รีเซต

อธิบดีกรมชลฯหารือรับมือค่าน้ำเค็มปลายก.พ.-มี.ค.สูง นำทีมประชุมบริหารจัดการลุ่มน้ำเจ้าพระยา-แม่กลอง

อธิบดีกรมชลฯหารือรับมือค่าน้ำเค็มปลายก.พ.-มี.ค.สูง นำทีมประชุมบริหารจัดการลุ่มน้ำเจ้าพระยา-แม่กลอง
มติชน
20 กุมภาพันธ์ 2564 ( 16:53 )
89

อธิบดีกรมชลฯเตรียมรับมือค่าความเค็มน้ำปลายก.พ.-มี.ค.สูงอีก นำทีมประชุมบริหารจัดการลุ่มน้ำเจ้าพระยา-แม่กลอง พร้อมสนองนโยบาย รมว.เกษตร ไม่ให้น้ำอุปโภคบริโภคขาดแคลน

เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ ที่เขื่อนเจ้าพระยา นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน พร้อมด้วยนายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เดินทางไปติดตามสถานการณ์น้ำและเข้าร่วมประชุมการบริหารจัดการน้ำลุ่มเจ้าพระยา-แม่กลองฤดูแล้งปี 2563/64 โดยมีผู้เชี่ยวชาญ ผู้อำนวยการสำนัก/กอง ตลอดจนผู้อำนวยการโครงการชลประทานในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาและแม่กลอง รวมถึงผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมและบรรยายสรุปสถานการณ์น้ำ

นายประพิศเปิดเผยหลังการประชุมฯว่า สถานการณ์น้ำใน 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยา ซึ่งประกอบไปด้วยเขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 10,496 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 42 ของความจุอ่างฯรวมกัน มีน้ำใช้การได้รวมกันประมาณ 3,800 ล้าน ลบ.ม. ขณะนี้มีการใช้น้ำไปแล้ว 2,843 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 71 ของแผนฯ ส่วนลุ่มน้ำแม่กลอง ที่ใช้น้ำจาก 2 เขื่อนใหญ่ คือ เขื่อนศรีนครินทร์ และเขื่อนวชิราลงกรณ มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 4,777 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 57 ของความจุอ่างฯรวมกัน มีน้ำใช้การได้ 3,615 ปัจจุบันจัดสรรน้ำไปแล้ว 987 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 32 ของแผนฯ

ทั้งนี้ เนื่องจากในปีที่ผ่านมาทั้งลุ่มน้ำเจ้าพระยาและลุ่มน้ำแม่กลอง มีปริมาณน้ำต้นทุนอยู่ในเกณฑ์น้อย ไม่สามารถสนับสนุนการทำนารอบ2(นาปรัง)ได้ ต้องสำรองน้ำไว้เพื่อการอุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศ และไม้ผลไม้ยืนต้นเป็นหลัก จึงได้เน้นย้ำให้ทุกโครงการชลประทานบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุน และเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี 9 มาตรการ เพื่อรองรับสถานการณ์ขาดแคลนน้ำฤดูแล้งปี 2563/64 และตามนโยบายของดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่เน้นย้ำน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคต้องไม่ขาดแคลน พร้อมบูรณาการร่วมกับหน่วยงานทุกภาคส่วนประชาสัมพันธ์ไปยังผู้นำชุมชน กลุ่มผู้ใช้น้ำ เพื่อให้ทราบถึงสถานการณ์น้ำที่เกิดขึ้นในปัจจุบันอย่างต่อเนื่องและทั่วถึง รวมทั้งการเตรียมความพร้อมด้านเครื่องจักร เครื่องมือ กำลังเจ้าหน้าที่ และการกำหนดพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ เพื่อให้สามารถเข้าไปช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทันท่วงที

ด้านนายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวเพิ่มเติมว่า จากสถานการณ์น้ำทะเลหนุนสูงในช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา ทำให้ค่าความเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อการผลิตน้ำประปาของการประปานครหลวง(กปน.)บริเวณสถานีสูบน้ำดิบสำแล จ.ปทุมธานี ซึ่งกรมชลประทาน ได้บริหารจัดการน้ำเพื่อควบคุมความเค็มจนเข้าสู่ภาวะปกติ วันเดียวกันนี้เมื่อเวลา 07.00 น. ที่สถานีสูบน้ำดิบสำแล วัดค่าความเค็มได้ 0.15 กรัม/ลิตร (เกณฑ์เฝ้าระวัง 0.25 กรัม/ลิตร มาตรฐานการผลิตน้ำประปาไม่เกิน 0.50 กรัม/ลิตร) ซึ่งในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ไปจนถึงต้นเดือนมีนาคม 2564 ค่าความเค็มจะขึ้นสูงอีกครั้ง กรมชลประทานได้เตรียมรับมือด้วยการปรับเพิ่มการระบายน้ำจากเขื่อนป่าสักฯเป็น 55 ลบ.ม./วินาที ปรับเพิ่มการระบายน้ำจากเขื่อนพระรามหกเป็น 40 ลบ.ม./วินาที พร้อมผันน้ำจากลุ่มน้ำแม่กลองมายังแม่น้ำท่าจีนผ่านคลองพระยาบรรลือ ลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาที่สถานีสูบน้ำสิงหนาท 2 ในอัตรา 24ลบ.ม./วินาที เพื่อผลักดันค่าความเค็มดังกล่าว

ทั้งนี้ ได้กำชับให้โครงการชลประทานในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา ปฏิบัติตามมาตรการควบคุมค่าความเค็มที่กำหนดไว้ พร้อมขอความร่วมมือประตูระบายน้ำและสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าทุกแห่งที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่ท้ายเขื่อนเจ้าพระยาลงมาจนถึงสถานีสูบน้ำสำแล ให้ชะลอการรับน้ำหรือสูบน้ำในระยะนี้ เพื่อให้การควบคุมค่าความเค็มเป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนดและมีประสิทธิภาพ ที่สำคัญขอให้ทุกภาคส่วนร่วมใจกันใช้น้ำอย่างประหยัดให้มากที่สุด โดยเฉพาะชาวเมืองหลวงและปริมณฑลที่ใช้น้ำจากการประปานครหลวงเพื่อให้ปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่อย่างจำกัดเพียงพอใช้ไปจนถึงต้นฤดูฝนหน้า

กรมชลประทาน จะบริหารจัดการน้ำพร้อมกับให้ความช่วยเหลือพื้นที่ที่ประสบปัญหาภัยแล้งอย่างเต็มความสามารถตามศักยภาพของปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่ เพื่อลดผลกระทบและบรรเทาความเดือดร้อนที่จะเกิดกับเกษตรกรและประชาชนให้ได้มากที่สุด หากหน่วยงานหรือประชาชนต้องการความช่วยเหลือสามารถติดต่อสอบถามได้ที่โครงการชลประทานใกล้บ้านหรือ โทร.สายด่วนกรมชลประทาน 1460 ชลประทานบริการประชาชน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง