รีเซต

หมอแนะใส่แมสก์กันโควิด-19 สำคัญเท่ากับการล้างมือ

หมอแนะใส่แมสก์กันโควิด-19 สำคัญเท่ากับการล้างมือ
มติชน
19 เมษายน 2563 ( 09:51 )
681
3
หมอแนะใส่แมสก์กันโควิด-19 สำคัญเท่ากับการล้างมือ

หมอมนูญ ผู้เชี่ยวชาญระบบหายใจ ไขข้อสงสัยทำไมต้องใส่หน้ากากอนามัย ป้องกันโควิด-19 ชี้สำคัญเท่ากับการล้างมือ และการเว้นระยะห่างทางบุคคล

เมื่อวันที่ 19 เม.ย. นายแพทย์มนูญ ลีเชวงวงศ์ หัวหน้าประจำห้อง ICU โรคระบบการหายใจ ผู้ป่วยหนัก และโรคผู้สูงอายุโรงพยาบาลวิชัยยุทธ และประธานชมรมเชื้อราทางการแพทย์ประเทศไทย โพสต์ข้อความผ่านเพจเฟซบุ๊ก “หมอมนูญ ลีเชวงวงศ์ FC” ว่า ทำไมเมื่อมีโรคโควิด-19 ระบาด คนไทยทุกคนต้องใส่หน้ากากอนามัย ระบุว่า เมื่อเริ่มมีการระบาดของโรคโควิด-19 องค์การอนามัยโลกประกาศอย่างมั่นใจโรคนี้ติดต่อกันได้เพียง 2 ช่องทาง คือ 1.ทางไอ จามรดกันในระยะ 1-2 เมตร ละอองเสมหะขนาดใหญ่ปนเปื้อนด้วยเชื้อไวรัสลอยออกมา กระเด็นโดนใบหน้า ตา จมูก ปากของคนใกล้ชิด แล้วเชื้อเข้าปอดผ่านทางเยื่อบุจมูก ตา ปาก 2. ทางมือคือ ละอองเสมหะขนาดใหญ่ตกลงบนพื้นผิวของสิ่งของต่างๆที่ใช้ร่วมกัน รวมทั้งผู้ป่วยหลังจากเอามือมาป้องปากเวลาไอหรือจาม แล้วเอามือไปสัมผัสกับของที่ใช้ร่วมกัน คนอื่นสัมผัสพื้นผิวที่ปนเปื้อนเชื้อไวรัสทางมือ แล้วเอามือไปขยี้ตา แคะจมูก จับปาก เชื้อไวรัสเข้าปอดผ่านทางเยื่อบุจมูก ตา ปาก

WHO ใช้ข้อมูลทางสถิติระบาดวิทยาของโรคโควิด-19 ผู้ป่วยโควิด 1 คนแพร่เชื้อให้เฉลี่ย 2-2.5 คน น้อยกว่าโรคหัดซึ่งติดต่อกันง่ายกว่า เพราะติดต่อทางการหายใจ (airborne) ผู้ป่วยโรคหัด 1 คนแพร่เชื้อให้เฉลี่ย 12-18 คน และจากสมมติฐานในอดีต 90 ปีที่แล้ว ขนาดของละอองฝอยต้องต่ำกว่า 5 ไมครอน (ตัดที่ตัวเลขตัวเดียวคือ 5 ไมครอน) ถึงจะติดต่อได้ทางการหายใจ

ปัจจุบันเรามีกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนที่ดีขึ้น มีกล้องความเร็วและความละเอียดสูงมากสามารถเห็นภาพและวัดขนาดของกลุ่มละอองฝอยที่ลอยออกมาเวลาพูด ไอ หรือจาม มีขนาดต่างๆกันตั้งแต่เล็กถึงใหญ่ เราสามารถเห็นละอองฝอยขนาดเล็กกว่า 5 ไมครอนลอยออกมาในอากาศ เวลาพูด ไอจาม ปลิวไปได้ไกลถึง 8 เมตร ลอยในอากาศเป็นเวลานาน เชื่อได้เลยว่าเชื้อไวรัสโควิด-19 ขนาดเล็กมาก 0.1 ไมครอนสามารถเกาะบนละอองฝอยนี้เข้าทางลมหายใจของคนที่ยืนห่างไกลได้เป็น 10 เมตร

เรามีหลักฐาน Super spreader 1 คนแพร่กระจายเชื้อให้คนที่นั่งชมมวยในสนามมวยลุมพินีมากกว่า 60 คน และซูเปอร์สเปรดเดอร์อีก 1 คนแพร่เชื้อให้นักร้องประสานเสียงในโบสถ์ที่รัฐวอชิงตันในประเทศสหรัฐอเมริกา 45 คนในเวลาไม่กี่ชั่วโมง ความสามารถในการแพร่เชื้อแบบนี้เกิดจากการแพร่กระจายทางอากาศ (airborne)เท่านั้น ละอองฝอยที่มีเชื้อไวรัสเกาะอยู่ แขวนลอยอยู่ในอากาศได้นานและปลิวไปได้ไกล ไม่สามารถอธิบายการติดเชื้อ 45-60 คนเกิดจากการไอจาม รดกันในระยะ 2 เมตร หรือการสัมผัสทางมือ

ลักษณะอาการทางคลินิกของโรคโควิด-19 คือโรคปอดอักเสบ โดยเฉพาะส่วนปลายสุดของปอดคือถุงลม ที่เป็นเช่นนั้นเพราะเซลล์ในถุงลมมีตัวรับเชื้อ (receptor) ที่ชื่อ ACE2 (Angiotensin Converting Enzyme 2) โปรตีน Spike (ส่วนที่ยื่นออกมาจากอนุภาคคล้ายหนาม)ของเชื้อไวรัสสามารถเสียบเข้ากับตัวรับเหมือนรูกุญแจ เปิดประตูให้เชื้อไวรัสเข้าไปในเซลล์ และบังคับให้เชลล์ในถุงลมผลิตเชื้อเพิ่มจำนวน หลังจากเชื้อไวรัสทำลายเซลล์ เชื้อออกมาเข้าเซลล์ของถุงลมอื่นๆต่อไป ตัวรับ ACE 2 receptor ของเซลล์ในเยื่อบุจมูก หลังโพรงจมูก และทางเดินหายใจส่วนบน พบได้น้อยกว่าในถุงลมมาก อธิบายว่าทำไมอาการของทางเดินหายใจส่วนบน เช่นน้ำมูกไหล คัดจมูก เจ็บคอถึงได้น้อย และมีไข้ ไอ เหนื่อยเป็นอาการสำคัญจากการอักเสบของถุงลม ถ้าวัดจำนวนเชื้อไวรัสในทางเดินหายใจ จะพบจำนวนเชื้อไวรัสมากที่สุดในถุงลมมากกว่าในลำคอและหลังโพรงจมูก เมื่อเรารับเชื้อไวรัสโควิด-19 ทางการหายใจ แม้ปริมาณของเชื้อจะน้อย แต่เนื่องจากมีตัวรับ receptor ในถุงลมมาก คนจึงป่วยได้ โดยไม่จำเป็นต้องรับผ่านทางเยื่อบุจมูก ตา ปากเสมอไป

ยิ่งเวลาผ่านไป นักวิทยาศาสตร์และแพทย์ทั่วโลกยิ่งเชื่อว่าโรคโควิด-19 ติดต่อกันได้ 3 ทาง ไอ จาม ทางมือ และทางหายใจ (airborne) เราขาดการทดลองที่สำคัญคือต่อท่อระบายอากาศจากห้องนอนของผู้ป่วยโควิดไปห้องของอาสาสมัครที่อยู่คนละชั้น เพื่อพิสูจน์ว่าอาสาสมัครจะติดเชื้อทางอากาศได้หรือไม่ แต่คงไม่มีใครทำการทดลองนี้ เนื่องจากอันตรายเกินไป

การป้องกันการติดเชื้อทางการหายใจเป็นเรื่องยาก ทุกคนต้องใส่หน้ากากอนามัยเวลาออกนอกบ้าน เวลาอยู่ร่วมกันกับผู้อื่น และเวลาอยู่ในบ้าน ยกเว้นเวลาอยู่คนเดียวไม่ต้องใส่ ถ้าเราป่วย หน้ากากจะลดการแพร่เชื้อเวลาหายใจออก พูด ไอ หรือจาม ถ้าเราไม่ป่วย หน้ากากจะลดการรับเชื้อทางการหายใจเข้า เราควรอยู่ในที่มีอากาศถ่ายเท เปิดหน้าต่าง อยู่ในที่โล่งแจ้ง ไม่อยู่ในที่แออัด อากาศไม่ถ่ายเท ห้องหรือบริเวณที่ติดตั้งเครื่องปรับอากาศเป็นเวลานาน ประเทศตะวันตกมีจำนวนคนป่วยและเสียชีวิตจากโรคโควิด-19 มากกว่าประเทศในเอเชีย สาเหตุหนึ่งคือ คนตะวันตกไม่นิยมสวมหน้ากาก ปัจจุบันหลายประเทศเช่น สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ออสเตรีย สาธารณรัฐเช็ก สาธารณรัฐสโลวีเนีย เริ่มแนะนำให้ทุกคนสวมหน้ากากแล้ว

ณ วันนี้การสวมหน้ากากอนามัยมีความสำคัญเท่ากับการล้างมือ และการเว้นระยะห่างทางบุคคล เราต้องยอมรับและปรับตัวอยู่กับโรคโควิด-19 จนกว่าจะมีวัคซีนป้องกันโรคนี้ได้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง