สหรัฐเปิด ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก ฟื้นฟูความเป็นผู้นำในภูมิภาค
ข่าววันนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทย เผยแพร่เอกสารข้อเท็จจริงเกี่ยวกับยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกของสหรัฐอเมริกา โดยข้อความระบุว่า
เอกสารข้อเท็จจริง: ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกของสหรัฐอเมริกา
“เรามองเห็นอินโด-แปซิฟิกที่เปิดกว้าง เชื่อมโยง มั่งคั่ง พร้อมรับมือ และมั่นคง และเราพร้อมที่จะทำงานร่วมกับพวกท่านแต่ละคนเพื่อให้บรรลุเป้าหมายนั้น”
ประธานาธิบดี โจ ไบเดน
การประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก
27 ตุลาคม 2564
รัฐบาลประธานาธิบดีไบเดนและรองประธานาธิบดีแฮร์ริส ได้สร้างความก้าวหน้าครั้งประวัติศาสตร์เพื่อฟื้นฟูความเป็นผู้นำของอเมริกาในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก และปรับบทบาทของรัฐสำหรับศตวรรษที่ 21 ในปีที่แล้ว สหรัฐฯ ได้พัฒนาพันธไมตรีที่มีมาช้านานของเราให้เหมาะสมกับยุคสมัย ตลอดจนเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นใหม่ และเชื่อมโยงพันธมิตรของเราด้วยแนวคิดและวิธีการใหม่ ๆ เพื่อให้รับมือกับความท้าทายเร่งด่วน ตั้งแต่การแข่งขันกับประเทศจีนไปจนถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและโรคระบาดใหญ่ สหรัฐฯ ดำเนินการดังกล่าวในช่วงเวลาที่พันธมิตรและหุ้นส่วนทั่วโลกกำลังมีส่วนร่วมในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกมากขึ้น และยังเป็นช่วงเวลาที่พรรคการเมืองใหญ่ทั้ง 2 ฝ่ายในรัฐสภาสหรัฐฯ เห็นพ้องกันเป็นวงกว้างว่าจะต้องทำเช่นนี้ ความมุ่งมั่นที่ประเทศต่าง ๆ มีต่อภูมิภาคนี้โดยพร้อมเพรียง ไม่ว่าจะมีมหาสมุทรกางกั้นหรือมีนโยบายทางการเมืองเช่นใดก็ตาม สะท้อนให้เห็นความจริงที่ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า อินโด-แปซิฟิกเป็นภูมิภาคที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วที่สุดในโลก และอนาคตของภูมิภาคนี้ส่งผลกระทบต่อผู้คนทั่วโลก
ความจริงข้อนั้นเป็นพื้นฐานของยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกของสหรัฐฯ ยุทธศาสตร์นี้แสดงให้เห็นวิสัยทัศน์ของประธานาธิบดีไบเดนที่จะให้สหรัฐฯ ยืนหยัดในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกอย่างเต็มภาคภูมิยิ่งขึ้น และเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับภูมิภาคนี้ไปพร้อมกัน โดยหัวใจสำคัญคือความร่วมมืออย่างยั่งยืนและสร้างสรรค์กับพันธมิตร หุ้นส่วน และองค์การต่าง ๆ ภายในภูมิภาคและนอกภูมิภาค
สหรัฐฯ จะดำเนินการเพื่อภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกที่มีลักษณะดังนี้
1. เสรีและเปิดกว้าง
ผลประโยชน์สำคัญของเราและบรรดาพันธมิตรที่ใกล้ชิดที่สุดของเราจะบังเกิดได้ในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้าง และภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้างก็จำต้องมีรัฐบาลที่สามารถตัดสินใจได้เองและมีการบริหารปกครองพื้นที่ที่ใช้ร่วมกันตามหลักกฎหมาย ยุทธศาสตร์ของเราเริ่มต้นด้วยการเสริมสร้างความพร้อมรับมือ ทั้งภายในแต่ละประเทศ ดังที่เราทำในสหรัฐฯ และระหว่างประเทศเหล่านั้น เราจะพัฒนาภูมิภาคที่เสรีและเปิดกว้างด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น
– การลงทุนในสถาบันประชาธิปไตย สื่อเสรี และภาคประชาสังคมที่มุ่งมั่นขับเคลื่อน
– การพัฒนาความโปร่งใสด้านการเงินการคลังในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก เพื่อเปิดโปงการทุจริตและขับเคลื่อนการปฏิรูป
– การดูแลให้น่านน้ำและน่านฟ้าของภูมิภาคมีการบริหารปกครองและใช้งานตามกฎหมายระหว่างประเทศ
– การพัฒนาแนวทางร่วมกันในการใช้เทคโนโลยีที่สำคัญและอุบัติใหม่ ตลอดจนอินเทอร์เน็ตและไซเบอร์สเปซ
2. เชื่อมโยง
ภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้างจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเราสร้างขีดความสามารถร่วมกันสำหรับยุคใหม่ พันธมิตร องค์กร และกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ที่สหรัฐฯ และหุ้นส่วนได้ร่วมกันสร้างจะต้องปรับตัว เราจะสร้างขีดความสามารถร่วมกันภายในและนอกภูมิภาคด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น
– การกระชับพันธไมตรีในสนธิสัญญาระดับภูมิภาคกับ 5 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี ฟิลิปปินส์ และไทย
– การกระชับความสัมพันธ์กับหุ้นส่วนชั้นนำระดับภูมิภาค ซึ่งรวมถึงอินเดีย อินโดนีเซีย มาเลเซีย มองโกเลีย นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ ไต้หวัน เวียดนาม และหมู่เกาะแปซิฟิก
– การร่วมสร้างพลังและความเป็นปึกแผ่นของอาเซียน
– การเสริมสร้างความเข้มแข็งของกลุ่มภาคี 4 ประเทศ (Quad) และปฏิบัติตามคำมั่นสัญญา
– การสนับสนุนการเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องและความเป็นผู้นำระดับภูมิภาคของอินเดีย
– การร่วมมือเพื่อสร้างความพร้อมรับมือในหมู่เกาะแปซิฟิก
– การเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกและยูโร-แอตแลนติก
– การยกระดับบทบาททางการทูตของสหรัฐฯ ในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และหมู่เกาะแปซิฟิก
3. มั่งคั่ง
ความมั่งคั่งของคนอเมริกันทั่วไปเชื่อมโยงกับภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการลงทุนเพื่อส่งเสริมนวัตกรรม เสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ สร้างงานที่มีรายได้ดี ฟื้นฟูห่วงโซ่อุปทาน และขยายโอกาสทางเศรษฐกิจให้กับครอบครัวชนชั้นกลาง เนื่องจากประชาชน 1,500 ล้านคนในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกจะกลายเป็นกลุ่มชนชั้นกลางพร้อมกับผู้คนทั่วโลกในทศวรรษนี้ เราจะขับเคลื่อนความมั่งคั่งของภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น
– การเสนอกรอบเศรษฐกิจภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ซึ่งจะอำนวยให้เรา
– พัฒนาแนวทางการค้าใหม่ ๆ ที่ได้มาตรฐานสูง ทั้งด้านแรงงานและสิ่งแวดล้อม
– บริหารจัดการเศรษฐกิจดิจิทัลของเราและกระแสข้อมูลข้ามพรมแดนตามหลักการแบบเปิดกว้าง รวมถึงผ่านกรอบเศรษฐกิจดิจิทัลใหม่
– พัฒนาห่วงโซ่อุปทานที่ยืดหยุ่นและมั่นคง ซึ่งมีความหลากหลาย เปิดกว้าง และคาดเดาได้
– ร่วมลงทุนในการลดคาร์บอนและพลังงานสะอาด
– การส่งเสริมการค้าและการลงทุนที่เสรี เป็นธรรม และเปิดกว้าง ผ่านกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปค) รวมถึงในปี 2566 ที่สหรัฐฯ จะเป็นเจ้าภาพ
