อึ้ง! สถิติ ใช้ความรุนแรง ใน รพ. พบ 8 ปี เกิดเหตุ 51 ครั้ง
เมื่อพื้นที่ปลอดภัย กลายเป็นพื้นที่เสี่ยงภัย! หลังเกิดเหตุการณ์ซ้ำซากของคนหัวร้อนนับสิบยกขับรถกระบะ ก่อนยกพวกพร้อมอาวุธครบมือบุกโรงพยาบาลอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น หวังตามทำร้าย 3 คู่อริ
จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นว่า คนไทยมีอารมณ์รุนแรงมากขึ้น และแต่ละเหตุการณ์ที่ปรากฎเป็นภาพข่าว มักจะเกิดในพื้นที่สาธารณะ รวมทั้ง "โรงพยาบาลภาครัฐ" ด้วย โดยข้อมูลย้อนหลัง 7 ปี เกี่ยวกับสถานการณ์ความรุนแรงในสถานพยาบาล สังกัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ตั้งแต่ปี 2555 - 2562 พบว่า มี 51 เหตุการณ์ ดังนี้
- การทะเลาะวิวาท 18 เหตุการณ์
- ทำร้ายเจ้าหน้าที่ 19 เหตุการณ์
- ทำลายทรัพย์สิน 1 เหตุการณ์
- ก่อความไม่สงบ 1 เหตุการณ์
- กระโดดตึก 6 เหตุการณ์
- อื่น ๆ 6 เหตุการณ์
ซึ่งการใช้ความรุนแรงส่งผลให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุข เสียชีวิต 3 ราย บาดเจ็บ 13 ราย ขณะที่ ประชาชน เสียชีวิต 7 ราย บาดเจ็บ 43 ราย และเมื่อแยกเป็นรายปีและรายเขตสุขภาพ พบว่า
- ปี 2555 และ ปี 2557 ทั่วประเทศเกิดเหตุเพียง 1 ครั้ง
- ปี 2556 ไม่เกิดเหตุ
- ปี 2558 เกิดเหตุ 7 ครั้ง
- ปี 2559 เกิดเหตุ 4 ครั้ง
- ปี 2560 เกิดเหตุ 10 ครั้ง
- ปี 2561 เกิดเหตุ 17 ครั้ง
- และช่วง 4 เดือนของปี 2562 เกิดเหตุแล้ว 11 ครั้ง
ตัวเลขเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า พื้นที่ปลอดภัยอย่างโรงพยาบาลภาครัฐ กลายเป็นพื้นที่เสี่ยงภัยต่อผู้ป่วย บุคลากรทางการแพทย์ หน่วยรักษาพยาบาล รวมทั้งทรัพย์สินต่าง ๆ ภายในโรงพยาบาล
ขณะที่ รูปแบบการใช้ความรุนแรง ที่เกิดขึ้นในโรงพยาบาลนั้น มาทั้งจากผู้ป่วยและญาติ ที่มีอารมณ์ความรุนแรง ก้าวร้าว คุกคาม ทั้งการใช้คำพูด การทำร้ายร่างกาย เหมารวมไปถึงการทำลายอุปกรณ์ทางการแพทย์ ในที่สุด
และข่าวที่ปรากฎในช่วงที่ผ่านมา มักจะเห็น การใช้ความรุนแรง เกิดขึ้นที่ห้องฉุกเฉิน เพราะเป็นด่านหน้าที่ผู้ป่วยทุกคนต้องเข้ามากองอยู่ในห้องฉุกเฉินเกือบทั้งหมด นี่จึงทำให้พื้นที่ปลอดภัย กลายเป็นพื้นที่เสี่ยงภัยในทันที และเหตุการร์ล่าสุดกลายเป็นความซ้ำซากที่สร้างความบอบช้ำให้คนในสังคม
ชนวนเหตุอะไร ? ทำคนไทยหัวร้อนเพิ่มขึ้น
เมื่อค้นหาข้อมูลพบเหตุผลที่คนไทยหัวร้อนนั้น เกิดขึ้นได้จาก 3 ปัจจัยหลัก สาเหตุแรก ๆ ที่ทำให้คนในสังคมมีอารมณ์ฉุนเฉียว นั่นคือ ความเครียดและความกดดัน มาจากปัญหาการทำงาน การเรียน และครอบครัว จะมากจะน้อยก็ขึ้นอยู่กับแต่ละคนที่พบเจอปัญหาให้ปะทุออกมา
ส่วนสาเหตุที่สองคือ สภาวะภายในจิตใจ ณ เวลาเกิดเหตุ หรือการอยู่ในสภาพแวดล้อมที่สามารถสร้างแรงจูงใจให้คนไทยเกิดอารมณ์ร้อนได้
สุดท้าย สารเสพติดและแอลกอฮอล์ มักจะพบว่า ผู้ที่มีสารเสพติดในร่างกายหรือดื่มแอลกอฮอล์ เป็นไปได้ที่จะขาดความสามารถในการควบคุมตนเอง ยกตัวอย่างหากเกิดเหตุการณ์ต่าง ๆ เช่น เกิดปากเสียงกับคู่กรณี ลามจนถึงขั้นทำร้ายร่างกาย และนี่คือสาเหตุหลัก ๆ ที่ทำให้คนเกิดอาการหัวร้อนได้
จัดการ คนหัวร้อนอย่างไรดี ? ลดการใช้ความรุนแรง
การใช้ความรุนแรง ในสถานที่ราชการนั้น ถือเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง แต่ที่ผ่านมายังไม่มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเอาจริงเอาจัง และมักจะใช้การประนีประนอม ไกล่เกลี่ย และจบด้วยการคนทำผิดถือกระเช้าดอกไม้ พร้อมยกมือไหว้ กล่าวคำ ขอโทษ
และบางกรณีแม้จะใช้บทลงโทษอย่างหนัก แต่ยังถือว่าน้อยมาก ๆ ซึ่งการจัดการปัญหาการใช้ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในโรงพยาบาลนั้น
ทางออกที่ดีที่สุดคือ การบังคับใช้กฎหมายที่ทุกหน่วยงาน ทั้งผู้บริหารที่ต้องปกป้องบุคลากรทางการแพทย์ เจ้าพนักงานตำรวจ อัยการ และศาล เพื่อหาแนวทางในการป้องกันให้พื้นที่เสี่ยงภัยกลับมาเป็น "พื้นที่ปลอดภัย"
ข้อมูล : PPTV , กรมสุขภาพจิต