รีเซต

เปิดราคาเทียบ! 'โซล่าเซลล์' ต่อกิโลวัตต์ พิมรี่พาย VS กอ.รมน. 'พี่ศรี' บุกร้องสอบ

เปิดราคาเทียบ! 'โซล่าเซลล์' ต่อกิโลวัตต์ พิมรี่พาย VS กอ.รมน. 'พี่ศรี' บุกร้องสอบ
ข่าวสด
13 มกราคม 2564 ( 10:02 )
212
เปิดราคาเทียบ! 'โซล่าเซลล์' ต่อกิโลวัตต์ พิมรี่พาย VS กอ.รมน. 'พี่ศรี' บุกร้องสอบ

ศรีสุวรรณ ร้อง สตง.สอบ กอ.รมน. ทำไมโซล่าเซลล์แพงกว่า "พิมรี่พาย" เปิดราคาเทียบเฉลี่ยกิโลวัตต์ ห่างกันเป็น 4 เท่าตัว ราคาแตกต่างกันมาก

 

เมื่อวันที่ 13 ม.ค.นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เปิดเผยว่า ตามที่สื่อมวลชนและโซเชียลมีเดียได้มีการแชร์เอกสาร จากเว็บไซต์ของ กอ.รมน. เกี่ยวกับเอกสารสรุปราคากลางงานก่อสร้างอาคาร โครงการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนในพื้นที่ห่างไกลทุรกันดาร อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ของกองดำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 3 โดยมีการเบิกงบค่าก่อสร้างระบบผลิตไฟฟ้าด้วยเซล์แสงอาทิตย์ (โซลาร์เซลล์) ขนาดกำลังติดตั้งไม่น้อยกว่า 210 กิโลวัตต์ พร้อมระบบกักเก็บเก็บพลังงานรวม 45,205,109.91 บาทนั้น

 

กรณีดังกล่าวโฆษก กอ.รมน. ได้ออกมาชี้แจงว่า เอกสารดังกล่าวเป็นเอกสารฉบับจริง และเป็นเอกสารที่ใช้ในการเผยแพร่ราคากลางของโครงการฯ เพื่อดำเนินการตามขั้นตอน พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้าง มาตรา 56 วรรค 1 ของภาครัฐฯ ด้วยวิธีการประมูลราคากลางผ่านระบบ อิเล็กทรอนิกส์ ของกรมบัญชีกลาง (e – Bidding)

 

ซึ่งได้ผ่านการรับรองราคาจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานเป็นที่เรียบร้อย ซึ่งเป็นการดำเนินการจำนวน 5 พื้นที่ใน อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ แต่มีระบบกักเก็บพลังงาน (แบตเตอรี่ลิเทียม) จำนวน 998.40 กิโลวัตต์ และได้ดำเนินการจัดทำโครงข่ายไฟฟ้าชุมชน โดยมีการลากสายไฟฟ้าเข้าไปในพื้นที่หมู่บ้าน จำนวน 5,409 เมตร และติดตั้งเสาไฟฟ้า

 

 

แต่ถึงอย่างไรก็ตามมูลค่าของโครงการดังกล่าวเมื่อเทียบกับกรณี "พิมรี่พาย" ใช้เงินกว่า 5 แสนบาท เพื่อทำโซลาร์เซลล์ผลิตไฟฟ้า ติดตั้งทีวีที่หมู่บ้านแม่เกิบโดยเฉลี่ยกิโลวัตต์ละ 57,692 บาท ส่วนของ กอ.รมน.เฉลี่ยกิโลวัตต์ละ 215,262 บาท แล้วมีความแตกต่างกันมาก ที่สำคัญเมื่อดูรายละเอียดตามเอกสาร BOQ ก็จะพบว่าหลายรายการมีราคาแพงกว่าปกติ

 

เช่น แบตเตอรี่ลิเทียมขนาด 200 กิโลวัตต์-ชั่วโมงมีราคาถึงชุดละ 5,000,000 บาท แต่ถ้าเป็นขนาด 120 กิโลวัตต์-ชั่วโมงมีราคาถึง 3,000,000 บาทต่อชุด เครื่องควบคุมประจุแบตเตอรี่และเครื่องแปลงกระแสขนาด 30 กิโลวัตต์ราคาถึง 600,000 บาทต่อชุด แค่ค่าประตูสำเร็จรูปยังราคาถึง 15,000 บาทต่อบานเลย ฯลฯ

 

ทั้งนี้แม้ในรายละเอียดโครงการของ กอ.รมน.จะมีการลากสายไฟฟ้าและติดตั้งเสาไฟฟ้าด้วยก็ตาม ก็น่าที่จะเป็นราคาที่สูงเกินไปมาก นอกจากนั้นยังเป็นที่สงสัยว่าบริษัทที่เสนอราคาต่ำที่สุดจำนวน 44,707,745 บาท เหตุใดจึงไม่เป็นผู้ชนะการประมูล จึงสงสัยว่าเป็นการประมูลที่โปร่งใส เป็นไปตามระเบียบหรือไม่ด้วย

 

ด้วยเหตุดังกล่าว สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย จึงจะนำความไปร้องเรียนต่อสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ในวันพุธที่ 13 ม.ค.64 นี้ เวลา 13.00 น. ที่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ซ.อารีย์ ถ.พระราม 6 เขตพญาไท กทม. เพื่อให้ใช้อำนาจตาม พรป.ว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน 2561 ดำเนินการตรวจสอบไต่สวนและวินิจฉัยว่าโครงการติดตั้งโซล่าเชลล์ของ กอ.รมน.ทั้ง 5 พื้นที่มีความคุ้มค่า มีผลสัมฤทธิ์ มีประสิทธิภาพตามที่กฎหมายกำหนดหรือไม่

 

หรือมีการกระทำการอันอาจเข้าข่ายความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน และหรือกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ หรือการใช้จ่ายเงินแผ่นดินของ กกต. มีพฤติการณ์อันเป็นการทุจริตต่อหน้าที่ จงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อํานาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมายหรือไม่

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง