เชียงใหม่ ขู่เอาผิดปกปิดไทม์ไลน์ หวั่นเชื้อกระจาย เผยยอดจองฉีดวัคซีน 1.1 ล้านคนแล้ว
เชียงใหม่ พบติดโควิด 1 ราย ขู่ดำเนินคดีผู้ป่วยปกปิดไทม์ไลน์ หวั่นเชื้อกระจายเป็นคลัสเตอร์ เผยยอดจองฉีดวัคซีน 1.1 ล้านคนแล้ว
เมื่อวันที่ 16 มิ.ย. 2564 ที่ศูนย์บัญชาการสถานการณ์การระบาดโรค Covid-19 จังหวัดเชียงใหม่ นายกนก ศรีวิชัยนันท์ ปลัดจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมด้วนายทรงยศ คำชัย หัวหน้ากลุ่มงานควบคุมโรคติดต่อ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ ร่วมแถลงสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกเดือน เม.ย.
นายทรงยศ กล่าวว่า วันนี้พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 1 ราย ซึ่งถือว่าพบผู้ติดเชื้อต่ำกว่า 10 ราย มาเป็นเวลา 19 วันแล้ว ยอดผู้ติดเชื้อสะสมเป็นจำนวน 4,121 ราย รักษาหายแล้ว 4,061 ราย ผู้รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลทุกประเภท จำนวน 34 ราย แยกเป็นโรงพยาบาลรัฐ 29 ราย โรงพยาบาลเอกชน 5 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม ทำให้ยอดผู้เสียชีวิตสะสมอยู่ที่ 26 ราย ขณะที่กลุ่มผู้ติดเชื้อที่ยังรักษาตัวอยู่ แยกเป็นกลุ่มผู้ป่วยที่ไม่มีอาการหรืออาการเล็กน้อย (สีเขียว) 19 ราย อาการปานกลาง (สีเหลือง) 10 ราย อาการค่อนข้างหนัก (สีส้ม) 4 ราย และผู้ป่วยอาการหนัก (สีแดง) 1 ราย
นายทรงยศ กล่าวต่อว่า การตรวจผู้สัมผัสและผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ถึงแม้สถานการณ์จะดีขึ้น แต่ยังคงมีการตรวจหาเชื้ออย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อวานนี้ (15 มิ.ย. 64) ได้มีการตรวจหาเชื้อ จำนวน 1,059 ราย พบเชื้อ 1 ราย คิดเป็นร้อยละ 0.09 ส่วนปัจจัยเสี่ยงยังคงเป็นการนำเข้า ทั้งนี้จึงเป็นเหตุให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเชียงใหม่ เข้มงวดต่อผู้ที่เดินทางเข้ามาในจังหวัดเชียงใหม่ ต้องลงทะเบียน CM-CHANA ทุกคน และหากเจ้าบ้านหรือผู้ให้ที่พักแรมต่างๆ ต้องให้ความร่วมมือแจ้งผู้เดินทางเข้ามาพักลงทะเบียน CM-CHANA ให้ครบถ้วน มิฉะนั้นจะมีความผิดด้วย
นายทรงยศ กล่าวอีกว่า สำหรับแผนต่อไปในการตรวจคัดกรองกลุ่มเสี่ยง ทางสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ ได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดในการตรวจคัดกรองแรงงานต่างด้าว โดยเป็นการสุ่มตรวจหาเชื้อพันธุกรรมทางน้ำลาย ซึ่งจะมีการดำเนินการไปตามอำเภอต่างๆ โดยได้จัดทำแผนการเฝ้าระวังไว้อย่างเต็มที่แล้ว ส่วนคลัสเตอร์ต่างๆ ไม่พบคลัสเตอร์ใหม่ และยังคงเหลือคลัสเตอร์ที่ยังคงเฝ้าระวังเพียง 3 คลัสเตอร์เท่านั้น
ในส่วนของไทม์ไลน์ของผู้ติดเชื้อรายใหม่วันนี้ เป็นชายไทย อายุ 38 ปี มีอาชีพเป็นติวเตอร์ โดยในวันที่ 1-7 มิ.ย. ทำงานที่บ้านและกักตัวก่อนเปิดสอน, วันที่ 8-9 มิ.ย. กักตัวที่บ้านและสั่งอาหารผ่านแกร็บฟู้ด, วันที่ 10 มิ.ย. เดินทางไปห้างสรรพสินค้าโลตัสคำเที่ยง, วันที่ 11 มิ.ย. เดินทางไปตลาดธานินทร์, วันที่ 12 มิ.ย. เริ่มมีอาการ, วันที่ 13 มิ.ย. รับประทานอาหารร้าน MK ห้างเซ็นทรัลเฟสติวัล และในวันที่ 14 มิ.ย. จึงตรวจหาเชื้อ พบว่าติดเชื้อ
"ขณะนี้มี 3 เหตุการณ์ ที่ทางทีมสอบสวนยังสอบสวนหาแหล่งที่มาของโรคไม่ได้ จึงขอความร่วมมือผู้ติดเชื้อทุกรายต้องไม่ปกปิดข้อมูล โดยเฉพาะไทม์ไลน์ เพื่อทีมสอบสวนโรคจะได้ควบคุมโรคได้ทันทีไม่กระจายออกไปเป็นคลัสเตอร์ หากไม่ให้ความร่วมมือถือว่าเป็นการขัดต่อคำสั่งเจ้าพนักงานโรคติดต่อเป็นความผิดทางกฎหมายตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558" นายทรงยศ กล่าว
ทั้งนี้ ขอเชิญชวนชาวเชียงใหม่ “มาฮ่วมกั๋นเป็นก๋ำแปงเวียง ปกป้องโรคโควิดหื้อคนเจียงใหม่” ซึ่งคนเชียงใหม่จะต้องฉีดวัคซีนให้ได้ 1,200,000 คน ขณะนี้ได้ทำการฉีดไปแล้ว 139,179 ราย อย่างไรก็ตามการจัดสรรวัคซีนมีเพียงพอแน่นอน ตั้งแต่สัปดาห์หน้าเป็นต้นไป โดยขอให้ชาวเชียงใหม่จองคิวผ่านเว็บไซต์ “ก๋ำแปงเวียง” เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ และเป็นเกราะป้องกันโรคโควิด-19 ให้ จ.เชียงใหม่
ด้านนายกนก กล่าวว่า ตามที่จังหวัดเชียงใหม่ได้มีการรณรงค์ สำรวจการขึ้นทะเบียนการจองวัคซีน ตั้งแต่เดือน พ.ค. เป็นต้นมา ขณะนี้มียอดจองทั้งสิ้น 1,185,424 คน ซึ่งจำนวนนี้เป็นยอดรวมจากทั้ง 25 อำเภอ โดยอำเภอที่มีการสำรวจ 100% แล้ว ได้แก่ สันทราย สันป่าตอง แม่วาง แม่แตง แม่แจ่ม พร้าว และเวียงแหง ส่วนอำเภอที่มีการสำรวจเกิน 90% ได้แก่ ดอยสะเก็ด กัลยาณิวัฒนา ไชยปราการ สันกำแพง และดอยหล่อ
นายกนก กล่าวต่อว่า ขณะนี้ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ได้สั่งการให้ทุกอำเภอประสานทางองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และพี่น้อง อสม.ในพื้นที่ ร่วมกันวางแผนอำนวยความสะดวกในการนำพาพี่น้องประชาชนมาฉีดวัคซีนยังจุดฉีดให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ซึ่งในเดือนหน้านี้จะมีวัคซีนมาจำนวนมาก จึงต้องมีการวางแผนการดำเนินงานของทุกฝ่ายให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย
นายกนก กล่าวอีกว่า ด้านการดำเนินคดี กรณีผู้ให้ข้อมูลเท็จหรือปกปิดข้อมูลจากการสอบสวนโรค เนื่องจากผู้ติดเชื้อโควิด-19 บางรายมีพฤติกรรมปกปิดข้อมูลหรือไม่ให้ความร่วมมือกับทีมสอบสวนโรค ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความล่าช้าของทีมแพทย์สาธารณสุขที่จะเข้าควบคุมพื้นที่ หรือเข้าไปคัดกรองกลุ่มเสี่ยงสูง และอาจส่งผลกระทบเป็นวงกว้างกับส่วนรวม ถือเป็นการกระทำที่เข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.ควบคุมโรคติดต่อ พ.ศ.2558
ดังนั้น ทางคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเชียงใหม่จึงขอให้กองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดเชียงใหม่ ดำเนินคดีต่อผู้ให้ข้อมูลเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงาน หรือผู้ที่ปกปิดข้อมูลต่อเจ้าพนักงานควบคุมโรค ทั้งนี้เพื่อไม่ให้เป็นตัวอย่างที่นำความเสียหายมาสู่จังหวัดเชียงใหม่ได้ต่อไป