รีเซต

คนที่ฉีดวัคซีนแล้วติดเชื้อโควิด เสี่ยงเกิดภาวะ Long COVID แค่ไหน?

คนที่ฉีดวัคซีนแล้วติดเชื้อโควิด เสี่ยงเกิดภาวะ Long COVID แค่ไหน?
TNN ช่อง16
26 พฤษภาคม 2565 ( 07:54 )
76
คนที่ฉีดวัคซีนแล้วติดเชื้อโควิด เสี่ยงเกิดภาวะ Long COVID แค่ไหน?

วันนี้ (26 พ.ค.65) รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก “Thira Woratanarat” โดยระบุว่า 26 พฤษภาคม 2565...

เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 532,571 คน ตายเพิ่ม 1,265 คน รวมแล้วติดไปรวม 529,430,127 คน เสียชีวิตรวม 6,305,358 คน

5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ เกาหลีเหนือ ไต้หวัน สหรัฐอเมริกา เยอรมัน และออสเตรเลีย

เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 7 ใน 10 อันดับแรก และ 14 ใน 20 อันดับแรกของโลก

จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 74.57 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 66.4

การติดเชื้อใหม่ในทวีปเอเชียนั้นคิดเป็นร้อยละ 52.45 ของทั้งโลก ส่วนจำนวนเสียชีวิตเพิ่มคิดเป็นร้อยละ 15.33

...สถานการณ์ระบาดของไทย

จากข้อมูล Worldometer เช้านี้พบว่า

เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่ รวม ATK สูงเป็นอันดับ 10 ของโลก และอันดับ 5 ของเอเชีย

ในขณะที่จำนวนเสียชีวิตเมื่อวาน สูงเป็นอันดับ 12 ของโลก ถึงแม้สธ.ไทยจะปรับระบบรายงานตั้งแต่ 1 พ.ค.เป็นต้นมาจนทำให้จำนวนที่รายงานนั้นลดลงไปก็ตาม

ทั้งนี้จำนวนเสียชีวิตของไทยเมื่อวานคิดเป็น 17.01% ของการเสียชีวิตทั้งหมดที่รายงานของทวีปเอเชีย

...คนที่ฉีดวัคซีนแล้วเกิดติดเชื้อโควิดขึ้นมานั้นเสี่ยง Long COVID แค่ไหน?

ล่าสุด งานวิจัยขนาดใหญ่จากประเทศสหรัฐอเมริกา ตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารการแพทย์ระดับสากล Nature Medicine เมื่อวานนี้ 25 พฤษภาคม 2565

ศึกษาในประชากรที่เคยฉีดวัคซีนมาก่อน แล้วเกิดติดเชื้อโรคโควิด-19 จำนวนถึง 33,940 คน เปรียบเทียบกับกลุ่มประชากรที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนและไม่ได้ติดเชื้อ จำนวน 2.56 ล้านคน และกลุ่มประชากรที่ฉีดวัคซีนและไม่ได้ติดเชื้ออีก 10.7 ล้านคน

ประเมินดูอัตราการเกิดภาวะ Long COVID รวมถึงผลลัพธ์ทางสุขภาพอื่นๆ ณ 6 เดือนหลังจากเกิดการติดเชื้อ

สาระสำคัญที่พบคือ

1. การฉีดวัคซีนนั้นลดความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะ Long COVID ได้ 15% 

ทั้งนี้ ผลที่ค้นพบจากการศึกษาขนาดใหญ่ครั้งนี้ ถือว่าน้อยกว่าที่การศึกษาอื่นในช่วงที่ผ่านมาอย่างมาก เพราะการศึกษาก่อนๆ เคยประเมินว่าลดความเสี่ยงได้ราว 41% ขึ้นอยู่กับชนิดของวัคซีน โดยวัคซีน mRNA จะสามารถลดความเสี่ยงได้มากกว่าวัคซีนประเภท viral vector

2. การฉีดวัคซีนนั้นจะช่วยลดโอกาสเสียชีวิตจากการติดเชื้อได้ราว 34% เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้ฉีดวัคซีน

3. แม้จะฉีดวัคซีนไปแล้ว แต่หากติดเชื้อขึ้นมา ก็ยังทำให้มีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิต ณ 6 เดือน สูงกว่าคนที่ไม่ได้ติดเชื้อ 1.75 เท่า และทำให้มีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะผิดปกติของระบบต่างๆ ในร่างกายจาก Long COVID สูงกว่ากลุ่มคนที่ไม่ได้ติดเชื้อ 1.5 เท่า  

...ผลการศึกษานี้ สะท้อนให้เราตระหนักถึงความสำคัญในการป้องกันตัว แม้ฉีดวัคซีนไปแล้ว แต่ช่วยลดความเสี่ยงของ Long COVID ได้ไม่มากนัก การใส่หน้ากากอย่างสม่ำเสมอยังเป็นเรื่องจำเป็น

Health consciousness หรือความใส่ใจต่อสุขภาพ สวัสดิภาพ และความปลอดภัยในชีวิตของตนเองและครอบครัว เป็นเรื่องสำคัญที่จะช่วยประคับประคองให้เราอยู่รอดในสถานการณ์ระบาดที่ยังเป็นไปอย่างต่อเนื่อง

ไม่ควรหลงตามกิเลส ใช้สติและปัญญาในการตัดสินใจประพฤติปฏิบัติตัว

อ้างอิง

Al-Aly, Z., Bowe, B. & Xie, Y. Long COVID after breakthrough SARS-CoV-2 infection. Nat Med. 25 May 2022.




ข้อมูลจาก รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์

ภาพจาก TNN ONLINE

ข่าวที่เกี่ยวข้อง