ปรับแผนดูแลผู้ติดเชื้อโควิดกลุ่มรอเตียง เจ้าหน้าที่โทร.ตามอาการทุก 6 ชม.
ข่าววันนี้ 21 เมษายน 2564 นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวถึงสถานการณ์การจัดหาเตียงรองรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 ว่า ปัญหาที่พบส่วนใหญ่อยู่ในกรุงเทพมหานคร ซึ่งมีผู้ป่วยบางส่วนที่ยังไม่ได้เตียง ขณะที่ในต่างจังหวัดค่อนข้างมีประสิทธิภาพ สามารถจัดหาเตียงรองรับผู้ป่วยได้ทั้งหมด
นพ.จเด็จ กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ปัญหาในพื้นที่กรุงเทพฯ ก็ไม่ใช่เรื่องจำนวนเตียง เพราะจากข้อมูลพบว่า จำนวนเตียงมีเพียงพอ แต่เนื่องจากมีหลายหน่วยงาน โรงพยาบาลหลายสังกัด คนไข้ที่ติดเชื้อโควิด-19 บางส่วนยังไม่สามารถเข้าเตียงได้
“ข้อมูลที่ปรากฏกับความเป็นจริงยังไม่ตรงกัน จากการที่ สปสช.เข้าไปช่วยดูในการหาเตียงให้กับประชาชนมา 4-5 วัน พบว่า มีคนประสานขอเตียงเข้ามา 400 กว่าคน บางคนยังไม่ได้จริงๆ แต่ตอนนี้เรากำลังพยายามเคลียร์ให้ โดยให้คำแนะนำกับผู้ป่วยที่อาการไม่มาก ให้รออยู่ก่อน อย่าเพิ่งเดินทางไปไหนมาไหนเพราะจะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงมากขึ้น ขอให้เจ้าหน้าที่ประสานเตียงให้เรียบร้อย แล้วจะเอารถพยาบาลไปรับ รวมทั้งมีกระบวนการโทรติดตามอาการทุกๆ 6 ชั่วโมง ซึ่งขณะนี้จำนวนผู้ที่ยังตกค้างเริ่มลดลง เนื่องจากโรงพยาบาลต่างๆ สามารถจัดหาเตียงได้มากขึ้น” นพ.จเด็จ กล่าว
เลขาธิการ สปสช. กล่าวอีกว่า แนวทางแก้ไขปัญหาต้องใช้กลไกการประสานงานให้มากที่สุด ซึ่งกลไกกลางที่จะมาช่วยประสานคือ สายด่วน 1330 ของ สปสช. สายด่วน 1668 ของกรมการแพทย์ และสายด่วน 1646 ของศูนย์เอราวัณ กรุงเทพมหานคร (กทม.) โดยมีการหารือกับผู้บริหารของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และตั้งเป้าว่าจะต้องประสานหาเตียงให้ผู้ติดเชื้อให้ได้เร็วที่สุด
“จากข้อมูลของสายด่วน 1330 ใช้เวลาประสานงานนานที่สุด 3 วัน เนื่องจากบางครั้งมีปัญหาว่า ท่านโทรศัพท์มาบอกผลเลือด แต่เรายังไม่ได้ผลการตรวจตัวจริง ก็ต้องไปตรวจสอบกับโรงพยาบาลก่อน เมื่อตรวจสอบเสร็จก็ส่งข้อมูลให้โรงพยาบาลปลายทาง มันอาจจะมีขั้นตอนเพิ่มอีกนิดหนึ่ง ซึ่งตรงนี้เป็นหน้าที่ของเราที่จะประสานให้ รวมทั้งจัดกระบวนการโทรหาทุก 6 ชั่วโมง เพื่อแจ้งผลการประสานว่าอยู่ขั้นตอนไหน รวมทั้งจะได้ติดตามอาการผู้ป่วยไปในตัว แต่หากระหว่างรอเตียงแล้วอาการแย่ลง ก็จะมีกลไกสำหรับผู้ป่วยอาการหนักไปรับตัวมารักษาที่โรงพยาบาล” นพ.จเด็จ กล่าว
นพ.จเด็จ กล่าวต่อไปว่า ในส่วนของผู้ติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการนั้น ส่วนใหญ่จะจัดให้อยู่ในโรงพยาบาล (รพ.) สนาม หรือฮอสปิเทล (Hospitel) ซึ่งมีบุคลากรทางการแพทย์คอยดูแลตลอด 24 ชั่วโมง
“ลักษณะการจัดการของรพ.สนาม เป็นการจัดการตามหลักวิชาการเพื่อป้องกันการแพร่กระจายโรค แต่ผู้ป่วยบางคนอาจคิดถึงความสะดวก หรือห้องพิเศษ ต้องเรียนว่าในภาวะเช่นนี้ขอความร่วมมือเสียสละมาอยู่ตรงนี้ก่อน เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบพยายามจัดสถานที่ให้ดีที่สุด จะเห็นว่าเตียงหรืออุปกรณ์ต่างๆ ก็ใหม่ ห้องน้ำก็พยายามเพิ่มเติมให้เหมาะสม เพียงแต่อาจจะไม่สะดวกสบายอย่างที่คาดหวัง อย่าเพิ่งมองเรื่องสถานที่ แต่ขอให้มองถึงความจำเป็นที่ต้องลดการแพร่ระบาดของโรคมากกว่า” เลขาธิการ สปสช. กล่าว