รีเซต

ศบค.เผยกรุงเทพฯ-ปริมณฑล ติดโควิดกักตัวในบ้านอีก 6,121 ราย

ศบค.เผยกรุงเทพฯ-ปริมณฑล ติดโควิดกักตัวในบ้านอีก 6,121 ราย
มติชน
13 พฤษภาคม 2564 ( 14:11 )
66

เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)(ศบค.) เปิดเผยระหว่างแถลงสถานการณ์โรคโควิด-19 ที่ทำเนียบรัฐบาล ว่า ในที่ประชุมศูนย์บูรณาการแก้ไขโควิด-19 วิเคราะห์ตัวเลข พบว่า ตัวเลขผู้ป่วยใหม่วันนี้ อยู่ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล สูงถึง 1,524 ราย ส่วนจังหวัดอื่นๆ ทั่วประเทศรวมกันได้แค่ 512 ราย คิดเป็น 1 ใน 3 จากทั้งหมด ซึ่งต้องดูมาตรการรายวัน โดยสรุป กรุงเทพฯ และปริมณฑล มีการระบาดที่คงตัว แต่แนวโน้มไม่ลดลง ยังพบผู้ป่วยอาการหนักและใส่ท่อช่วยหายใจเพิ่มขึ้น เป็นที่มาของ “โรงพยาบาลบุษราคัม” โดยกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ที่ดูแลผู้ป่วยกลุ่มสีเหลือง หรือ ไอซียู ดูแลผู้ป่วยกลุ่มสีแดง

 

 

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้สแกนภาพพื้นที่รายเขตที่พบผู้ติดเชื้อ พบว่า เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย และเขตดินแดง ยังมีการระบาดในชุมชนจำนวนมาก ส่วนเขตสัมพันธวงศ์ เป็นการระบาดในตลาด นอกจากนั้น ยังมีการระบาดในออฟฟิศคอลเซ็นเตอร์ ในเขตราชเทวีด้วย ขณะที่ เขตที่ยังมีความเข้มข้นของการระบาด 11 เขต ได้แก่ เขตดินแดง เขตสวนหลวง เขตวัฒนา เขตลาดพร้าว เขตคลองเตย เขตจตุจักร เขตหลักสี่ เขตพระนคร เขตดุสิต เขตราชเทวี และ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย ที่เป็นพื้นที่เฝ้าระวังการติดเชื้อแบบต่อเนื่อง ส่วนอีก 4 เขต ที่มีแนวโน้มควบคุมการระบาดได้ ได้แก่ 1.ชุมชนวัดโสมนัส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย 2.ชุมชนบ่อนไก่ เขตปทุมวัน 3.ย่านสำเพ็ง เขตสัมพันธ์วงศ์ และ 4.เขตสาทร

 

 

“การตรวจพบผู้ติดเชื้อในกรุงเทพฯ จะมีกลุ่มเสี่ยงที่เป็นคนยังไม่ติดเชื้อ โดยนำเข้า 1.โรงแรมสถานกักกันโรค(SQ) รายใหม่ 52 ราย สะสม 226 ราย และ 2.กักตัวที่บ้าน (Home Quarantine) รายใหม่ 2,120 ราย สะสม 6,121 ราย ขอให้ทุกคนที่อยู่ในการกักตัวให้ความสำคัญสูงสุดร่วมมือกับสำนักอนามัย กทม. เพราะ 14 วัน ที่ต้องแยกตัวอยู่ที่บ้าน ก็เป็นการปรับยุทธศาสตร์อำนวยความสะดวกให้ท่านระดับหนึ่ง แต่หากท่านไม่อยู่บ้านนำเชื้อออกไปก็จะเกิดความเสี่ยง และหากพบว่า เปลี่ยนจากเป็นกลุ่มเสี่ยงกลายเป็นติดเชื้อ ต้องรีบมาพบแพทย์” นพ.ทวีศิลป์ กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง