รีเซต

เล็บไม่แดง ไม่มีแรงเดิน เตือน! ทำเล็บสีแดงเสี่ยงแพ้หนักกว่าสีอื่น

เล็บไม่แดง ไม่มีแรงเดิน เตือน! ทำเล็บสีแดงเสี่ยงแพ้หนักกว่าสีอื่น
Ingonn
18 พฤษภาคม 2564 ( 10:54 )
214

เรื่องเล็บใครว่าเป็นเรื่องเล็ก กรมการแพทย์ โดยสถาบันโรคผิวหนัง เตือนอันตรายจากน้ำยาทาเล็บ เป็นได้ทั้งเพศชายและเพศหญิง อุบัติการณ์เป็น 1-3 เปอร์เซ็นต์ ในผู้ใช้บริการและผู้ที่ประกอบอาชีพ ซึ่งสีที่มีการแพ้บ่อยคือ สีแดง 

 

 

วันนี้ TrueID จึงได้ไขข้อสงสัยสำหรับคนชอบทาเล็บสีแดง ไม่แดง ไม่มีแรงเดินว่าทำไมถึงแพ้กว่าสีอื่นรวมทั้งชวนสังเกตความผิดปกติของเล็บที่เปลี่ยนไป อาจทำให้เสี่ยงโรคร้ายโดยไม่รู้ตัว

 

 

ทาเล็บสีแดง เสี่ยงแพ้กว่าสีอื่น


การทาสีเล็บโดยทั่วไป สีที่มีการแพ้บ่อยคือ สีแดง สารเคมีที่พบการแพ้บ่อยที่สุดคือ โทซิลาไมด์ ฟอร์มาดีไฮด์เลซิน เบนโซฟรีโนน ไดบิลทิลทาลเลตฟอร์มาดีไฮด์ ส่วนการต่อเล็บแบบอะคริลิค มักแพ้ส่วนประกอบของกาว เรียกว่า cyanoacrylate ส่วนประกอบในขั้นตอนการรองพื้น และขั้นตอนการเคลือบเล็บสารที่ก่อให้เกิดอาการแพ้บ่อยคือ methacrylate ส่วนการทาสีเจล มีสาร methacrylate ก่อภูมิแพ้เช่นเดียวกับการต่อเล็บอะคริลิค

 


อาการแพ้สังเกตได้หลังจากทาเล็บ 1 - 2 วัน 


1.รอบเล็บที่แพ้จะบวม แดง คัน ชาที่ปลายนิ้ว รวมถึงบริเวณที่เล็บไปสัมผัส เช่น รอบตา ริมฝีปาก ใบหน้า ลำคอ เนื่องจากสารก่อภูมิแพ้ไปสัมผัสบริเวณดังกล่าว 


2.การต่อเล็บอะคริลิค และการทาสีเจล อาจมีอาการเล็บแห้ง หลุด ลอก เล็บเปลี่ยนสีได้

 


การป้องกันเมื่อแพ้สีทาเล็บ


1.หลีกเลี่ยงการทาสีที่แพ้ 


2.เลือกน้ำยาทาเล็บที่ปลอดสารเคมี 

 

 

การรักษาอาการแพ้


1.ทายาที่มีส่วนผสมสเตียรอยด์เพื่อลดอาการอักเสบ 


2.เคลือบปกป้องผิวด้วยครีมบำรุงเพื่อปกป้องชั้นผิวหนังกำพร้าจากการสัมผัสสารเคมี 


3.สามารถทำการทดสอบผื่นแพ้สัมผัส patch test ที่อ่านผลโดยแพทย์ผิวหนัง

 

 

 


เล็บที่มีสุขภาพดี คือ เล็บที่มีสีออกชมพูจางๆ จากสีผิวของเนื้อข้างใต้เล็บ มีพื้นผิวเรียบ ผิวหนังรอบเล็บมีความแข็งแรงและเล็บมีความหนาไม่มากและไม่น้อยจนเกินไป ถ้าเล็บมีความแตกต่างไปจากนี้ ถือว่าเป็นเล็บที่ไม่ปกติจะเป็นสัญญาณบอกโรคได้ 

 

 


สัญญาณบอกโรคจากเล็บ


ควรสังเกตความผิดปกติที่เกิดขึ้น โดยปรึกษาแพทย์ เพื่อรักษาโรคได้อย่างถูกต้องเหมาะสม สำหรับความผิดปกติมีรายละเอียด ดังนี้

 

1. เล็บที่มีความหนาหรือบางผิดปกติ มีหลายโรคที่ทำให้เล็บหนาขึ้น เช่น โรคเชื้อรา ที่นอกจากเล็บจะหนาขึ้นแล้ว อาจมีสีเปลี่ยนไปเป็นสีเหลืองหรือขาว ผิวเล็บและส่วนปลายเล็บอาจขรุขระ โรคสะเก็ดเงินมักจะมีอาการเล็บหนาหลายๆ เล็บ นอกจากนี้ผู้ที่เป็นโรคเลือดจางจากการขาดธาตุเหล็ก เล็บจะมีลักษณะบางและแอ่นคล้ายช้อน

 

 

2. เล็บเปลี่ยนสี เล็บที่มีสีขาวครึ่งเล็บพบได้ในคนที่เป็นโรคไตวายเรื้อรัง เล็บที่มีสีขาว 2 ใน 3 ของเล็บพบได้ในคนเป็นโรคเบาหวาน โรคตับแข็งและโรคหัวใจวาย เล็บที่มีสีขาวเป็นแถบขวางอาจเป็นโรคโปรตีนในร่างกายต่ำ

 


3. ผิวหนังรอบเล็บบวมแดง คนที่สัมผัสกับน้ำบ่อยๆ ผิวหนังรอบเล็บอาจมีการเปื่อยยุ่ย หรือเกิดการระคายเคืองจากสารเคมี เช่น น้ำยาล้างจานและน้ำยาทำความสะอาด บางครั้งอาจเกิดการติดเชื้อราเนื่องจากไม่รักษาความสะอาด ผู้ป่วยบางรายที่มีการติดเชื้อแบคทีเรียบริเวณผิวหนัง รอบเล็บอาจบวมแดงและมีหนองร่วมด้วย

 


4. ปลายเล็บร่น ปกติแล้วผิวหนังส่วนปลายจะติดกับเล็บ แต่หากมีโรคบางอย่าง เช่น โรคสะเก็ดเงิน โรคไทรอยด์ โรคเชื้อราและโรคผื่นผิวหนังอักเสบ รวมถึงการใช้ยาบางชนิด อาจทำให้ขอบของผิวหนังที่ติดกับเล็บมีการร่นลง

 


5. เล็บที่มีพื้นผิวขรุขระเป็นอาการที่พบได้บ่อย ผิวเล็บอาจเป็นหลุมเล็กๆ ถ้าเป็นหลายเล็บ อาจบ่งบอกถึงโรคสะเก็ดเงินหรือโรคภูมิแพ้ แต่อาจพบได้ในเด็กบางคนโดยที่ไม่มีสาเหตุ บางกรณีผู้ป่วยมีอาการเจ็บป่วยรุนแรง อาจพบเล็บเป็นร่องลึกตามแนวขวางจากการที่มีการสร้างเล็บผิดปกติ

 

 

 

 

การดูแลรักษาเล็บ ควรหลีกเลี่ยงการทาเล็บเป็นประจำ เพราะจะทำให้เล็บเปราะ ปลายเล็บเผยอ เล็บบุ๋มมีลูกคลื่น ควรหมั่นดูแลรักษาความสะอาดเล็บ โดยเมื่อตัดเล็บ ไม่แคะซอกเล็บมากจนเกินไป เพราะอาจทำให้เล็บฉีกขาด เกิดแผล ทำให้เชื้อโรคเข้า ควรสวมถุงมือขณะทำงานบ้าน หรือเมื่อต้องใช้สารเคมี นอกจากนี้ หมั่นทาโลชั่นเพื่อถนอมผิวที่มือและเล็บเป็นประจำ จะช่วยให้เล็บแข็งแรง เงางาม เรียบเนียน 

 

 

เรื่องเล็บ นี่ไม่เล็กจริงๆ


ข้อมูลจาก สถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง