รีเซต

ปัตตานีหลายองค์กร ยื่นข้อเสนอหาทางแก้ปัญหาความไม่สงบ3จังหวัดชายแดนใต้

ปัตตานีหลายองค์กร ยื่นข้อเสนอหาทางแก้ปัญหาความไม่สงบ3จังหวัดชายแดนใต้
มติชน
12 กันยายน 2563 ( 21:26 )
254

เมื่อวันที่ 12 กันยายน ที่ห้องประชุมสำนักงานคณะกรรมการอิสลามจ.ปัตตานี ต.บ่อทอง อ.หนองจิก จ.ปัตตานี พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ หัวหน้าคณะพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมคณะทำงาน เดินทางประชุมรับฟังข้อเสนอในแก้ปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อยื่นขอเสนอให้กับรัฐบาล โดยมีนายดือราแม มะมิงจิ ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี พร้อมด้วยพล.ท.พรศักดิ์ พูลสวัสดิ์ แม่ทัพภาคที่ 4 พล.ต.เกรียงไกร ศรีรักษ์ เลขาคณะพูดคุยฯ พล.อ.อุดมชัย ธรรมสาโรรัตน์ อดีตหัวหน้าคณะพูดคุย และนายกิตติ สุระคำแหง เลขานุการคณะสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตัวแทนกลุ่มองค์กรศาสนาและกลุ่มองค์กรที่เคลื่อนไหวในพื้นที่ เข้าร่วมประชุม

 

โดยที่ประชุมจะไม่ทิ้งประเด็นใดประเด็นหนึ่ง ทั้งประเด็นด้านเศรษฐกิจและสังคม ศาสนา กฎหมายการปกครอง ด้านการศึกษา ภาษาและวัฒนธรรม โดยให้เป็นในทิศทางการขับเคลื่อนไปพร้อมๆกัน สร้างสภาวะแวดล้อมให้เอื้อต่อการสร้างสันติสุข ความเป็นพหุวัฒนธรรม การยกระดับการใช้ภาษามลายูเป็นภาษาราชการ รวมทั้งการยอมรับ ด้านการแสดงสัญชาติ เชื้อชาติ โดยนำกฎหมายมาเป็นทางออกร่วมกันสู่สันติสุขในพื้นที่ต่อไป

 

ซึ่งจากการที่คณะทำงานได้มารับฟังข้อเสนอแนะในวันนี้ทางผู้นำศาสนาในพื้นที่ได้ให้คำแนะนำ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการแก้ไขปัญหาต่อไปในอนาคต โดยเฉพาะการส่งเสริมด้านการศึกษา อัตลักษณ์ ของพื้นที่ การสร้างความเข้าใจ ลดความรุนแรงและความหวาดระแวงของประชาชนต่อประชาชน รวมทั้งประชาชนกับภาครัฐ ตลอดจนการแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนในด้านผลกระทบโควิด-19 ซึ่งตลอดช่วงโควิดที่ผ่านมาทางคณะประสานงานระดับพื้นที่ยังคงดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง และมีการต่อสายพูดคุยกันกับทุกกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มผู้เห็นต่าง และกลุ่มภาคประชาชน ตัวแทนกลุ่มองค์กรที่เคลื่อนไหวในพื้นที่ในทุกมิติ
ทั้งนี้ผลการพูดคุย การรับฟังข้อเสนอ ที่ได้ยื่นต่อคณะพูดคุยเพื่อสันติสุข จชต. โดยรายละเอียดข้อเสนอที่ได้มีการนำมายื่นประกอบด้วย

 

1.ด้านศาสนา การบริหารกิจการฮัจญ์ โดยให้ใช้บุคคลที่มีความรู้ความเข้าใจมาบริหารจัดการ อย่าง สมาพันธ์ฯ และคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด เป็นผู้รับผิดชอบ ผ่านคณะสันติสุข จชต.กฎหมายอิสลาม เสนอให้มีคณะทำงานร่างกฎหมายอิสลาม โดยเฉพาะเรื่องครอบครัว มรดก ขึ้นมาในพื้นที่ 4 จชต. เพื่อให้สอดคล้องกับวิถีชีวิต นอกจากนี้ เสนอให้ ถ่ายโอนภารกิจของ ตาดีกา ซึ่งเป็นศูนย์พัฒนาเด็กเล็กอิสลาม ให้อยู่ในความดูแลของคณะกรรมการอิสลาม หรือผู้นำศาสนา

 

2.ด้านเศรษฐกิจและสังคม เสนอให้มีการจัดระเบียบสังคม ให้สอดคล้องกับศาสนาและวัฒนธรรม ให้มีส่วนร่วมระหว่างรัฐและผู้นำศาสนาในพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรม การบริหารศูนย์กลางอาหารฮาลาล จะต้องยกระดับให้เห็นผลอย่างจริงจัง โดยผสานความร่วมมือของผู้นำศาสนา ภาครัฐ และภาคเอกชน ภาคธุรกิจที่มีประสบการณ์มีความรู่ความสามารถ มาช่วยกันขับเคลื่อน

 

3.ด้านการสร้างสภาวะแวดล้อม พหุวัฒนธรรม ที่เหมาะต่อสังคมและอัตลักษณ์ ของพื้นที่เสนอให้รัฐบาล พิจารณา เรื่องการให้วันศุกร์เป็นวันหยุดราชการ เพื่อให้สอดคล้องกับเพื่อนบ้านจัดให้มีป้ายหมู่บ้าน และส่วนราชการ 3 ภาษา (ไทย มลายู และภาษาอังกฤษ) เพื่อเปิดประตูสู่อาเซียน ยกระดับภาษามลายูเป็นภาษาราชการอีกภาษาหนึ่ง ระบุอัตลักษณ์ เชื้อชาติ เช่น เชื้อชาติไทย เขื้อชาติจีน เชื้อชาติมลายู สัญชาติไทยศาสนาอิสลาม เป็นต้น และให้มีการยอมรับเป็นทางการ

 

สำหรับข้อเสนอด้านการปกครอง เนื่องจากพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นพื้นที่พิเศษ และมี พ.ร.บ.กระจายอำนาจ พ.ร.บ.การปกครองรูปแบบพิเศษอยู่มากมาย จึงควรตั้งคณะกรรมการร่วมขึ้นมาเฉพาะนำกฎหมายที่มีอยู่มาศึกษารูปแบบที่เหมาะสมและสอดคล้องกับอัตลักษณ์ของพื้นที่เพื่อนำไปสู่ทางออกร่วมกัน

 

นายแวดือราแม มะมิงจิ ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี ในนามประธานคณะสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่า คณะทำงานได้มีการทำความเข้าใจกับบุคคลที่มีความคิดเห็นต่าง เพื่อสร้างความมั่นใจและเข้าใจความต้องการของคนในพื้นที่ว่าต้องการอะไร และต้องการให้ดูแลในเรื่องอะไรบ้าง และนำข้อมูลที่ได้รับเสนอให้รัฐบาลได้รับทราบ และสร้างความเชื่อมั่นในการดูแล สำหรับปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในพื้นที่เราต้องเปิดโอกาสให้ผู้เห็นต่างได้เข้ามามีส่วนร่วมในการนำเสนอข้อคิดเห็น เพื่อให้ทุกฝ่ายได้รับทราบความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง

 

พล.อ.วัลลภ กล่าวอีกว่า ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นปัญหาภายในของประเทศไทย ดังนั้นการสร้างความเข้าใจร่วมกันระหว่างคนในพื้นที่ถือเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมาก ซึ่งข้อเสนอทั้งหมดจะนำไปสู่การสร้างสันติสุขในพื้นที่อย่างถาวร เป็นการดำรงพหุวัฒนธรรม และอยู่ในกรอบของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เรื่องที่นำเสนอในบางส่วนอยู่ในกระบวนการที่จะดำเนินการอยู่แล้วก็จะมีการผลักดันให้ดำเนินการต่อได้อย่างรวดเร็วบางส่วนที่อยู่ในแผนหรือในนโยบายของรัฐบาลเราก็จะดำเนินการขับเคลื่อนให้เกิดตรงนั้นขึ้นมา บางส่วนที่ยังไม่ได้อยู่ในกระบวนการต่างๆ คณะพูดคุยจะได้นำไปศึกษาวิเคราะห์และจะมีกลไกการทำงานร่วมกันเพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนการมีส่วนร่วมระหว่างภาครัฐกับประชาชน สำหรับข้อเสนอทั้ง 4 ประเด็นนั้น จะร่วมกับคณะสันติสุขและประชาชนในพื้นที่ทุกภาคส่วน ขับเคลื่อนข้อเสนอต่างๆ เหล่านี้ ให้ไปมีส่วนสำคัญต่อการแก้ไขปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้อย่างถาวร

ข่าวที่เกี่ยวข้อง