รีเซต

เริ่มสัปดาห์หน้า! สธ.-ไฮแทป สำรวจความต้องการฉีดวัคซีนโควิด-19 กลุ่มเป้าหมาย

เริ่มสัปดาห์หน้า! สธ.-ไฮแทป สำรวจความต้องการฉีดวัคซีนโควิด-19 กลุ่มเป้าหมาย
มติชน
29 มกราคม 2564 ( 17:43 )
58
เริ่มสัปดาห์หน้า! สธ.-ไฮแทป สำรวจความต้องการฉีดวัคซีนโควิด-19 กลุ่มเป้าหมาย

วันนี้ (29 มกราคม 2564) ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.โสภณ เมฆธน ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำ สธ.เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการอำนวยการบริหารจัดการการให้วัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด 19) ครั้งที่ 2/2564 ว่า ตามเป้าหมายการให้วัคซีนโควิด-19 ในระยะที่ 1 ช่วงเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน 2564 ซึ่งเป็นช่วงที่วัคซีนมีจำกัด โดยดำเนินการในพื้นที่ที่มีการระบาด เพื่อลดการป่วยรุนแรงและเสียชีวิต กลุ่มเป้าหมาย คือ บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้าทั้งภาครัฐและเอกชน บุคคลที่มีโรคประจำตัว ได้แก่ โรคทางเดินหายใจเรื้อรังรุนแรง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตวายเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมอง โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน และโรคอ้วน ผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับการควบคุมโรคโควิด-19 ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วยนั้น

 

 

“ที่ประชุมมีมติเห็นชอบในหลักการการให้วัคซีนโควิด-19 ระยะที่ 1 โดยยึดหลักมีความปลอดภัยมีประสิทธิภาพ และความเป็นธรรม โดยเบื้องต้นจะให้วัคซีนในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า และกลุ่มเจ้าหน้าที่ก่อน เนื่องจากส่วนใหญ่มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง มีการศึกษาทดลองฉีดวัคซีนในกลุ่มนี้ในต่างประเทศ ช่วยป้องกันการป่วยอาการรุนแรง เพื่อรักษาระบบสุขภาพของประเทศให้เดินหน้าต่อไปได้ และจะช่วยสร้างความมั่นใจให้แก่ประชาชนในการรับวัคซีน” นพ.โสภณ กล่าวและว่า สำหรับพื้นที่ในการให้วัคซีน ได้แก่ พื้นที่ระบาด คือ จ.สมุทรสาคร และพื้นที่ควบคุมสูงสุด หรือพื้นที่สีแดงที่ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) มีการปรับพื้นที่ใหม่ คือ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี และ สมุทรปราการ

 

นพ.โสภณ กล่าวว่า สัปดาห์หน้าโครงการประเมินผลเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) จะสำรวจความต้องการของกลุ่มเป้าหมายว่า มีความต้องการฉีดวัคซีนเป็นอย่างไร เพื่อนำมาประเมินลำดับการให้วัคซีนเมื่อวัคซีนเข้ามาแล้ว

 

“นอกจากนี้ ที่ประชุมยังเน้นย้ำเรื่องการดำเนินการสื่อสารกับประชาชน เพื่อสร้างความเข้าใจและความมั่นใจเกี่ยวกับวัคซีนโควิด-19 และการฉีดวัคซีนไม่ใช่สูตรสำเร็จที่จะช่วยป้องกันควบคุมโรค แม้จะฉีดวัคซีนแล้วก็ยังต้องคงมาตรการป้องกันโรค ได้แก่ สวมหน้ากาก ล้างมือ และเว้นระยะห่าง” นพ.โสภณ กล่าว

 

ด้าน ศ.นพ.สิริฤกษ์ ทรงวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า อว.ได้รวบรวมข้อมูลการให้วัคซีนโควิด-19 ในระดับนานาชาติ พบว่า ขณะนี้ทั่วโลกมีการฉีดวัคซีนแล้ว 86.4 ล้านโดส อัตราการฉีดประมาณ 4.19 ล้านโดสต่อวัน ในจำนวนนี้ สหรัฐอเมริกามีการฉีดแล้ว 27.3 ล้านโดส คิดเป็น ร้อยละ 8.31 ของประชากร โดยมีผู้ได้รับวัคซีนครบ 2 ครั้งแล้ว 4.53 ล้านคน จีนฉีดแล้ว 23 ล้านโดส คิดเป็น ร้อยละ 1.64 ของประชากร สหภาพยุโรป (อียู) ฉีดแล้ว 10.91 ล้านโดส คิดเป็น ร้อยละ 2.46 ของประชากร แต่ประเทศที่มีอัตราการฉีดวัคซีนให้ประชากรสูงสุด คือ อิสราเอล ฉีดแล้ว 4.35 ล้านโดส คิดเป็น ร้อยละ 48.03 ของประชากร สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ฉีดแล้ว 2.87 ล้านโดส คิดเป็น ร้อยละ 26.69 ของประชากร และเซเชลส์ ฉีดแล้ว 3 หมื่นโดส คิดเป็น ร้อยละ 26.65 ของประชากร

 

“สำหรับการจัดหาวัคซีนโควิด-19 ทั่วโลก มีการจองซื้อแล้วรวมกว่า 8,490 ล้านโดส โดยวัคซีนของบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า มีการจองมากที่สุด 3,036 ล้านโดส โนวาแวกซ์ (Novavax) 1,314 ล้านโดส ไฟเซอร์ 836 ล้านโดส ทั้งนี้ วัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้า ประเทศอินเดีย มีการจองซื้อมากที่สุด 1,000 ล้านโดส โครงการ โคแวกซ์ (COVAX) จองซื้อ 300 ล้านโดส สหภาพยุโรป 300 ล้านโดส สหรัฐอเมริกา 300 ล้านโดส จีน 200 ล้านโดส ส่วนไทย 61 ล้านโดส ขณะที่วัคซีนของบริษัท ซิโนแวค มีการจองซื้อรวม 180 ล้านโดส เป็นอินโดนีเซีย 50 ล้านโดส ตุรกี 50 ล้านโดส บราซิล 46 ล้านโดส ไทย 2 ล้านโดส และประเทศอื่นๆ รวม 32 ล้านโดส” ปลัด อว.กล่าวและว่า ยืนยันว่า การดำเนินการจัดหาวัคซีนและจัดระบบริการให้วัคซีนของประเทศไทยไม่ได้ล่าช้าแต่อย่างใด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง