รีเซต

โควิด-19 : รัสเซียส่งมอบวัคซีนสปุตนิก วี ล่าช้า กระทบสาธารณสุขในหลายประเทศ

โควิด-19 : รัสเซียส่งมอบวัคซีนสปุตนิก วี ล่าช้า กระทบสาธารณสุขในหลายประเทศ
ข่าวสด
30 กรกฎาคม 2564 ( 13:55 )
91

 

ระบบสาธารณสุขในประเทศกำลังพัฒนาและพัฒนาแล้วหลายแห่งกำลังปั่นป่วน หลังจากทุ่มงบสั่งซื้อวัคซีนต้านโควิด "สปุตนิก วี" (Sputnik V) จากรัฐบาลรัสเซียเพื่อเร่งให้วัคซีนแก่ประชาชน แต่กลับพบปัญหาการส่งมอบที่ล่าช้า

 

 

รายงานข่าวหลายชิ้นจากทั่วโลกระบุว่า แองโกลา อาร์เจนตินา เลโซโท เซอร์เบีย และอีกหลายประเทศได้รับความช่วยเหลือให้ทำสัญญาซื้อวัคซีนสปุตนิก วี จำนวนหลายล้านโดสจากรัสเซียหลังจากกระทรวงสาธารณสุขรัสเซียขึ้นทะเบียนใช้งานวัคซีนนี้เมื่อเดือน ส.ค. ปี 2020 ในฐานะวัคซีนต้านโควิด-19 ชนิดแรกของโลก

 

 

 

จนถึงเดือน มี.ค. ปี 2021 นายคิริลล์ ดมิทรีเยฟ หัวหน้ากองทุนการลงทุนโดยตรงของรัสเซีย (Russian Direct Investment Fund หรือ RDIF) องค์กรในสังกัดรัฐบาลรัสเซียที่ให้ความช่วยเหลือด้านการเงินแก่โครงการพัฒนาสปุตนิก วี ยังระบุว่า รัสเซียมี "ศักยภาพในการผลิตวัคซีนให้แก่ผู้คน 700 ล้านคนนอกประเทศรัสเซียในปีนี้"

 

 

แต่จนถึงเดือน ก.ค. หลายประเทศได้ออกมาเปิดเผยว่าได้รับการส่งมอบวัคซีนชนิดนี้ในสัดส่วนที่เล็กน้อยจากยอดที่ได้สั่งซื้อไปกับรัสเซีย

 

 

ปัญหานี้ยิ่งซับซ้อนขึ้นไปอีก จากการที่สปุตนิก วี เป็นวัคซีนที่ต้องได้รับการฉีด 2 โดส ดังนั้นการที่รัสเซียส่งมอบวัคซีนโดสที่สองได้ไม่ทันกำหนด ก็อาจทำให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพของผู้ที่ได้รับวัคซีนโดสแรกไปแล้ว

 

 

ลาตินอเมริกา : วัคซีนที่ยังขาดหายไปอีกหลายล้านโดส

เมื่อปลายเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา กัวเตมาลาออกมาเปิดเผยว่าได้รับวัคซีนที่สั่งซื้อจากรัสเซียไม่ครบจำนวน นี่นับเป็นสัญญาณแรก ๆ ที่แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลรัสเซียไม่สามารถทำตามคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้กับประเทศในภูมิภาคนี้ได้

 

 

รัฐบาลกัวเตมาลาได้สั่งซื้อวัคซีนสปุตนิก วี จำนวน 16 ล้านโดสจากรัสเซียเมื่อเดือน เม.ย. และได้จ่ายเงินล่วงหน้าไปกว่า 79 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 2,607 ล้านบาท) สำหรับวัคซีน 8 ล้านโดส

 

 

อย่างไรก็ตาม ข่าวหลายชิ้นระบุว่า จนถึงสิ้นเดือน มิ.ย. รัสเซียกลับส่งมอบวัคซีนให้กัวเตมาลาไปเพียง 150,000 โดส หรือไม่ถึง 2% ของจำนวนที่ได้ตกลงกันไว้

 

 

ปัญหาดังกล่าวส่งผลให้นางมาเรีย อาเมเลีย ฟลอเรส รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขกัวเตมาลา ออกมาเรียกร้องอย่างตรงไปตรงมาให้รัฐบาลรัสเซียคืนเงินที่จ่ายไปล่วงหน้า หรือไม่ก็จัดส่งวัคซีนมาให้ในทันที

 

 

ปัญหารัสเซียส่งมอบวัคซีนให้ไม่ครบจำนวน หรือล่าช้ามาก ยังเกิดขึ้นกับอีกหลายประเทศในภูมิภาคนี้

 

 

 

เมื่อวันที่ 22 ก.ค. ที่ผ่านมา ทางการฮอนดูรัสส่งสัญญาณว่ากำลังวางแผนสำรองในกรณีที่รัสเซียส่งมอบสปุตนิก วี จำนวน 40,000 โดสไม่ตรงตามกรอบเวลาที่ตกลงกันเอาไว้ โดยนายคาร์ลอส มาเดโร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและความมั่นคงทางสังคม ระบุว่า ผู้ขายไม่สามารถส่งวัคซีนได้ตามที่กำหนด

 

 

ขณะที่รัฐบาลโบลิเวียได้ทำสัญญาซื้อสปุตนิก วี 5.2 ล้านโดส เมื่อปลายปี 2020 โดยมีกำหนดรับมอบภายในสิ้นเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา แต่เมื่อถึงเวลาจริงกลับได้รับวัคซีนจากรัสเซียเพียง 745,000 โดส

 

 

หนังสือพิมพ์ปากินา ซิเอเต (Pagina Siete) ของโบลิเวีย รายงานเมื่อวันที่ 30 มิ.ย. ว่าปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นผลมาจาก "การควบคุมและความต้องการซื้อสูง" พร้อมบ่งชี้ว่า รัสเซียอาจให้คำมั่นสัญญาจะขายวัคซีนให้ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกมากเกินกว่าศักยภาพที่จะส่งมอบได้จริง

 

 

เม็กซิโกก็เป็นอีกประเทศที่ประสบปัญหาการส่งมอบวัคซีนที่ล่าช้าจากรัสเซีย

 

 

หนังสือพิมพ์มิเลนิโอ (Milenio) ของเม็กซิโกรายงานเมื่อวันที่ 30 มิ.ย. ว่า เม็กซิโกได้รับส่งมอบวัคซีนสปุตนิก วีไปเพียง 4.1 ล้านโดส จากยอดทั้งหมด 24 ล้านโดสที่ประธานาธิบดีอันเดรส มานูเอล โลเปซ โอบราดอร์ ได้ทำสัญญาสั่งซื้อทางโทรศัพท์กับประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน เมื่อวันที่ 25 ม.ค. ที่ผ่านมา

 

 

แต่กระแสความไม่พอใจมากที่สุดดูเหมือนจะมาจากอาร์เจนตินา โดยหนังสือพิมพ์ลา นาซิออน (La Nacion) รายงานเมื่อวันที่ 22 ก.ค. อ้างอิงข้อมูลจากอีเมลของนางเซซิเลีย นิโคลินี ที่ปรึกษาของประธานาธิบดีอัลเบอร์โต เฟอร์นานเดซ ที่ส่งถึง RDIF ของรัสเซียเกี่ยวกับปัญหาการส่งมอบวัคซีน

 

 

 

โดยเนื้อหาในอีเมลระบุว่ารัฐบาลอาร์เจนตินายังคงรอการส่งมอบสปุตนิก วีโดสที่สองจากรัสเซีย โดยขอให้มีการส่งมอบให้อย่างน้อย 1 ล้านโดสเพื่อนำไปฉีดให้แก่บรรดาผู้สูงอายุในวันที่ 10 และ 11 ก.ค. แต่วัคซีนกลับมาถึงในวันที่ 13 ก.ค. และมีเพียง 550,000 โดสเท่านั้น

 

 

รายงานระบุว่าในขณะนั้นอาร์เจนตินายังคงรอรับวัคซีนโดสแรกจากรัสเซีย 5.5 ล้านโดส และโดสที่สองอีก 13.1 ล้านโดสตามสัญญาซื้อขายที่ได้ทำกันไว้

 

 

ในวันที่ 23 ก.ค. ทำเนียบประนาธิบดีรัสเซียระบุว่า รัสเซียจะแก้ปัญหาการส่งมอบวัคซีนที่ล่าช้าให้อาร์เจนตินา แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือการจัดหาวัคซีนให้เพียงพอกับความต้องการภายในประเทศ

R

การผลิตล่าช้าในหลายประเทศ

นับตั้งแต่ต้นปี 2021 หลายประเทศได้ทำข้อตกลงกับ RDIF ในการผลิตสปุตนิก วี ภายในประเทศ หนึ่งในนั้นคืออินเดีย ที่ตั้งเป้าจะผลิตวัคซีนชนิดนี้ให้ได้หลายร้อยล้านโดสต่อปี แต่ความล่าช้าในการผลิตทำให้หลายประเทศยังต้องพึ่งพาการส่งมอบวัคซีนที่ผลิตในรัสเซียเป็นหลัก

 

 

ในเดือน ก.พ. ทูตอิหร่านประจำกรุงมอสโกบอกกับผู้สื่อข่าวว่าตามข้อตกลงระหว่างสองประเทศ อิหร่านจะได้วัคซีนสปุตนิก วี 5 ล้านโดสใน "ระยะแรก"

 

 

แต่ต่อมามีการแก้ไขตัวเลขนี้ หลังจากสื่อระบุว่าอันที่จริงข้อตกลงดังกล่าวคือ 2 ล้านโดส โดยครึ่งหนึ่งจะได้รับภายในวันที่ 20 มี.ค. แต่จนถึงสิ้นเดือน มี.ค. อิหร่านกลับได้รับวัคซีนทั้งสิ้นเพียง 500,000 โดส

 

 

ช่วงกลางเดือน มิ.ย. ซึ่งเป็นการส่งมอบครั้งที่ 9 อิร่านได้รับวัคซีนจากรัสเซียไปเพียง 920,000 โดส ซึ่งไม่ถึงครึ่งของยอดสั่งซื้อ 2 ล้านโดสตามที่กำหนดไว้ใน "ระยะแรก"

 

 

ข่าวหลายชิ้นระบุว่า รัสเซียไม่สามารถส่งมอบวัคซีนให้ได้ตามสัญญา และใช้วิธีทยอยส่งวัคซีนให้ปริมาณเล็กน้อยในการส่งหลายครั้ง อย่างไรก็ตาม ช่วงปลายเดือน มิ.ย. กระทรวงสาธารณสุขอิหร่านเปิดเผยโครงการร่วมทุนกับรัสเซียเพื่อผลิตสปุตนิก วี ในอิหร่าน และถือเป็นประเทศแรกในตะวันออกกลางที่ทำเช่นนี้

R

การรอคอยที่ยาวนานของแอฟริกา

ในภูมิภาคตอนใต้ทะเลทรายซาฮาราในทวีปแอฟริกา ปัจจัยหลายประการส่งผลให้การกระจายวัคซีนสปุตนิก วีเป็นไปอย่างล่าช้า ทั้งราคาที่สูง การส่งมอบล่าช้า และความไม่เชื่อมั่นในประสิทธิภาพของวัคซีน

 

 

เมื่อวันที่ 19 ก.พ. ทีมจัดการด้านวัคซีนของสหภาพแอฟริกา ระบุว่า รัสเซียได้เสนอจัดหาวัคซีนสปุตนิก วี ให้ 300 ล้านโดส พร้อมกับโครงการช่วยเหลือด้านการเงินแก่ประเทศที่ต้องการสั่งซื้อวัคซีนชนิดนี้

 

 

โดย RDIF ระบุว่า การส่งมอบส่วนใหญ่จะมีขึ้นตั้งแต่เดือน มิ.ย. เป็นต้นไป อย่างไรก็ตามช่วงต้นเดือน ก.ค. กลับมีวัคซีนไปถึงแอฟริกาเพียงเล็กน้อย

 

 

ในวันที่ 2 พ.ค. ประธานาธิบดีนานา อคูโฟ-อัดโด ของกานา ระบุว่าประเทศจะได้รับสปุตนิก วีจำนวน 1.3 ล้านโดสในวันที่ 15 พ.ค. แต่จนถึงวันที่ 16 มิ.ย. ก็ยังไม่มีการส่งมอบวัคซีนให้แก่ประเทศนี้

 

 

ขณะเดียวกันก็มีความกังวลว่าวัคซีนชุดแรก 300,000 โดสที่กานาได้จ่ายเงินซื้อจากรัสเซียไปแล้วนั้น เป็นราคาที่สูงกว่าที่ประเทศอื่นซื้อกันเกือบสองเท่า ส่งผลให้ ส.ส. ฝ่ายค้านเรียกร้องให้มีการสอบสวนเรื่องนี้ โดยกล่าวหาว่าประเทศถูก "ปอกลอก" จากนักธุรกิจต่างชาติ

 

 

ในแองโกลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขระบุเมื่อปลายเดือน มิ.ย. ว่า วัคซีนสปุตนิก วีจำนวนมากถูกส่งมาถึงประเทศอย่าง "รวดเร็ว" ทันเวลาที่จะฉีดให้แก่ผู้ที่ได้รับวัคซีนโดสแรกไปแล้ว แต่ก่อนหน้านี้ในเดือน พ.ค. ประเทศได้รับวัคซีนสปุตนิก วี 40,000 โดส จากยอดสั่งซื้อ 12 ล้านโดส

 

 

ด้านรัฐบาลเลโซโท ไม่อนุมัติให้บริษัทเอกชนจัดซื้อวัคซีนของรัสเซีย โดยระบุว่ายังไม่ได้รับการอนุมัติให้ใช้งานจากองค์การอนามัยโลก โดยก่อนหน้านี้กลุ่มบริษัทเอกชนรายหนึ่งได้ประกาศแผนจัดซื้อสปุตนิก วี 100,000 โดสเพื่อช่วยเสริมแผนรับมือโควิดของรัฐบาล โดยบริษัทได้ระดมทุนกว่า 2.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในการจัดซื้อและจัดจำหน่ายสปุตนิก วี

 

 

วัคซีนรัสเซีย "ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ"

ในปี 2020 ทางการรัสเซียได้ขึ้นทะเบียนการใช้งานสปุตนิก วีตั้งแต่ก่อนจะมีการทดลองทางคลินิกครั้งใหญ่ กระบวนการอนุมัติที่รวดเร็วดังกล่าวได้สร้างความวิตกังวลในหมู่ผู้เชี่ยวชาญหลายคน

 

 

อย่างไรก็ตาม ความเชื่อมั่นได้กลับมาอีกครั้งหลังจาก The Lancet วารสารการแพทย์ชั้นนำได้ตีพิมพ์บทความที่ระบุว่าวัคซีนชนิดนี้มีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพต้านโควิด-19 กว่า 90%

 

 

RDIF ระบุว่า สปุตนิก วี ได้รับการอนุมัติให้ใช้งานได้ใน 68 ประเทศและได้ยื่นขอขึ้นทะเบียนในสหภาพยุโรปด้วย

 

 

เมื่อ 15 ก.ค. กระทรวงการต่างประเทศของไทยแถลงว่า ไทยได้หารือกับรัสเซียเพื่อขอจัดหาวัคซีนสปุตนิก วี โดยนายกรัฐมนตรีได้มีหนังสือขอรับการสนับสนุนวัคซีนจากประธานาธิบดีรัสเซีย และเอกอัครราชทูต ณ กรุงมอสโกได้ติดตามเรื่องนี้ ปัจจุบัน บริษัทผู้แทนนำเข้าวัคซีนสปุตนิก วี ในไทย อยู่ระหว่างยื่นเอกสารขอขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และกระทรวงการต่างประเทศและสถาบันวัคซีนแห่งชาติอยู่ในขั้นตอนการประสานงานกับ RDIF ให้มีการประชุมหารือระหว่างภาคส่วนที่เกี่ยวข้องของไทยและรัสเซีย เพื่อหารือรายละเอียดเพิ่มเติม

 

 

บทความชิ้นนี้ ทีม BBC Monitoring ได้เก็บรวบรวมข้อมูลจากหลายแหล่ง อาทิ รายงานจากสื่อท้องถิ่น สื่อระดับโลก และรัฐบาลประเทศต่าง ๆ จนถึงวันที่ 24 ก.ค.ปี 2021

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง