รีเซต

ส่องปฏิกริยาโลก หลังศาลเมียนมาพิพากษาจำคุกซูจี-วิน มินท์ 4 ปี

ส่องปฏิกริยาโลก หลังศาลเมียนมาพิพากษาจำคุกซูจี-วิน มินท์ 4 ปี
มติชน
6 ธันวาคม 2564 ( 17:02 )
78

การตัดสินจำคุกนางออง ซาน ซูจี ผู้นำรัฐบาลเมียนมาที่มาจากการเลือกตั้ง และผู้นำพรรคสันนิบาตชาติเพื่อประชาธิปไตย ร่วมกับนายวิน มินท์ ประธานาธิบดีเมียนมาเป็นเวลา 4 ปี ในข้อหายุยงปลุกปั่น และละเมิดข้อห้ามในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ประชาคมระหว่างประเทศต่างพากันออกมาแสดงปฏิกริยาต่อเรื่องดังกล่าว

 

๐นางลิซ ทรัสส์ รัฐบาลมนตรีต่างประเทศอังกฤษ

คำพิพากษาโทษจำคุกเป็นอีกหนึ่งความพยายามอันน่าตกใจโดยรัฐบาลทหารเมียนมาเพื่อปิดปากฝ่ายค้าน ปราบปรามเสรีภาพและประชาธิปไตย อังกฤษเรียกร้องให้รัฐบาลทหารปล่อยตัวนักโทษการเมือง เข้าสู่กระบวนการเจรจา และฟื้นคืนประชาธิปไตยในเมียนมา การควบคุมนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งตามอำเภอใจจะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดความวุ่นวายขึ้นตามมา

 

๐นายจ้าว ลี่เจียง โฆษกกระทรวงต่างประเทศจีน

ในฐานะมิตรประเทศที่มีพรมแดนติดกัน เราหวังอย่างจริงใจว่าทุกฝ่ายในเมียนมาจะดำเนินการต่างๆ โดยยึดผลประโยชน์ระยะยาวของประเทศ ประสานความแตกต่างภายใต้รัฐธรรมนูญและกรอบกฎหมาย ยังคงส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยที่เหมาะสมกับสถานการณ์ในเมียนมาแม้จะมีความยากลำบากก็ตาม

 

๐นายมอ ฮตุน อ่อง รัฐมนตรีในรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (เอ็นยูจี) ซึ่งเป็นรัฐบาลพลัดถิ่นของฝ่ายต่อต้านกองทัพเมียนมา

ผมไม่ได้คาดหวังอะไรจากกระบวนการยุติธรรมที่เชื่อถือไม่ได้นี้

 

๐รัฐสภาอาเซียนเพื่อสิทธิมนุษยชน

นับตั้งแต่เกิดเหตุยึดอำนาจใจเมียนมา ชัดเจนว่าซูจีและสมาชิกรัฐสภาที่ถูกควบคุมตัวคนอื่นๆ ไม่ได้เป็นอะไรมากไปกว่าข้ออ้างของกองทัพเพื่อสร้างความชอบธรรมในการยึดอำนาจ แม้จะมีความพยายามในการประท้วง และประชาชนเมียนมาเสี่ยงชีวิตทุกวันว่าไม่ยอมรับระบบยุติธรรมปลอมๆ นี้

คำพิพากษาดังกล่าวจึงเป็นเพียงอีกหลักฐานหนึ่งเพื่อสร้างความชอบธรรมให้ตนเอง อาเซียนต้องต่อต้านการยึดอำนาจโดยไม่ชอบนี้ เรายังคงเรียกร้องให้อาเซียนห้ามผู้แทนกองทัพเมียนมาเข้าร่วมในการพบปะในกรอบอาเซียน ป้องกันไม่ให้นายพลเมียนมาเดินทางในภูมิภาค และมีปฏิสัมพันธ์กับเอ็นยูจี

 

๐นายริชาร์ด ฮาร์เซย์ ที่ปรึกษาอาวุโสด้านเมียนมาของอินเตอร์เนชั่นแนลไครซิสกรุ๊ป

คำพิพากษาดังกล่าวเป็นการจองเวรและแสดงออกถึงอำนาจในมือกองทัพ แต่มันจะเป็นเรื่องน่าตกใจถ้าเธอถูกส่งตัวไปเข้าเรือนจำ เพราะมีความเป็นไปได้มากกว่าที่เธอจะถูกตัดสินให้รับโทษด้วยการกักบริเวณภายในบ้านของตนเองหรือบ้านพักรับรองของรัฐบาลทหาร

 

๐ฮิวแมนไรท์วอทช์

การตัดสินโทษขั้นรุนแรงต่อคดีกำมะลอของนางออง ซาน ซูจี เป็นตัวอย่างล่าสุดที่แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นที่จะกำจัดฝ่ายตรงข้ามและขัดขวางเสรีภาพในเมียนมา คำตัดสินที่ตลกและเลวทรามนี้เป็นส่วนหนึ่งของรูปแบบในการลงโทษแบบเบ็ดเสร็จของเผด็จการ ซึ่งเราได้เห็นผู้คนกว่า 1,300 คนถูกสังหาร และอีกหลายพันคนถูกจับกุมตัวนับตั้งแต่เกิดเหตุยึดอำนาจในเมียนมา

ข่าวที่เกี่ยวข้อง