รีเซต

DMTทางด่วนกลับมาพุ่ง ลุยประมูลM82ต่อยอด

DMTทางด่วนกลับมาพุ่ง ลุยประมูลM82ต่อยอด
ทันหุ้น
22 สิงหาคม 2567 ( 12:48 )
12

#DMT #ทันหุ้น – DMT ปริมาณการจราจรกลับมาเติบโต ย้ำเป้าเติบโต 10% หรือเฉลี่ย 1.16 แสนคันต่อวัน รับอานิสงส์สายการบินเพิ่มขึ้น พร้อมประมูล M82 ปีนี้ ส่วน M5 คาดเปิดประมูลปี 2568 ส่วนประเด็นการหมดสัญญาสัมปทานปี 2577 เดินหน้าให้ความร่วมมือรัฐ ศึกษาความคุ้มค่ามากที่สุด

 

ดร.ศักดิ์ดา  พรรณไวย  กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน) หรือ DMT เปิดเผยว่า   ปริมาณการจราจรเดือนกรกฎาคม 2567 มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 110,000 คันต่อวัน ทำให้บริษัทยังคงเป้าหมายเดิมปริมาณจราจรเติบโต 10% หรือเฉลี่ย 1.16 แสนคันต่อวัน จากปี 2566 อยู่ที่ 1.06 แสนคันต่อวัน โดยคาดการณ์ว่านักท่องเที่ยวจะเพิ่มสูงขึ้น จากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว

 

รวมไปถึงเรื่องแอร์เอเชียเอ็กซ์ที่จะกลับมาบินด้วย สายการบินกลับมาใช้สนามบินดอนเมืองเพิ่มขึ้น ทำให้ปริมาณการจราจรในถนนวิภาวดี และทางยกระดับอุตราภิมุขสูงขึ้น เป็นปัจจัยบวกที่จะเกิดขึ้นในเดือนตุลาคม ทั้งนี้ปัจจุบันสถานการณ์โควิด-19 ยังทำให้ปริมาณการจราจรยังไม่กลับมาเหมือนเดิม เชื่อว่าภาพรวมเศรษฐกิจดีขึ้นปริมาณการจราจรจะกลับมาเหมือนเดิม

 

*ติดตามปริมาณจราจร

ส่วนการติดตามปริมาณการเดินทางของรถไฟฟ้าสายสีแดงที่อยู่ติดกับทางยกระดับดอนเมืองนั้น กระทรวงคมนาคม มีนโยบายสนับสนุนการเดินทางด้วยรถไฟฟ้าด้วยนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาท นำร่องก่อน 2 เส้นทาง คือ รถไฟฟ้าสายสีม่วงและสีแดง ซึ่งฝ่ายบริหารมีการติดตามอย่างใกล้ชิด ซึ่งจากการวิเคราะห์ของผู้เชี่ยวชาญด้านการจราจร สรุปได้ว่ากลุ่มผู้ใช้รถไฟฟ้าสายสีแดงเป็นคนละกลุ่มกับผู้ใช้ทางยกระดับดอนเมือง อีกทั้งการใช้รถไฟฟ้าสายสีแดงปัจจุบัน พบว่า ค่าใช้จ่ายในการเดินทางรวมการเดินทางเชื่อมต่อและเข้าถึงสถานี (Feeder) ถึงแม้ว่าจะลดค่าโดยสารรถไฟฟ้าเหลือ 20 บาทต่อคนต่อเที่ยว

 

ขณะที่ปัจจัยที่ต้องพิจารณาต้นทุนการเดินทางยังต้องรวมค่าโดยสารในการเชื่อมต่อระบบขนส่งอื่นๆ อาทิ รถจักรยานยนต์รับจ้าง รถสองแถว รถเมล์ ไปยังสายอื่นๆ ทำให้ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคนยังคงสูงกว่าการใช้ทางยกระดับดอนเมือง เนื่องจากผู้ใช้ทางยกระดับดอนเมืองส่วนใหญ่โดยสารมาด้วยกันมากกว่า 2 คน และยังคงเป็นการเดินทางที่มีความสะดวกทอดเดียวแบบ Door-to-DoorService

 

ดังนั้นฝ่ายบริหารคาดการณ์ว่า ยังไม่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการเดินทาง และอยู่ในกระบวนการติดตามพฤติกรรมการเดินทางโดยรอบทางยกระดับดอนเมืองของบริษัท โดยรูปแบบการเดินทางโดยรถยนต์ยังคงมีความจำเป็นในระบบคมนาคมขนส่งในกรุงเทพฯ และปริมณฑล

 

*ติดโซลาร์ลดต้นทุน

นอกจากนี้ยังมีการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป จำนวน  8 ด่าน ซึ่งประหยัดพลังงานได้ 25-30% และอยู่ระหว่างการติดตั้งอุปกรณ์โคมไฟตลอดเส้นทาง จำนวน 1,540 Sets ซึ่งขณะนี้ติดตั้งไปแล้ว 422 Set หรือมีความคืบหน้า 27.4% ประหยัดพลังงานได้  20-30% รวมถึงบริษัทจะมีการเพื่อลดการปล่อยคาร์บอนต่อเนื่อง ในส่วนต่างๆ ส่วนบริษัท เอ สยาม อินฟรา จำกัด (ASIAM) ก็ยังเดินหน้าธุรกิจต่อเนื่อง อยู่ระหว่างการยื่นซองประกวดราคา ทั้งสะพานไทย-ลาว การปรับปรุงผิวทางต่างๆ รวมไปถึงการซ่อมบำรุงด้วย นอกจากนี้ยังมีงานตรวจสอบโครงการ

 

ขณะเดียวกันบริษัทยังมีการเตรียมเข้าร่วมประมูล โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางขุนเทียน-บ้านแพ้ว (M82) ระยะทาง 25 Km คาดว่าจะเปิดการประมูลเร็วๆ นี้ และยังโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองส่วนต่อขยายทางยกระดับอุตราภิมุข ช่วงรังสิต – บางปะอิน (M5) ระยะทาง 22 Km คาดว่าจะเห็นการเปิดประมูลปี 2568

 

*ปรับขึ้นค่าผ่านทางตามแผน

สำหรับการปรับขึ้นอัตราค่าผ่านทางยกระดับ ช่วงดินแดง-ดอนเมือง 10 บาทต่อคันต่อเที่ยว ทางยกระดับช่วงดอนเมือง-อนุสรณ์สถาน ปรับขึ้น 5 บาทต่อคันต่อเที่ยว ทางยกระดับช่วงอนุสรณ์สถาน-ดินแดง ปรับขึ้น 15 บาทต่อคันต่อเที่ยว และทางยกระดับช่วงดอนเมือง-ดินแดง ปรับขึ้น 10 บาทต่อคันต่อเที่ยว มีผลตั้งแต่วันที่ 22 ธันวาคม 2567 เวลา 00.01 น. โดยการกำหนดราคาค่าผ่านทางตามสัญญาได้มีการกำหนดตั้งแต่ตอนแรกแล้วในอดีตที่ผ่านมา บริษัทมีหน้าที่ทำตามสัญญาสัมปทาน โดยวันที่ 22 ธันวาคมนี้ ก็จะมีการกำหนดราคาค่าผ่านทางปกติ อย่างไรก็ตามสำหรับแนวนโยบายกรมทางหลวง และกระทรวง บริษัทก็น้อมรับและสนับสนุนทุกด้าน เช่นส่วนลดคูปอง เป็นต้น

 

ส่วนประเด็นการหมดสัญญาสัมปทานปี 2577 ภาครัฐจะมีการศึกษาก่อนหมดสัญญาสัมปทาน 5 ปี หรือ ปี 2572 ดังนั้นกรมทางหลวงจะศึกษาแนวทางในการดำเนินโครงการ ว่ารูปแบบไหนจะคุ้มค่าและเป็นประโยชน์มากกว่ารวมไปถึงพิจารณาความต่อเนื่องในการให้บริการ และเป็นประโยชน์ต่อประชาชนมากที่สุด ซึ่งบริษัทจะให้ส่วนร่วมในการร่วมให้ข้อมูลด้วย

 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง