยู่ในการระบาดรอบแรกที่มีจำนวนผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น ปัจจัยหนึ่งมาจากการใช้ชีวิตรวมกันหมู่มากและการควบคุมที่ยังไม่ดีนัก ส่วนเวียดนาม ในการระบาดรอบแรกทำได้ดีมาก จำนวนผู้ป่วยติดเชื้อสูงสุดของวันเพียง 20 ราย แต่หลังจากนั้น พบการระบาดที่เมืองดานัง แม้จะมีการสั่งปิดเมืองเร็ว แต่จนถึงขณะนี้ก็ยังมีการเพิ่มขึ้นไป มีแนวโน้มว่าจะค่อยๆ ลดลง แต่ปัญหาใหญ่ของเวียดนามคือ ผู้ป่วยไม่ได้อยู่เฉพาะเมืองดานัง แต่แพร่ระบาดกว้างจากตอนเหนือไปถึงตอนใต้ของประเทศ และมีอัตราการเสียชีวิตเพิ่มขึ้น

 

ทั้งนี้ ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า ประเทศไทยทำได้ดีในการระบาดรอบแรก แต่ประเทศโดยรอบยังมีการติดเชื้อที่สูงและมีโอกาสที่จะข้ามผ่านพรมแดนเข้ามาในประเทศไทย รวมถึงโอกาสในของที่ถูกอิมพอร์ตเข้ามาในประเทศ ซึ่งบอกว่าไม่ได้ว่าจริงหรือไม่ แต่ในประเทศจีนเชื่อว่ามีส่วนหนึ่งคือ แพคเกจจิ้งที่เกิดเป็นการนำเชื้อเข้าสู่ประเทศ ดังนั้นเป็นอีกอย่างที่ต้องระวัง อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยขณะนี้ยังทำได้ดี อัตราการเสียชีวิตต่ำมาก

 

“การวิเคราะห์ประเทศไทย มีโอกาสสูงในการระบาดรอบใหม่ แต่หากเป็นการติดเชื้อโดยไม่แพร่ระบาดหรือแพร่ระบาดในวงจำกัด และรีบควบคุมทันที เป็นสิ่งที่ไทยรับมือได้ เศรษฐกิจยังไปต่อได้ แต่ไม่ใช่หน้าที่ของรัฐบาลอย่างเดียว ทุกคนจะต้องช่วยกัน คือ การรักษาระยะห่างทางสังคม/บุคคล การล้างมือ สวมหน้ากากป้องกันโรค สิ่งที่ไม่อยากให้เกิดคือ การระบาดที่ใกล้เคียงกับระลอกแรก เพราะเศรษฐกิจจะฟื้นตัวช้า คนจะเครียดมากขึ้น” ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าว

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง