รีเซต

"โรคลืมใบหน้า" เกิดจากสาเหตุอะไร? จำไม่ได้แม้แต่คนใกล้ตัว

"โรคลืมใบหน้า" เกิดจากสาเหตุอะไร? จำไม่ได้แม้แต่คนใกล้ตัว
TNN ช่อง16
14 กรกฎาคม 2565 ( 11:58 )
152

วันนี้( 14 ก.ค.65) นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่าสมองเป็นอวัยวะที่มีสมรรถภาพหลากหลาย โดยเฉพาะด้านการรับสัมผัสสิ่งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นรูป เสียง กลิ่น รส และการรับรู้ นอกจากนั้นสมองยังมีหน้าที่ในการประมวลผลเพื่อแปลสิ่งที่สัมผัสให้ซับซ้อนมากยิ่งขึ้น ดังนั้นหากเกิดรอยโรคที่ทำให้เสียการทำงานของสมอง นอกจากเราอาจจะเสียความสามารถในการรับรู้สิ่งต่างๆ เช่น การมองเห็นแล้ว เราอาจจะสูญเสียความสามารถในการรับรู้สิ่งที่ซับซ้อนเฉพาะเจาะจงมากขึ้น เช่น เสียการรับรู้สี เสียการรับรู้ทิศทางรอบตัว หรือแม้กระทั่งเสียการรับรู้หรือจดจำใบหน้าคนไม่ได้ ภาวะเสียการรับรู้หรือจดจำใบหน้าคนไม่ได้ 


เป็นภาวะที่ผู้ป่วยจะมีปัญหาด้านการรับรู้หรือจดจำใบหน้าผู้คนผู้ที่ป่วยเป็นภาวะนี้อาจเกิดจากการเสียหายของสมองได้สองส่วน คือ สมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับการรับรู้ภาพใบหน้าผู้คนโดยตรง หรือสมองส่วนที่เป็นคลังความจำภาพใบหน้าที่เคยเห็นมาในอดีต โดยสมองทั้งสองส่วนจะทำงานโดดเด่นในสมองซีกขวาในคนส่วนใหญ่ที่ถนัดขวา (แตกต่างจากการใช้ภาษาที่อยู่ซีกซ้าย) ทำให้เมื่อเกิดการบาดเจ็บใดๆในสมองซีกขวา ไม่ว่าจะเป็นการเกิดหลอดเลือดสมองตีบหรือแตก การติดเชื้อ การอักเสบจากภาวะแพ้ภูมิตนเอง เนื้องอกสมอง อุบัติเหตุทางสมอง หรือแม้กระทั่งสมองเสื่อมบางชนิด ก็มีโอกาสทำให้เกิดภาวะนี้ได้ทั้งสิ้น          


นายแพทย์ธนินทร์ เวชชาภินันท์ ผู้อำนวยการสถาบันประสาทวิทยา กล่าวเพิ่มเติมว่า ภาวะจดจำใบหน้าไม่ได้ แบ่งได้ออกเป็น 2 ประเภท คือ 

1. ภาวะจดจำใบหน้าไม่ได้ ที่เป็นมาแต่กำเนิด ซึ่งผู้ป่วยกลุ่มนี้จะมีอาการตั้งแต่เด็ก ทำให้จดจำใบหน้าคนได้ล่าช้าแต่พัฒนาการส่วนอื่นมักจะปกติ 

2.ภาวะจดจำใบหน้าไม่ได้ที่เป็นภายหลัง ซึ่งเกิดจากการบาดเจ็บของสมองที่มักเป็นซีกขวา เกิดในวัยผู้ใหญ่ อาการหลักคือ ผู้ป่วยจะจดจำใบหน้าคนไม่ได้ แม้เป็นคนที่ผู้ป่วยรู้จักมักคุ้นมาก่อน เช่น ญาติพี่น้องที่ใกล้ชิด โดยมักจะยังจำเกี่ยวกับตัวตนบุคคลนั้นได้โดยการเล่าจากลักษณะต่างๆให้ฟัง หรืออาจคาดเดาจากเสียง ท่าเดิน หรือลักษณะการแต่งตัวได้ 


หากสงสัยว่ามีคนใกล้ชิดมีภาวะจดจำใบหน้าไม่ได้ หรือมีความผิดปกติด้านการมองเห็นอื่นๆร่วมด้วย ควรรีบพาไปพบแพทย์ทันที เพื่อประเมินอาการ ตรวจวัดระดับสายตา ลานสายตา ตรวจวัดการมองเห็น ทำแบบทดสอบสมรรถภาพสมอง และตรวจภาพถ่ายรังสีสมอง เพื่อวินิจฉัยสาเหตุ และอาจพิจารณาส่งปรึกษาแพทย์ประสาทวิทยาเพื่อให้การประเมินเพิ่มเติม สำหรับการรักษาจะเน้นการรักษาตามสาเหตุเป็นหลัก เช่น การผ่าตัดเลือดออกในสมองหรือเนื้องอก การให้ยาต้านอักเสบหรือฆ่าเชื้อ ในกรณีเกิดจากสาเหตุแต่กำเนิดหรือสมองเสื่อม  จะเน้นรักษาตามอาการโดยการฝึกจดจำใบหน้าโดยนักกิจกรรมบำบัด เป็นต้น     


ภาพจาก กรมการแพทย์

 






ที่มา กรมการแพทย์

ภาพจาก AFP

ข่าวที่เกี่ยวข้อง