รีเซต

ก.แรงงาน จับมือ คูโบต้า สร้าง "นักขับ" ภาคเกษตร สู้ภัยโควิด-19

ก.แรงงาน จับมือ คูโบต้า สร้าง "นักขับ" ภาคเกษตร สู้ภัยโควิด-19
มติชน
5 มิถุนายน 2563 ( 14:29 )
184
 

เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (เอ็มโอยู) ภายใต้โครงการพัฒนาทักษะอาชีพแก่เกษตรกร เพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ระหว่าง กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กับ บริษัท สยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด ณ คูโบต้าฟาร์ม (Kubota Farm) ต.หนองอิรุณ อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี

 

 

ม.ร.ว.จัตุมงคล กล่าวว่า การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลให้สถานประกอบกิจการหลายแห่งปิดตัวลง หรือหยุดกิจการชั่วคราว ทำให้แรงงานและประชาชนทั่วไป ต้องหยุดงานขาดรายได้ โดยเฉพาะแรงงานภาคเกษตรได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก ประกอบกับปัจจุบันเครื่องจักรกลการเกษตรมีส่วนสำคัญในการสนับสนุนปัจจัยการผลิต เป็นเครื่องทุ่นแรงในการช่วยเหลือเกษตรกร แต่กลับต้องเผชิญปัญหาขาดแคลนพนักงานขับรถที่มีทักษะฝีมือเป็นจำนวนมาก ดังนั้น ทุกภาคส่วนต้องร่วมกันพัฒนาแรงงานไทยให้มีทักษะฝีมือสอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน กระทรวงแรงงาน จึงได้ร่วมกับบริษัท สยามคูโบต้าฯ ดำเนินโครงการพัฒนาทักษะอาชีพเกษตรกร และผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรควิด-19 ให้มีความรู้ความสามารถ และทักษะการขับรถในในภาคการเกษตร จำนวน 4 หลักสูตร ได้แก่ การขับรถแทรกเตอร์ การขับรถเกี่ยวข้าว การขับรถขุดขนาดเล็ก และการขับรถดำนา

 

 

“ความร่วมมือในครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นว่าในช่วงสถานการณ์ที่ยากลำบาก หน่วยงานภาครัฐและเอกชนพร้อมจับมือแก้ไขปัญหาเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับแรงงานและประชาชน และยังเป็นการส่งเสริมและพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานในสาขาที่กำลังขาดแคลน เพิ่มจำนวนแรงงานฝีมือทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพในภาคการเกษตร ซึ่งเป็นอีกหนึ่งเสาหลักที่ค้ำจุนประเทศให้ดำรงอยู่ได้” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าว

 

 

สำหรับ การลงนามเอ็มโอยูในครั้งนี้ นายธวัช เบญจาทิกุล อธิบดี กพร. ได้ลงนามร่วมกับ นายพิษณุ มิลินทานุช ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้จัดการทั่วไป สายงานขาย การตลาด และบริการ บริษัท สยามคูโบต้าฯ โดยมี นายวิชัย ผิวสอาด รองอธิบดี กพร. และนายไวพจน์ หามาลา ผู้จัดการฝ่ายบริการลูกค้า บริษัทสยามคูโบต้าฯ ร่วมเป็นสักขีพยาน โดยการฝึกอบรมทั้ง 4 หลักสูตร ใช้ระยะเวลาการฝึก 18 ชั่วโมง เน้นฝึกอบรมทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ สามารถนำความรู้ที่ได้รับไปใช้ในการประกอบอาชีพได้ ซึ่งผู้ผ่านการฝึกอบรมจะได้รับโอกาสเข้ารับการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติด้วย ในวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 จะเริ่มต้นฝึกนำร่องในสาขาการขับรถแทรกเตอร์ ใน 5 จังหวัด ได้แก่ อุบลราชธานี ศรีสะเกษ มหาสารคาม พิษณุโลก และมหาสารคาม จังหวัดละ 3 รุ่น รุ่นละ 20 คน รวมทั้งสิ้น 300 คน ในอนาคตจะมีการกระจายฝึกอบรมให้ทั่วประเทศต่อไป เน้นกลุ่มเป้าหมายแรงงานในภาคเกษตร ผู้ว่างงาน ผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง