รีเซต

โค้งสุดท้าย ประชันวิสัยทัศน์! "ศิธา ทิวารี" จบปัญหาน้ำรอระบาย-โฟกัสปชช.เป็นที่ตั้ง

โค้งสุดท้าย ประชันวิสัยทัศน์! "ศิธา ทิวารี" จบปัญหาน้ำรอระบาย-โฟกัสปชช.เป็นที่ตั้ง
TNN ช่อง16
15 พฤษภาคม 2565 ( 12:41 )
70

เปลี่ยนคลองกรุงเทพเป็นแก้มลิง...จบปัญหาน้ำรอระบายที่ไม่สามารถเอาผิดใครได้ แต่ปชช.ต้องรับกรรม 


น.ต.ศิธา ทิวารี ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. หมายเลข 11 พรรคไทยสร้างไทย (ทสท.) ได้แสดงวิสัยทัศน์ ผ่านรายการ "โค้งสุดท้าย ประชันวิสัยทัศน์" ทาง TNN ช่อง 16 เมื่อวันที่ 14 พ.ค.2565 เวลา 20.30 น. ใน 4 หัวข้อ ดังนี้

ทำไมคน กทมต้องเลือกคุณ?

น.ต.ศิธา  กล่าวว่า เหตุผลที่พี่น้องประชาชนต้องกาเบอร์ 11 ดังนี้ เรื่องคุณสมบัติที่แตกต่างกับท่านอื่นๆก่อน 1.เคยทำงานโดยเป็นประธานกรรมการ บริษัท ท่าอากาศยานไทยจำกัด มหาชน ระหว่างที่ทำงานมีหน้าที่ดูแล สนามบินสุวรรณภูมิ สนามบินดอนเมือง และ สนามบินภุมิภาคอีก 4 แห่ง  ณ เวลาที่อยู่สนามบินสุวรรณภูมิ มีพื้นที่ว่างเปล่าที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์  สามารถนำมาให้ประชาชนได้เข้าไปใช้ได้ และ ได้นำพื้นที่รกร้างว่างเปล่ามาเป็นสนามขี่จักรยานให้ประชาชนเข้ามาใช้ การทำไม่ได้ใช้งบประมาณของหน่วย แต่เป็นการให้เอกชนเข้ามาทำ

 หลังจากนั้น มีประชาชนเข้ามาใช้เป็นล้านครั้ง ใน 1 ปีทำให้คนไทยออกกำลังกายเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 30 ล้านกิโลเมตร ในขณะที่พื้นที่สีเขียวก็มีประชาชน เข้ามาใช้เป็นจำนวนมาก ทั้งหมดไม่ได้ใช้เงินของหน่วยงานเลย ปัจจุบันมีเอกชนมาลงทุนประมาณ 2 พันล้านบาท กลายเป็นสนามจักรยานที่ดีที่สุดในโลก 

2. คือฟรีไวไฟที่สนามบิน อันดับแรกได้ติดต่อเอกชนเจ้านึงมาทำ เมื่อเปิดบริการ อีก 2 เจ้า มาลงทุนเพิ่มนับพันล้านจนกลายเป็นไวไฟที่ท็อป 5 ดีที่สุดของโลก  สำหรับเรื่องห้องน้ำก็เช่นเดียวกันให้เอกชนมาลงทุน จนกลายเป็นห้องน้ำที่ดีที่สุดระดับโลก ทั้งหมดไม่ได้ใช้ เงินจากองค์กรเลยผมคิดว่าเป็นคาแรกเตอร์ที่แตกต่างที่จากผู้สมัครผู้ว่าฯกทม.ทั่วๆไป เพราะทุกคนบอกจะทำโครงการนู้นโครงการนี้ ใช้ภาษีจากพี่น้องประชาชนมาใช้ ไม่ได้ไปหาเพิ่ม

ผมเคยเป็นข้าราชการชั้นผู้น้อย รับราชการทหารตั้งแต่อายุ 17-18 ปี เคยเป็นนักบิน การตัดสินใจ จะมุ่งเอาวัตถุประสงค์ของงานเป็นตัวตั้ง ผมก็จะโฟกัสเอาผลประโยชน์ของประชาชนเป็นตัวตั้ง ผมเคยเป็นส.ส.ที่ลงพื้นที่กรุงเทพมหานคร และทำงานในพื้นที่ต่อเนื่อง เพราะฉะนั้นผมรู้ปัญหาของกทม.ดี ไม่ต้องลงไปรับทราบปัญหาแล้วกลับมาเขียนนโยบายเพราะมันอยู่ในหัวอยู่แล้ว ทั้งหมดที่ผมกล่าวเป็นสิ่งที่แตกต่าง และ เป็นคาแรคเตอร์ที่ผู้ว่าฯกทม.ควรจะมี 

นโยบาย 4 เรื่องที่ผู้ว่าฯ กทม.ต้องแก้ไข

"ปัญหาน้ำท่วม"

กทม. มีปัญหา 3 น้ำ  ( น้ำเหนือ น้ำฝน น้ำทะเล)  กรุงเทพมหานครมีตัวชี้วัดทำอย่างไรถึงเกณฑ์ไหนน้ำจะท่วม แต่ไม่เคยนำมาเชื่อมโยงกันอย่างไร อย่างเช่นน้ำเหลือไหลมาเร็วกว่า 2,600 ลูกบาศก์เมตร ต่อวินาที น้ำจะท่วมกรุงเทพ ถ้าน้ำฝนตกมาเกิน 60 มิลลิเมตรน้ำจะท่วม น้ำทะเลหนุนสูงเกินกว่า 2.2 เมตร ที่ปากคลองตลาดน้ำจะท่วม จะเอาตัวเลขพวกนี้มาดูร่วมกับพยากรณ์อากาศ ว่าเป็นอย่างไรฝนจะตกเมื่อไร กรุงเทพได้ชื่อว่าเวนิสตะวันออก คลองเยอะ คลองเหล่านี้จะเป็นแก้มลิงธรรมชาติได้ กรุงเทพจะไปใช้วิธีให้ฝนตกก่อนให้น้ำท่วมแล้วสูบน้ำออกก็ออกไม่ทันก็มารอระบายอยู่บริเวณหัวเข่าของคน ถ้าเราเช็กสภาพอากาศก่อน เราก็บอกประชาชนล่วงหน้า 3 วัน ว่าฝนจะตก ต้องลดระดับน้ำในคลองก่อนเพื่อให้เป็นแก้มลิงธรรมชาติ เพื่อให้น้ำที่รอระบายอยู่บริเวณหัวเข่าคนไปรอระบายในคลอง

ทฤษฎีเรื่องความสูงของน้ำอาจต่างกับดร.เอ้  โดยคิดว่าถนนสูงสุดรองมาลงมาเป็นท่อระบายน้ำ รองลงมาเป็นคลองเป็นอุโมงค์ยักษ์และใต้สุดคือแม่น้ำ เพราะฉะนั้นที่ท่วมเพราะน้ำปริ่มคลองอยู่แล้ว เมื่อน้ำท่วมถนนไหลลงท่อระบายน้ำลงคลองจนเต็ม น้ำจากท่อก็ดันขึ้นถนน ผมจะแยก 2 ส่วนครับมีสำนักระบายน้ำ และ สำนักงานเขต สำนักงานระบายน้ำจะรับผิดชอบคลองที่ยาว 2 ,100 กิโลเมตร ในกรุงเทพ ผมเอามาสักครึ่งหนึ่งที่ 1,000 กิโลเมตร จะต้องใช้ผันน้ำ เอามาเป็นแก้มลิงเมื่อฝนลงมาผมจะเดรนน้ำไม่ต้องเยอะแค่เมตรสองเมตรเราได้หน้าตัก 20 เมตร คูณกับความยาวเอาแค่ 1 กิโลเมตรจุนำ้ได้ 2 แสนลูกบาศก์เมตร  1,000 กิโลเมตร ก็จะสามารถกักเก็บน้ำได้เยอะมาก 

ถ้าระดับน้ำในคลองต่ำแล้วน้ำท่วมแปลว่า ปัญหาอยู่ที่สำนักงานเขต แต่ถ้าน้ำในคลองเอ่อล้นเป็นความผิดของสำนักการระบายน้ำ น้ำรอระบายที่ไม่สามารถเอาผิดใครได้เลย แล้วก็โยนความผิดไปให้คนรับกรรมคือประชาชน กทม.ต้องมีการบริหารจัดการน้ำที่ดี ที่ผ่านมามีการใช้งบประมาณเป็นแสนล้านในการระบายน้ำแล้ว แทบไม่ต้องจะลงทุนอะไรเพิ่มเลย ถ้าหากผมเข้าไปสัปดาห์แรกผมสามารถจะแก้ปัญหาแก้ปัญหาน้ำรอระบายได้ดีขึ้น  50 % 

"ปัญหาขยะมูลฝอย"

การแก้ปัญหาขยะในที่สุดแล้วประเทศทั่วโลกที่แก้ปัญหาได้ดีใช้วิธีการ 3 R คือ  Reduce, Reuse, Recycle การแยกขยะมีความสำคัญอย่างยิ่งเพราะปริมาณขยะที่จะทิ้งไปสูญเปล่าจะน้อยมาก ถ้าแยกขยะ เปียก ขยะแห้ง ออกจากกันได้ ขยะเปียกประมาณ 40 % เอาไปทำปุ๋ยได้ ถ้าเอามารวมกันสิ่งที่เกิดขึ้นเวลาเอาไปเผา จะสิ้นเปลืองพลังงานมากและก่อให้เกิดมลภาวะมากกว่า เหมือนเราเอาฟืนแห้งฟืนเปียกไปเผา จะเกิดเป็นควันและมลภาวะมากกว่าต้องมีการแยกให้ชัดเจน 

แต่ปัญหาเดียวคือคนกรุงเทพจะพูดว่าฉันแยกขยะแล้ว แต่รถขยะกทม.ก็เอาไปเทรวมกันอยู่ดี เพราะใช้รถคันเดียวบีบอัดขยะให้มีปริมาตรน้อย แทนที่จะวิ่งสามเที่ยวก็จะวิ่งเที่ยวเดียว  เราใช้รถแยกขยะปีนึงขาดทุนอยู่ประมาณ 6.5 พันล้าน ต้นทุน 7 พันล้าน เพราะเราเก็บประชาชน 500 ล้าน 

ผมจะเปลี่ยนใหม่ใช้ 2 วิธีคือขยะแยก และ ขยะมักง่าย ใครทิ้งขยะแยกไม่จำเป็นต้องไปเก็บเงินเขา เพราะเราจะได้เงินคืนมา เพราะคนทั้งประเทศแยกขยะกันหมด ส่วนการอัตราการการเก็บเงินค่าขยะจะเก็บในอัตราก้าวหน้าขึ้นไปเรื่อยๆเพื่อให้ทุกคนมาแยกขยะ 

สำหรับอัตราการแยกขยะ อัตราการรีไซเคิลของต่างประเทศ เอาค่าเฉลี่ยทั่วโลกประมาณ 13 % เมืองไทยประมาณ 9 % ประเทศที่แยกขยะได้ดีอย่างประเทศญี่ปุ่น เขาสามารถที่จะแยกขยะพลาสติกกลับมารีไซเคิลได้ ถึง 40% ตรงนี้ต้องเอาตัวเลขมาเป็นต้นแบบ เราต้องสอนตั้งแต่เด็กจนโต จะมีการส่งการบ้านครู กลับบ้านถ่ายรูปแยกขยะ แล้วมาส่งครู เด็กคนที่ไม่มีก็จะกลับไปบอกคุณพ่อคุณแม่ต้องทำนะเพราะหนูอายเพื่อน ทุกบ้านเค้าแยกขยะกันหมดเป็นวิธีง่ายๆที่ให้ชุมชนมาช่วยเราได้ เป็นสิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อนแต่ผมจะทำสิ่งที่ผู้ว่าฯกทม.ไม่เคย

"ปัญหาพื้นสีเขียว"

ตัวเลขพื้นที่สีเขียวตามมาตรฐานที่กำหนดไว้จะต้องมีประมาณ 9 ตารางเมตรต่อคน ของไทยเราบอกว่าเรามีประมาณ 6 ตารางเมตรกว่า แต่ดูจริงๆแล้วเป็นพื้นที่สีเขียวกลางถนนก็เอามาใช้เป็นพื้นที่สีเขียวบนคอนโดก็เอามาใช้ จริงๆแล้วที่ประชาชนเข้าถึงได้ มีประมาณ 1 ตารางเมตรกว่าๆต่อคน ไม่ถึง 2 ตารางเมตร

เป็นสิ่งที่กทม.จำเป็นที่ต้องเข้าไปดูแลแก้ไขถ้าเราต่ำกว่ามาตรฐาน 4-5 เท่า สิ่งที่จะทำกทม.ต้องเข้าไปพัฒนาพื้นที่สีเขียว โดยจะโชว์เคสต่างๆแสดงถึงความเป็นเลิศ เช่นไปพัฒนาสวนลุมพินี ไปพัฒนาคลอง ใช้งบประมาณ 2 ส่วนรวมกันประมาณ 5 พันล้าน

 ปีนี้จะมีการปิดสวนลุมพินีและใช้งบประมาณ 5 -6 พันล้าน แต่ปรากฏว่าพื้นที่อื่นๆที่เหลือ อีก 40 กว่าเขตที่ไม่ได้ไปพัฒนา  มีเงินเหลืออยู่ประมาณ 20 ล้านเพื่อไปพัฒนา เมื่อถามว่าใช้เงินเป็นพันๆล้านเพื่อไปพัฒนาสวนลุมพินีขึ้นมามันเพิ่มพื้นที่สีเขียวสัก 1 ตารางเมตรขึ้นมาไหม มันไม่เพิ่มขึ้นเพราะสวนลุมพินีจะอยู่เท่าเดิม 

เพราะฉะนั้นจะตัดเอาเงินสักส่วนนึง สมมุติว่าสักครึ่งนึง 600 ของปีนี้ สัก 300 ล้านใช้พัฒนาพื้นที่สีเขียวผมจะทำอย่างสนามบินสุวรรณภูมิ พื้นที่สีเขียวอย่างสนามจักรยานที่ทำ ด้วยการคุยและขอความร่วมมือจากหน่วยงานรัฐบาลอื่นๆ พื้นที่ของกทม.เอง พื้นที่ของรัฐวิสาหกิจ เหมือนพื้นที่ของสุวรรณภูมิ และ พื้นที่ของเอกชน  เนื่องจากเอกชนมีพื้นที่เยอะแต่ละปีเขาใช้งบประมาณในการทำ CSR พันๆล้า หากเราไปพูดคุยประสานงานให้เอกชนลงทุนแล้วติดป้ายให้เป็นผู้สนับสนุน เหมือนสวนชูวิทย์ เราก็จะได้พื้นที่สีเขียวเพิ่มขึ้น 

ในส่วนต่อเนื่องจากเรื่องขยะผมว่าเรื่องการบริหารจัดการขยะที่ดี ทำไมคำว่าอ่อนนุชถึงอยู่ในหัวของคน อยู่ในหัวของผู้ว่าฯกทม.ว่าต้องแปลว่าที่ทิ้งขยะ พื้นที่ขยะ 500-600 ไร่ ถ้าเกิดว่าถ้าเรามาทำบริหารจัดการขยะที่ดีผมว่าผมสามารถคืนพื้นที่อ่อนนุชที่มีกลิ่นเหม็นของขยะให้กลายเป็นพื้นที่สวนสาธารณะ ที่คนสามารถเข้ามาใช้งานได้ แล้วเงินจากการพัฒนา 500 ไร่ เราใช้สัก 300 ไร่เป็นสวนลุมฯ 2 อีก 200 ไร่ให้เอกชนเข้ามาพัฒนาร่วมลงทุน จะมีเงินไปพัฒนาโรงขยะที่ได้มาตรฐานในชานเมือง เดี๋ยวนี้อ่อนนุชไม่ใช่ชานเมืองแล้ว อ่อนนุชคือใจกลางเมือง เราต้องรักษามลภาวะ รักษาสภาพแวดล้อมของเมืองที่ดี ที่กทม.ควรจะต้องทำและทำมานานแล้ว

 

"ปัญหาชุมชนแออัด"

การพัฒนาเมืองชุมชนแออัด ชุมชนแออัดที่ใหญ่ที่สุดคือชุมชนคลองเตยที่ดินเป็นของการท่าเรือ ส่วนใหญ่ติดแม่น้ำเจ้าพระยามีประมาณร่วมสัก 2 พันไร่ และหน่วยงานราชการที่โดนบุกรุกอยู่บริเวณนั้น พื้นที่คลองเตยมีอยู่ 3 ส่วน มีสุขุมวิทอยู่ด้านบน ถนนพระราม 4 อยู่ตรงกลาง และ ชุมชนแออัดอยู่ด้านล่างซึ่งเป็นพื้นที่ของการท่าเรือ ทุกวันนี้คนอยู่ในชุมชนนี้มากัน 60-70 ปี และก็ไม่สามารถไปไล่ที่เขาได้ โดยหลักมนุษยธรรมและหลักการต่างๆ ไม่สามารถที่จะไล่เขาออกได้ ปล่อยให้คาราคาซังที่ดินของท่าเรือทั้งหมด 2 พันไร่ ไม่สามารถที่จะพัฒนาได้ ปัจจุบันการขนส่งมันเปลี่ยนแปลงท่าเรือไปใช้ที่แหลมฉบังเป็นหลัก แล้วก็ส่งมาที่ใจกลางที่กรุงเทพมหานคร 

เฉพาะนั้นสัดส่วนของท่าเรือสามารถเล็กลงได้  ถ้าเราจะพูดถึงระบบการพัฒนาผังเมืองให้ดี ว่าเราจะทำอย่างไร ผมมองว่าท่าเรือต้องมาคิดครับว่าสิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้ว่าจะไล่คนที่อยู่ในชุมชนออกไปข้างนอกไปสร้างบ้านให้เค้า ไปอยู่หนองจอก ลาดกระบัง มีนบุรี มันทำไม่ได้ เพราะคนเหล่านั้นก็จะกลับเข้ามาใหม่ เพราะเขาต้องทำงานที่นี่ ให้เดินทางกลับมาเขาไม่คุ้มค่ารถ เพราะฉะนั้นคนที่อยู่ในชุมชนคนยากคนจนเนี่ย เป็นบุคลากรที่จำเป็นในเมืองหลวง ทุกเมืองต้องมีถ้าไม่มี จะไม่มีคนทำงานด้านแรงงานราคาถูก เราต้องมีที่อยู่ให้เขา จากประชากรทั้งหมด ที่อยู่ในชุมชนแออัดถ้าท่าเรือจัดสรรให้ดีท่าเรือสามารถตัดพื้นที่ 300-400 ไร่ก็พอ ทำให้คุณภาพเขาดีขึ้น ไม่ต้องไปเก็บเงินเก็บทองชาวบ้าน ที่ตรงนี้ให้ชาวบ้านอยู่ไป ทำที่ให้ดี ที่เหลือ 1500 ไร่ สามารถนำมาพัฒนา 

นอกจากนี้พื้นที่คลองเตยมีสามส่วนมีสุขุมวิท พระราม 4 ท่าเรือ ตอนนี้สุขุมวิทราคาที่ดินตารางวานึง 2 ล้าน อย่างที่ผมว่าสามารถพัฒนาพื้นที่ทั้งหมดได้ ในส่วน 1500 ไร่ เป็นท่าเรือใช้สัก 300-400 ไร่ ที่เหลืออีกพันกว่า เราเอามาพัฒนาจะเป็นที่ดินที่มีราคาสูงกว่าสุขุมวิทเพราะเป็นที่ติดแม่น้ำ สามารถทำให้เจริญได้ เมืองก็เจริญได้ คนยากคนจนก็มีที่อยู่ใกล้กับพื้นที่ทำงานของเขา แต่เขาไม่มีความไว้วางใจภาครัฐ เวลาไล่รื้อก็ให้ไปอยู่ไกลๆ ไม่สามารถกลับมาทำงานได้ เขาไม่มีความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัย ตรงนี้ถ้าเราเข้าใจคุยกับชาวบ้าน รับฟังเสียงของประชาชนอย่างแท้จริงเราจะรู้ว่าปัญหาแก้ไขอย่างไร และ เมืองสามารถพัฒนาได้อย่างไร มันเป็นการคิดนอกกรอบ กทม.ต้องพัฒนาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาทำให้สำเร็จ 

คุณจะทำอะไรใน 100 วันแรกหลังรับตำแหน่ง?

น.ต.ศิธา  กล่าวว่า  ตั้งแต่วันแรกที่เข้าไปผมจะเป็นผู้ว่าฯกทม. ที่ตัวเล็กที่สุดที่เคยมีมา ผมเข้าไปถึงจะปรับชุดความคิด ของข้าราชการกทม.โดยมีการปฐมนิเทศอยู่แล้ว ก็จะปฐมนิเทศข้าราชการที่อยู่ตรงหน้าและทุกหน่วยงาน เปลี่ยนชุดความคิดข้าราชการกทม.ให้เป็นต้นแบบของข้าราชการประเทศไทยทั้งหมด ด้วยการให้ประชาชนเป็นผู้ที่ตัดสินใจ ประชาชนจะเป็นคนกำหนดนโยบายต่างๆที่เกิดขึ้นกับกทม.นอกเหนือจากการที่เรามีผู้ว่าฯจากการเลือกตั้ง ส.ก. จากการเลือกตั้ง ผมจะทำให้ ข้าราชการกทม.เป็นข้ารับใช้ประชาชนอย่างแท้จริง จะเปลี่ยนชุดความคิดจากข้าราชการระบบอุปถัมภ์ ที่ทำงานเพื่อเอาใจผู้ใหญ่ เพื่อให้ผู้ใหญ่มาโปรโมทตัวเอง เพื่อตำแหน่งสูงขึ้น กลายเป็นการหันหน้าเข้าหาประชาชน และ การที่จะมาเลื่อน ลด ปลดย้าย ข้าราชการ ผมจะมีระบบที่ใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ระบบที่ใช้สภาชุมชน ในการที่จะช่วยผู้ว่าฯ ผอ.เขต ตลอดจนข้าราชการชั้นผู้น้อยของกทม. สิ่งนี้จะทำตั้งแต่วันแรก ข้าราชการจะต้องเป็นข้าราชการที่รับใช้ประชาชน ในการทำประโยชน์ให้กับพี่น้องประชาชนเป็นตัวตั้ง  ใน 7 วันแรกสิ่งที่ผมจะทำคือเทสระบบระบายน้ำทั้งหมดของกทม. ผมจะเดรนน้ำออกจากคลองที่เป็นที่รองรับน้ำเป็นแก้มลิงธรรมชาติ และ จะดูงบประมาณ ที่คุณใช้ลอกท่อปีนึงเป็นร้อยล้านปีนึงคุณได้ใช้ อย่างคุ้มค่าหรือไม่ และ มั่นใจว่าผมสามารถทำให้ระบบระบายน้ำดีขึ้นกว่า 50%  งานอื่นทางด้านขยะ ปัญหาระบบจราจรเราสามารถเข้าไปทำได้ทันที โดยใช้เทคโนโลยีเข้าไปจับ แก้ปัญหาได้อย่างน้อยก็ 10-20% ทั้งหมดจะค่อยๆดีขึ้นเรื่อยๆใน 3 เดือน หรือ 6 เดือนตลอดจน 1 ปีข้างหน้า 

"สมาร์ทซิตี้คืออะไรในใจผู้สมัครฯ และต้องทำอย่างไรให้ไปถึงจุดนั้น?

น.ต.ศิธา  ระบุว่า สมาร์ทชิตี้มองได้ในหลายส่วน อย่างแรกคือเรื่องการจราจร จะใช้เอไอเข้ามาควบคุม ต้องเรียนตามตรงว่าการทำให้ดีที่สุดเรื่องรถยนต์เราเยอะ เรื่องผังเมืองที่เรามาวางมาแบบนี้อยู่แล้ว เราไม่ได้มีถนนที่ใหญ่ขนาดวิภาวดี หรือถนนราชดำเนินไปทั้งกรุงเทพ และขยายไม่ได้มากเพราะราคาที่ดินสูงขึ้นหมดแล้ว เพราะฉะนั้น เราต้องใช้ระบบสมาร์ทเข้ามามาช่วยการปล่อยรถ สามารถถ่ายปล่อยในจุดที่ควรจะปล่อยให้ได้มากที่สุด ก็จะสามารถบรรเทาเบาบางได้ 10% 

หมายความว่าถ้าเดิมเป็นระยะเวลา 45 นาที ก็เหลือ 40 นาที ก็ไม่ได้มากจริงๆต้องไปแก้ที่ระบบใหญ่คือระบบรถไฟฟ้า ขนส่งมวลชนประเภทอื่น จะต้องมีความสมาร์ทในเรื่องของการเป็นซิตี้ กับ นิวอีโคโนมี การบริหารจัดการเรื่องการใช้กฏหมายต่างๆ ที่จะมาบล็อกการไม่เป็นมิตรกับธุรกิจเหล่านี้ ต้องเข้าไปแก้ไขในส่วนของที่กทม.ทำได้ ในเรื่องการใช้บริการต่างๆ เพื่อให้คนต่างชาติทั้งหมดเข้ามาทำงานจากกรุงเทพฯให้ได้ ถ้าเราสามารถจะทำตรงนี้ในเรื่องของการอำนวยความสะดวกของเรื่องไวไฟ ผมเคยทำเรื่องฟรีไวไฟที่สนามบินสุวรรณภุมิรองรับคนได้โดยไม่ต้องเสียตังค์เลย เพราะเอาเอกชนมาร่วม เราจะสามารถเข้าถึงข้อมูลต่างๆจากที่คนที่ไปใช้บริการจากเขา ในเรื่องต่างๆอย่างการรักษาพยาบาล อสส.ที่เคยทำได้แค่วัดไข้จ่ายยาพาราเซตามอลให้ชาวบ้าน เราสามารถใช้สมาร์ททูลของหมอไปติดตั้งในชุมชนเพื่อให้คำปรึกษาได้ก็เป็นเรื่องที่ต้องทำ

สามารถรับชมเทปบันทึกออกอากาศทาง TNN ช่อง 16 ในวันอาทิตย์ที่ 15 พฤษภาคม เวลา 15.30-17.00 น.


ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง