“ชวน” เตรียมเดินสายทาบทามอดีตนายกฯ ร่วมคณะกรรมการสมานฉันท์
สถาบันพระเกล้าเสนอโครงสร้างและกลไกการทำงานของคณะกรรมการปรองดองสมานฉันท์ 2 รูปแบบต่อรัฐสภา ขณะที่นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎรเปิดเผยว่าเตรียมทาบทามอดีตนายกรัฐมนตรีบางคนให้มาร่วมในคณะกรรมการชุดนี้
สถาบันพระปกเกล้าได้รับมอบหมายจากชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานรัฐสภา ให้วางโครงสร้างคณะกรรมการปรองดองสมานฉันท์หาทางออกให้ประเทศ หลังจากที่ส.ส. และ ส.ว. หลายคนเสนอระหว่างการเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติ ตามมาตรา 165 ของรัฐธรรมนูญ เมื่อ 26-27 ต.ค. ที่ผ่านมาว่าให้มีการตั้งคณะกรรมการปรองดองฯ ขึ้นมาแก้ไขความขัดแย้งจากการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยและการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ นำโดยนิสิตนักศึกษาและเยาวชน
- รวมความพยายาม "ปรองดอง-สมานฉันท์" ของรัฐบาลไทยในวิกฤตความขัดแย้งทางการเมือง
- แฟลชม็อบนักศึกษา ถึง ชุมนุมใหญ่ของ "คณะราษฎร 2563" ลำดับเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองปี 2563
- ประสบการณ์ "ลูกทหารไล่เผด็จการ" เคยถูกบังคับให้เปลี่ยนนามสกุล
นายชวน เปิดเผยวันนี้ (2 พ.ย.) ว่าสถาบันพระปกเกล้าได้เสนอตั้งคณะกรรมการ 7-9 คน โดยแบ่งเป็น 2 รูปแบบ คือ
- คณะกรรมการปรองดองสมานฉันท์ 7 หรือ 5 ฝ่าย ประกอบด้วยฝ่ายที่มีอำนาจตัดสินใจหรือเป็นตัวแทนจากคณะรัฐมนตรี ส.ส.รัฐบาล ส.ส.ฝ่ายค้าน วุฒิสภา และตัวแทนกลุ่มผู้ชุมนุม หากขาดกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งจะถือว่าไม่ครบองค์ประชุม ซึ่งเป็นรูปแบบเดียวกับที่ นายจุรินทร์ ลักษณะวิศิษฐ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เสนอ
- คณะกรรมการปรองดองสมานฉันท์ ที่ประกอบด้วยคนกลางตามที่แต่ละฝ่ายเสนอให้เป็นกรรมการ โดยการเสนอจากทุกฝ่าย หรือให้ประธานรัฐสภาไปสรรหาบุคคล หรือให้ประธานรัฐสภาตั้งประธานคณะกรรมการซึ่งจะเป็นผู้ไปคัดเลือกทาบทามบุคคลมาเป็นคณะกรรมการ
นายชวนกล่าวว่าจะนำทั้ง 2 รูปแบบไปพิจารณาว่าแบบไหนจะสามารถหาบุคคลมาเป็นกรรมการได้ครบถ้วน หรืออาจจะนำทั้ง 2 รูปแบบมาผสมผสานกัน โดยคณะกรรมการนี้จะใช้จำนวนคนไม่มาก แต่ต้องสามารถแก้ไขปัญหาบ้านเมืองได้
สำหรับข้อเรียกร้องที่ให้มีพื้นที่ปลอดภัยในการพูดคุยถึงการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์นั้น นายชวนกล่าวว่าจะต้องเป็นไปตามมติคณะกรรมการว่าจะให้มีการหารือหรือไม่ แต่ไม่อยากให้นำสถาบันเข้ามาเป็นเงื่อนไข เพราะตามรัฐธรรมนูญพระมหากษัตริย์ทรงเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดไม่ได้
นายชวนยังเปิดเผยด้วยว่า ได้มีการพูดคุยกับอดีตนายกรัฐมนตรีส่วนหนึ่ง ซึ่งหลายคนสนับสนุน และส่วนหนึ่งยังขอรอฟังความชัดเจนก่อน แต่จะเร่งดำเนินการไปทาบทามอดีตนายกรัฐมนตรี และอดีตประธารัฐสภามาช่วยทำหน้าที่ เพราะถือเป็นฝ่ายปฏิบัติ
แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า
สำหรับข้อเรียกร้องเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญของผู้ชุมนุมนั้น นายชวนกล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้ส่งสัญญาณในการประชุมรัฐสภาแล้ว จึงเชื่อว่าวุฒิสภาจะสนับสนุน เพื่อลดความกังวลในสังคม
ส่วนเรื่องการชุมนุมนั้น รัฐสภาได้ให้สถาบันพระปกเกล้าเชิญบุคคลที่มีความรู้ด้านการปรองดอง มาพูดคุยหารือกันเพื่อหาทางลดความขัดแย้งรุนแรงและการคุกคาม เพื่อนำไปสู่ความปรองดอง เช่น นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มาพูดคุยถึงทัศนะคติของนักศึกษา
นายชวนยังเปิดเผยด้วยว่าวันพรุ่งนี้ (3 พ.ย.) จะคุยกับผู้นำฝ่ายค้านและตัวแทนรัฐบาลเป็นการภายใน เพื่อให้ทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วมในการหารือ
ความเคลื่อนไหวในการเสนอแนวคิดการตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ เกิดขึ้นท่ามกลางการนัดชุมนุมอย่างต่อเนื่อง และมีแกนนำ-แนวร่วม ถูกจับกุม ดำเนินคดีแล้วอย่างน้อย 90 ราย นับตั้งแต่มีการชุมนุมของกลุ่มที่ใช้ชื่อว่า "คณะราษฎร" ตั้งแต่วันที่ 13 ต.ค. 2563
สถิติที่รวบรวมโดยศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน จนถึงวันที่ 1 พ.ย. ระบุว่า มีผู้ถูกดำเนินคดี 84 ราย 6 คนถูกปล่อยตัวโดยไม่แจ้งข้อกล่าวหา และมีผู้ถูกคุมขังในเรือนจำขณะนี้ 4 ราย ได้แก่ อานนท์ นำภา (2 คดี) เอกชัย หงส์กังวาน สมยศ พฤกษาเกษมสุข และสุรนาถ แป้นประเสริฐ
ศาลยกคำร้องพนักงานสอบสวน ขอฝากขัง "รุ้ง-ไมค์
วันนี้ (2 พ.ย.) มีความคืบหน้าในการยื่นคำร้องขอฝากขังแกนนำผู้ชุมนุม "คณะราษฎร" ดังนี้
- น.ส. ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือรุ้ง นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ศาลแขวงปทุมวัน ยกคำร้องพนักงานสอบสวน สน.ปทุมวัน ที่ขออำนาจฝากขัง น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือ รุ้ง จากคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จากการชุมนุมทวงคืนความเป็นธรรมให้วันเฉิม และ กิจกรรมอ่านประกาศคณะราษฎร ที่สกายวอล์ค แยกปทุมวัน เมื่อเดือน มิ.ย.
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ทวีตข้อความนี้ เมื่อเวลา 12.23 น. วันนี้ (2 พ.ย.) ซึ่งเป็นวันที่ 3 ที่แกนนำผู้ชุมนุมกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า "คณะราษฎร 2563" ได้แก่ ไมค์ เพนกวิน รุ้ง พักรักษาตัวที่โรงพยาบาลพระเก้า ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจจากท้องที่ต่าง ๆ ทยอยเดินทางเข้าแจ้งข้อกล่าวหาขณะพวกเขายังพักฟื้นอยู่บนเตียงผู้ป่วย
ศูนย์ทนายฯ ระบุเหตุผลที่ศาลยกคำร้องฝากขังเนื่องจาก การสอบสวนได้กระทำการเสร็จสิ้นแล้ว โดยตำรวจได้ส่งสำนวนการสอบสวนให้พนักงานอัยการเพื่อดำเนินการฟ้อง อีกทั้งผู้ต้องหายังเป็นนักศึกษา มีที่อยู่ที่เป็นหลัก แหล่งสามารถติดต่อได้ และเหตุผลที่ระบุในข้อสุดท้ายชี้ว่า ไม่มีเหตุอันควรเชื่อว่าผู้ต้องหาจะหลบหนี หรือจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน
การยื่นคำร้องขอฝากขังของพนักงานสอบสวน สน.ปทุมวัน เป็นการยื่นคำร้องขอฝากขังต่อศาลโดยไม่นำตัว น.ส.ปนัสยา ยังศาล เจ้าหน้าที่ได้เข้าแจ้งข้อหาดังกล่าว เมื่อวันที่ 31 ต.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งศูนย์ทนายฯ ได้เผยแพร่ภาพ ขณะ "รุ้ง" ปนัสยา กำลังพิมพ์ลายนิ้วมือโดยที่มือยังใส่สายน้ำเกลืออยู่
- นายภาณุพงศ์ จาดนอก หรือไมค์ นักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง
คดีความของนายภาณุพงศ์ จาดนอก หรือไมค์ วานนี้ (1 พ.ย.) พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรเมืองระยอง ได้เดินทางเข้าจับกุมภาณุพงศ์ที่ รพ.พระรามเก้า ตามหมายจับศาลแขวงระยอง กรณีชูป้ายประท้วง พล.อ.ประยุทธ์ ที่ปล่อยให้ทหารอียิปต์ติดโควิดเข้าพักใน จ.ระยอง และเดินทางไปในที่ต่างๆ ได้ เมื่อวันที่ 15 ก.ค. 63
ไมค์ ภาณุพงศ์ ถูกแจ้งข้อหาทั้งหมด 5 ข้อหา อาทิ ชุมนุมมั่วสุมให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
ฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานควบคุมโรค ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ โดยเขาให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา
ความคืบหน้าในวันนี้ ศาลแขวงระยอง ยกคำร้องพนักงานสอบสวน สภ.เมืองระยอง ที่ขอฝากขังนายภาณุพงศ์ ในคดีนี้ เนื่องจากศาลเห็นว่าภาณุพงศ์ รักษาตัวอยู่ที่ รพ. ไม่ปรากฏว่ามีพฤติการณ์หลบหนีหรือจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน
ทั้งนี้การขออำนาจฝากขังภาณุพงศ์ ตำรวจไม่ได้นำตัวภาณุพงศ์ไปด้วย เนื่องจากทนายความได้ส่งสำเนาใบรับรองแพทย์ขอให้ผู้ต้องหาได้รับการรักษาพยาบาลตามสิทธิที่กฎหมายกำหนด
- พริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
เมื่อวันที่ 1 พ.ย. ศูนย์ทนายฯ รายงานว่า พนักงานสอบสวน สภ.เมืองอุบลราชธานี ได้เดินทางมาขอควบคุมตัวไปดำเนินคดีตามหมายจับศาลจังหวัดอุบลฯ ในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 จากการปราศรัยในการชุมนุม "เด็กพูดผู้ใหญ่ฟัง" จัดโดย กลุ่มที่ใช้ชื่อว่า "คณะอุบลปลดแอก" ที่ศาลหลักเมืองอุบลฯ เมื่อวันที่ 22 ส.ค. 63
ในการขอควบคุมตัวเพื่อดำเนินคดี พริษฐ์และทนายความได้โต้แย้งกระบวนการนี้ เนื่องจากพนักงานสอบสวนได้เข้าแจ้งข้อกล่าวหาพริษฐ์เมื่อวันที่ 21 ต.ค. 63 ขณะอยู่ที่ บก.ตชด.ภาค 1 แล้ว และพนักงานสอบสวนได้เขียนระบุลงในหมายจับว่าได้จัดการตามหมายเรียบร้อยแล้ว จึงไม่มีเหตุให้ตำรวจต้องควบคุมตัวไปดำเนินคดีอีก
ส่วนความเคลื่อนไหวอื่น ของแกนนำนักศึกษากลุ่ม "ราษฎร" น.ส.ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล จากการกลุ่มมหานครเพื่อประชาธิปไตย เผยว่าได้รับหมายเรียกให้ไปพบพนักงานสอบสวน สน.ทุ่งมหาเมฆ ในวันที่ 5 พ.ย. จากการชุมนุมหน้าสถานเอกอัครราชทูตเยอรมนีประจำไทย เมื่อวันที่ 26 ต.ค.