ฟลอเรนซ์ ไนติงเกล “สุภาพสตรีแห่งดวงประทีป” หญิงร่ำรวยผู้เลือกช่วยชีวิตคนผ่านงานพยาบาล
องค์การอนามัยโลกประกาศให้ ปี 2020 เป็น "ปีสากลแห่งการพยาบาลและผดุงครรภ์" เพื่อรำลึกถึง ฟลอเรนซ์ ไนติงเกล ผู้บุกเบิกและวางรากฐานวิชาชีพการพยาบาลแผนใหม่ สตรีหัวขบถผู้ท้าทายขนบธรรมเนียมของสังคมในยุคนั้น
เด็กสาวหัวขบถ
ฟลอเรนซ์ ไนติงเกล เกิดในครอบครัวที่มีฐานะค่อนข้างดี เธอและพาร์เธโนพี พี่สาว เติบโตขึ้นมาด้วยกันในแถบชนบทที่งดงามราวกับภาพวาดของเมืองดาร์บีเชียร์ ประเทศอังกฤษ
พ่อของฟลอเรนซ์สอนวิชาวรรณกรรม ปรัชญา และภาษาศาสตร์อย่างเข้มข้นให้กับเธอ อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนฟลอเรนซ์จะสนใจคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์เสียมากกว่า แถมเธอยังชอบการจัดเรียงข้อมูลด้วย เด็กหญิงฟลอเรนซ์จดบันทึกรายละเอียดของเปลือกหอยที่เก็บสะสมเอาไว้ลงในตารางอย่างเป็นระบบ
- โควิด-19 : การระบาดของไข้หวัดใหญ่สเปนเปลี่ยนโฉมหน้าโลกเราไปอย่างไร
- โควิด-19: การกลับไปทำงานหลังปลดมาตรการล็อกดาวน์จะเปลี่ยนไปอย่างไร
เมื่ออายุย่างเข้า 17 ปี ครอบครัวไนติงเกลพาลูกสาวทั้งสองคนตระเวนท่องเที่ยวทั่วยุโรปตามขนบธรรมเนียมที่ผู้คนในสังคมปฏิบัติสืบต่อกันมา พ่อและแม่หมายมั่นปั้นมือว่าจะบ่มเพาะให้เด็ก ๆ เป็นกุลสตรีที่เพียบพร้อม
ฟลอเรนซ์อาศัยโอกาสนี้ทำสิ่งที่เธอชื่นชอบต่อไป เธอจดบันทึกสำมะโนประชากร รวมทั้งสถิติตัวเลขของโรงพยาบาลและองค์กรการกุศล เมื่อเดินทางกลับถึงอังกฤษ ฟลอเรนซ์เลือกเรียนคณิตศาสตร์ต่อแม้ว่าแม่คัดค้านหัวชนฝาและหวังให้เธอแต่งงานในเร็ววัน
ปี 1844 ฟลอเรนซ์ในวัย 24 ปี บอกกับที่บ้านว่าจะไปเข้ารับการอบรมเป็นนางพยาบาล แน่นอนว่าครอบครัวไม่อนุมัติ อย่างไรก็ตาม เธอยังคงมุ่งมั่นที่จะทำตามความฝันแม้ว่าต้องปฏิเสธคำขอแต่งงานของชายหนุ่มที่ดูใจกันมาเป็นเวลานาน แล้วเดินทางไปดูงานในสถานพยาบาลที่กรุงปารีส โรม และลอนดอน ด้วยตนเอง
กุลสตรีที่ดี
ในศตวรรษที่ 19 ผู้หญิงที่มีความสุขควรจะต้องแต่งงานกับชายหนุ่มสักคนหนึ่ง เลี้ยงดูลูกให้เติบใหญ่ ดูแลความสะอาดเรียบร้อยและกิจการภายในบ้านเท่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสตรีของตระกูลที่มีฐานะร่ำรวยเฉกเช่นฟลอเรนซ์
สภาพแวดล้อมและขนมธรรมเนียมที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาในสังคมยุคนั้น เช่น ครอบครัวที่ดูอบอุ่นของสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียและ เจ้าชายอัลเบิร์ต พระสวามี รวมทั้งพระโอรสและพระธิดาทั้งเก้าพระองค์ นับเป็นปัจจัยหนึ่งที่หล่อหลอมค่านิยมดังกล่าว
การประกอบอาชีพ เจรจาทำธุรกิจ หรือร่วมถกเถียงเรื่องประเด็นในสังคมและการเมืองมักเป็นเรื่องของผู้ชาย ส่วนงานบริการอย่างพยาบาลคนป่วยไข้และรับใช้ตามคฤหาสน์ก็มักตกเป็นของผู้หญิงจากครอบครัวที่มีฐานะยากจน
เข้าสู่สนามรบ
เมื่อฟลอเรนซ์อายุ 33 ปีแล้วก็ยังไม่ทีท่าว่าจะแต่งงานเป็นแน่ พ่อ จึงยอมตกลงให้เธอไปเรียนเป็นนางพยาบาลที่ประเทศเยอรมนี ทว่าไม่กี่ปีต่อมาเธอก็ต้องเดินทางกลับมาบ้านเกิดเพื่อดูแลพี่สาวที่ตรอมใจจากความดื้อรั้นของน้องตัวเอง
ปี 1853 ฟลอเรนซ์ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานอย่างมาก เธอกลายเป็นหัวหน้าผู้ดูแลสถานพยาบาลหญิงแห่งหนึ่งในกรุงลอนดอน ซึ่งประจวบเหมาะกับการที่อังกฤษเข้าร่วมสงครามไครเมียเพื่อรบกับสหภาพโซเวียตในปีนั้นพอดิบพอดี
เธอได้รับมอบหมายให้พานางพยาบาลอีก 38 คน มุ่งหน้าไปยังโรงพยาบาลทหารในเมืองสคูตารี ประเทศตุรกี ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่ผู้หญิงได้รับอนุญาตให้ทำงานในกองทัพ เมื่อถึงที่หมาย กลิ่นสะอิดสะเอียน ก็ลอยมาเข้าจมูกของฟลอเรนซ์เข้าอย่างจัง
พื้นของโรงพยาบาลแห่งนี้สกปรกไปด้วยกองอุจจาระหนาหนึ่งนิ้ว ฟลอเรนซ์และพยาบาลจึงลงมือชำระล้างทำความสะอาดที่นี่ แล้วคอยดูแลเรื่องอาหารกับเสื้อผ้าให้เหล่าทหารที่ได้รับบาดเจ็บ เมื่อพระอาทิตย์ตกดิน เธอก็ถือโคมไฟคอยเดินตรวจตราผู้ป่วย
อย่างไรก็ตาม เธอไม่อาจลดจำนวนผู้เสียชีวิตได้ ผู้ป่วยที่นี่ล้มตายไปกว่า 4,000 คน เพราะต้องดื่มน้ำที่ปนเปื้อนไปด้วยสารพิษเนื่องจากข้อบกพร่องของท่อระบายน้ำ และขาดการระบายอากาศ จนกระทั่งในภายหลังที่ระบบบำบัดน้ำถูกปรับปรุง ยอดผู้เสียชีวิตจึงค่อย ๆ ลดน้อยลง
"สุภาพสตรีแห่งดวงประทีป"
หนังสือพิมพ์นำเรื่องราวของฟลอเรนซ์ "สุภาพสตรีแห่งดวงประทีป" ไปถ่ายทอดต่อในวงกว้าง ซึ่งเธอก็นำชื่อเสียงโด่งดังมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาศาสตร์ด้านพยาบาล ด้วยการเข้าเฝ้าสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย ด้วยแรงสนับสนุนจากพระองค์ จึงเกิดการก่อตั้งคณะกรรมการตรวจสอบระบบสาธารณสุขของกองทัพ
ในปี 1857 หลังจากฟลอเรนซ์และผู้เชี่ยวชาญด้านสถิติช่วยกันวิเคราะห์ข้อมูลอันสลับซับซ้อน ข้อเท็จจริงอันน่าตกตะลึงก็เผยว่า ผู้ตาย 16,000 รายจากทั้งหมด 18,000 ไม่ได้เสียชีวิตด้วยบาดแผลจากการต่อสู้ แต่เป็นเพราะโรคที่แท้จริงแล้วสามารถป้องกันได้ด้วยระบบสุขาภิบาลที่ดีขึ้นเท่านั้นเอง
- โควิด-19 : ควีนจะมีพระราชดำรัสสร้างขวัญกำลังใจแก่ประชาชนในวิกฤตโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ระบาด
- โครงการไนติงเกล : กูเกิลเข้าถึงข้อมูลคนไข้มหาศาลในสหรัฐฯ
นอกจากนี้ ฟลอเรนซ์ยังนำผลงานวิจัยมานำเสนอให้เข้าใจง่ายในรูปแบบของ "แผนภูมิดอกกุหลาบ" จนประชาชนตระหนักถึงความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องปฏิรูประบบสาธารณสุขเสียใหม่ กองทัพอังกฤษจัดตั้งแผนกการแพทย์และสถิติขึ้นเพื่อแก้ปัญหานี้โดยตรง
"สุภาพสตรีแห่งดวงประทีป" พัฒนาการพยาบาลเรื่อยมานับจากนั้น ในช่วงปี 1880 ความเจริญรุ่งเรืองทางสิ่งประดิษฐ์และเทคโนโลยี เช่น กล้องจุลทรรศน์ ช่วยให้นักวิทยาศาสตร์ค้นพบสิ่งมีชีวิตตัวเล็กจิ๋วอย่างเชื้อโรคชนิดต่าง ๆ
ฟลอเรนซ์ช่วยเน้นย้ำถึงความสำคัญของหลักฐานทางวิทยาศาสตร์เหล่านี้ และเรียกร้องให้ระบบน้ำดื่มน้ำใช้มีความสะอาดปลอดภัยเพื่อลดอัตราการเสียชีวิตที่ไม่ควรต้องเกิดขึ้น เธอเป็นผู้หญิงคนแรกที่ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ The Order of Merit ในปี 1907 สามปีก่อนที่เธอจะเสียชีวิตลงในวัย 90 ปี
อนาคตของการพยาบาล
นิตยสาร ดิ อีโคโนมิสต์ (The Economist) ของอังกฤษตั้งข้อสังเกตว่า กว่า 1 ศตวรรษหลังการเสียชีวิตของหญิงสาวหัวขบถผู้ท้าทายค่านิยมของสังคมที่มีต่อผู้หญิงจนสามารถวางรากฐานการพยาบาลให้กับผู้คนทั่วโลก พยาบาลยังถูกมองเป็นเป็นเพียงลูกมือของแพทย์ และยังไม่สามารถวินิจฉัยโรคพื้นฐานหรือสั่งจ่ายยาได้ ในหลายภูมิภาคของโลก ไม่ว่าจะเป็น อินเดีย เยอรมนี หรือ โปรตุเกส
นอกจากนี้ แม้ว่าพยาบาลจะคิดเป็นสัดส่วนเกือบครึ่งหนึ่งของบุคลากรทางการแพทย์ของโลก แต่พยาบาลกลับยังไม่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมการประชุมเพื่อกำหนดนโยบายด้านสาธารณสุข องค์การอนามัยโลกเพิ่งมีผู้อำนวยใหญ่ด้านการพยาบาลเมื่อปี 2018 ที่ผ่านมา
อีกหนึ่งข้อกังวล คือ อาชีพพยาบาลขาดความขลังดังในอดีตเสียแล้ว ดิ อีโคโนมิสต์ คาดการณ์ว่า ภายในปี 2030 ทั่วโลกจะขาดแคลนพยาบาลถึง 7.6 ล้านตำแหน่ง เมื่อหุ่นยนต์ผ่าตัดและคอมพิวเตอร์สามารถวินิจฉัยโรคได้อย่างแม่นยำ พยาบาลอาจเป็นเพียงสายงานเดียวที่เครื่องจักรทดแทนไม่ได้ เพราะพลังแห่งการเยียวยานั้นมาจากสัมผัสทางกายและความเห็นใจผู้อื่นของมนุษย์นั่นเอง
โควิด-19 กับ ไนติงเกล
ด้วยสัดส่วนประชากรที่มีผู้สูงวัยมาก สหราชอาณาจักรเผชิญกับการระบาดของโรควิด-19 อย่างรุนแรง มียอดผู้เสียชีวิตสูงที่สุดในยุโรป ซึ่งรัฐบาลได้คาดการณ์ถึงสภาวะที่ร้ายแรงนี้ จึงเตรียมการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามชั่วคราวถึง 7 แห่ง ทั้งในอังกฤษ สกอตแลนด์ เวลส์ และไอร์แลนด์เหนือ เพื่อรองรับผู้ป่วยโควิด-19 โดยตั้งชื่อโรงพยาบาลสนามเหล่านี้ว่า โรงพยาบาลเอ็นเอชเอสไนติงเกล
- ไวรัสโคโรนา : รัฐบาลอังกฤษส่งทหารช่วยแปลงศูนย์ประชุมในลอนดอนเป็นโรงพยาบาลสนาม 4,000 เตียง
- โควิด-19 : พยาบาลชายแดนใต้ผู้ไม่ย่อท้อกับภารกิจปราบไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่
โรงพยาบาลเอ็นเอชเอสไนติงเกลแห่งแรก เปิดให้บริการในกรุงลอนดอนเมื่อต้นเดือน เม.ย. ด้วยความสามารถรับคนไข้เริ่มต้น 500 เตียง แม้รัฐบาลประกาศว่ามีขีดความสามารถถึง 4,000 เตียง โดยปรับปรุงจากศูนย์แสดงสินค้าและศูนย์ประชุมเอ็กเซล เซ็นเตอร์ (ExCeL Centre) ด้วยความร่วมมือของกองทัพ