– การปิดช่องว่างด้านโครงสร้างพื้นฐานของภูมิภาคผ่านโครงการ Build Back Better World กับพันธมิตรกลุ่มประเทศ G7
4. มั่นคง
เป็นเวลา 75 ปีแล้วที่สหรัฐฯ ดำรงบทบาทด้านความมั่นคงโดยหนักแน่นและสม่ำเสมอ ซึ่งจำเป็นต่อการสนับสนุนสันติภาพ ความมั่นคง เสถียรภาพ และความมั่งคั่งในภูมิภาค เรากำลังขยายและปรับปรุงบทบาทนั้นให้ทันสมัย รวมทั้งเพิ่มความสามารถในการปกป้องผลประโยชน์ของเรา และเพื่อยับยั้งการรุกรานดินแดนของสหรัฐฯ ตลอดจนพันธมิตรและหุ้นส่วนของเรา เราจะสร้างเสริมความมั่นคงของภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก โดยใช้อำนาจทุกรูปแบบที่มี เพื่อยับยั้งการรุกรานและเพื่อตอบโต้การบีบบังคับ ด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น
– การยกระดับการป้องปรามแบบบูรณาการ
– การยกระดับความร่วมมือและความสามารถในการปฏิบัติการร่วมกันกับพันธมิตรและหุ้นส่วน
– การรักษาสันติภาพและเสถียรภาพตลอดแนวช่องแคบไต้หวัน
– การสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อดำเนินการในสภาพแวดล้อมที่ภัยคุกคามเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งรวมถึงด้านอวกาศ ไซเบอร์สเปซ ตลอดจนเทคโนโลยีที่สำคัญและอุบัติใหม่
– การเสริมสร้างความเข้มแข็งในการป้องปรามและประสานงานที่ครอบคลุมมากขึ้นกับพันธมิตรของเราในสาธารณรัฐเกาหลีและญี่ปุ่น และผลักดันการปลดอาวุธนิวเคลียร์โดยสมบูรณ์ในคาบสมุทรเกาหลี
– การสานต่อปณิธานของหุ้นส่วนไตรภาคีด้านความมั่นคงระหว่างออสเตรเลีย สหราชอาณาจักร และสหรัฐฯ (AUKUS)
– การขยายบทบาทของหน่วยยามฝั่งสหรัฐฯ และความร่วมมือเพื่อต่อต้านภัยคุกคามข้ามชาติอื่น ๆ
– การทำงานร่วมกับรัฐสภาสหรัฐฯ เพื่อให้ทุนแก่โครงการ Pacific Deterrence Initiative และ Maritime Security Initiative
5. พร้อมรับมือ
ภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกเผชิญกับความท้าทายข้ามชาติที่สำคัญหลายประการ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ ในขณะที่ธารน้ำแข็งในเอเชียใต้ละลายและหมู่เกาะแปซิฟิกต่อสู้กับปัญหาระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น การระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19ยังคงส่งผลกระทบแสนสาหัสต่อผู้คนและเศรษฐกิจทั่วทั้งภูมิภาค และรัฐบาลของบรรดาชาติอินโด-แปซิฟิกต้องต่อสู้กับภัยธรรมชาติ การขาดแคลนทรัพยากร ความขัดแย้งภายใน และความท้าทายด้านการเมืองการปกครอง หากไม่พึงระวัง ภัยร้ายเหล่านี้เหล่านี้อาจทำลายเสถียรภาพของภูมิภาคได้ เราจะสร้างความพร้อมรับมือในระดับภูมิภาคต่อภัยคุกคามข้ามชาติในศตวรรษที่ 21 ด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น
– การทำงานร่วมกับพันธมิตรและหุ้นส่วนเพื่อพัฒนาเป้าหมาย ยุทธศาสตร์ แผนงาน และนโยบายของสำหรับปี 2573 และ 2593 ซึ่งสอดคล้องกับการจำกัดอุณหภูมิโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส
– การลดความเปราะบางในระดับภูมิภาคเพื่อลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม
– การยุติการระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 และเสริมสร้างความมั่นคงด้านสุขภาพโลก