รีเซต

ผวาเกิดหนี้เสียพุ่ง หวั่นรายได้ครัวเรือนกระทบหนักจากวิกฤต เผยยอดสินเชื่อค้างชำระเริ่มพุ่งสูง

ผวาเกิดหนี้เสียพุ่ง หวั่นรายได้ครัวเรือนกระทบหนักจากวิกฤต เผยยอดสินเชื่อค้างชำระเริ่มพุ่งสูง
มติชน
28 กุมภาพันธ์ 2565 ( 13:03 )
90
ผวาเกิดหนี้เสียพุ่ง หวั่นรายได้ครัวเรือนกระทบหนักจากวิกฤต เผยยอดสินเชื่อค้างชำระเริ่มพุ่งสูง

เมื่อวันที่ 28 ก.พ. น.ส.จินางค์กูร โรจนนันต์ รองเลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ กล่าวว่า สำหรับหนี้สินครัวเรือนในไตรสามปี 2564 มีการขยายตัวชะลอลง โดยหนี้สินครัวเรือนมีมูลค่า 14.35 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.2% ในอัตราที่ชะลอลงจากไตรมาสก่อน ที่เพิ่มขึ้น 5.1% ซึ่งเป็นการชะลอลงในทุกประเภทสินเชื่อ โดยคิดเป็นสัดส่วนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศ (จีดีพี) อยู่ที่ 89.3% คงที่เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา

 

น.ส.จินางค์กูร กล่าวว่า ด้านความสามารถในการชำระหนี้ปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อย โดยหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) มีมูลค่า 1.5 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนต่อสินเชื่อรวมอยู่ที่ 2.89% ลดลงจาก 2.92% ในไตรมาสที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการบริหารจัดการคุณภาพสินเชื่อของสถาบันการเงินส่วนคุณภาพสินเชื่อปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อย

 

“อย่างไรก็ตาม ต้องเฝ้าระวังการเกิดหนี้เสีย เนื่องจากสัดส่วนสินเชื่อค้างชำระไม่เกิน 3 เดือน มีมูลค่าถึง 3.6 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนต่อสินเชื่อรวมสูงถึง 7.05% เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก ไตรมาสก่อน และเพิ่มสูงขึ้นเกือบทุกประเภทสินเชื่อยกเว้นสินเชื่อที่อยู่อาศัย ซึ่งหากมีปัจจัยอื่นที่กระทบต่อรายได้ครัวเรือนอาจส่งผลให้ หนี้เสียปรับตัวเพิ่มขึ้น” น.ส.จินางค์กูร กล่าว

 

น.ส.จินางค์กูร กล่าวว่า สำหรับแนวโน้มในระยะถัดไป คาดว่าหนี้สินครัวเรือนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยมีสาเหตุจาก ครัวเรือนรายได้สูงหรือที่ไม่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตยังมีแนวโน้มก่อหนี้เพิ่ม โดยเฉพาะในสินเชื่อเพื่อยานยนต์ ที่ยอดจองรถจักรยานยนต์และรถยนต์ในงานมอเตอร์เอ็กซ์โป 2021 ช่วงต้นเดือนธันวาคม 2564 เกินเป้าหมายที่ 3 หมื่นคัน และสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่เพิ่มขึ้นจากมาตรการการผ่อนคลายหลักเกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยของสถาบันการเงิน และ กลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 มีความต้องการสินเชื่อเพื่ออุปโภคบริโภคส่วนบุคคลเพื่อนำมาชดเชยสภาพคล่องจากรายได้ที่ยังไม่ฟื้นตัว

 

น.ส.จินางค์กูร กล่าวว่า ทั้งนี้ สถานการณ์หนี้สินครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงในปัจจุบัน อาจเป็นข้อจำกัดต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระยะต่อไป จึงต้องให้ความสำคัญกับ 1.การเร่งดำเนินมาตรการการแก้ไขปัญหาหนี้ ซึ่งยังมีปัญหาในกลุ่มลูกหนี้ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ ที่ได้รับการช่วยเหลือเพียงการชะลอการชำระหนี้แก่ลูกหนี้แบบชั่วคราว อาทิ การขยายระยะเวลา การพักชำระหนี้ ซึ่งไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างเป็นรูปธรรม 2.การส่งเสริมให้ครัวเรือนเข้าถึงสินเชื่อเพื่อเพิ่มสภาพคล่อง แต่ต้องคำนึงถึงความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือน เพื่อไม่ให้ครัวเรือนมีภาระหนี้มากเกินไป และ 3.การส่งเสริมให้ครัวเรือนได้รับการจ้างงานที่มีรายได้เพิ่มขึ้น โดยเน้นการยกระดับทักษะแรงงาน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง