วิกฤตน้ำท่วม "เชียงราย" สะท้อนการบริหารจัดการ-รับมือล้มเหลว ในภาวะโลกรวน
นายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร ชี้ว่า อิทธิพลของพายุกระทบประชาชนกว่า 9,000 ครัวเรือน และตอนนี้ ทำให้มีผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 2 คน ประชาชนอีกหลายร้อยคนติดค้างอยู่ในบ้านเรือน ตามหลังคา และจุดต่าง ๆ
แต่สำหรับผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อม และที่ปรึกษากรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง อย่าง ดร.เพชร มโนปวิตร เขาให้สัมภาษณ์กับ Reuters ว่า เหตุน้ำท่วมใหญ่ที่เชียงรายครั้งนี้ สะท้อนถึง “การบริหารจัดการที่ล้มเหลว” ด้วย
“น้ำท่วมเชียงรายครั้งนี้ แน่นอนว่าเป็นผลจากพายุโซนร้อนยางิ แต่ภาพใหญ่กว่านั้น มันสะท้อนถึงการบริหารจัดการที่ล้มเหลว ในการลดความเสี่ยงภัยพิบัติ และการเตรียมความพร้อม” ดร.เพชร ระบุ
เขายังวิเคราะห์ต่อว่า แน่นอนว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้สภาพอากาศมันรวน ฝนที่ตกหนักขึ้น จนทำให้เกิดศัพท์ว่า “ระเบิดฝน” ซึ่งเป็นฝนที่ตกหนักอย่างที่ไม่เคยเกิดมาก่อน
“และมันก็มากเกินกว่าสาธารณูปโภคที่เรามี จะรองรับไหว แต่แน่นอนว่า เราเตรียมความพร้อมไม่ดีเองด้วย” เขาเสริม
ท้ายสุด ดร.เพชร ร้องขอให้รัฐบาล โดยเฉพาะรัฐบาลชุดใหม่ที่ใกล้เข้าทำหน้าที่เต็มตัว ต้องวางมาตรการรับมือภัยพิบัติที่จะมีแนวโน้มรุนแรงขึ้นอีกในอนาคต
“ไทยเจอน้ำท่วมฉับพลันมาบ่อยครั้ง รัฐบาลต้องตระหนักได้แล้วว่า เศรษฐกิจมันอยู่ไม่ได้บนโลกที่ตายแล้ว แล้วมันก็เกิดวิกฤตมากมายรอบตัวเรา เราต้องคิดต่างออกไปว่า จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างไร” เขาทิ้งท้าย