เมื่อไหร่จะต้องไปพบจิตแพทย์
ข่าววันนี้ เรื่องราวการใช้ชีวิตของผู้คนในปัจจุบัน เปลี่ยนแปลงไปจากวิถีเดิมอย่างมาก อีกทั้งเมื่อถูกกระหน่ำซ้ำด้วยวิกฤตโควิด-19 ระบาด เสริมด้วยความเครียดจากผลกระทบทางเศรษฐกิจ สิ่งเหล่านี้เปลี่ยนแปลงเราไปจากโลกเดิมๆที่เคยใช้ชีวิตกันมา อีกทั้งบางช่วงเวลาก็ยังมีเรื่องไม่คาดคิดเกิดขึ้นในชีวิตเรา ทำให้ต้องเจอปฏิกิริยาทางจิตใจ บางครั้งเราอาจจะคิดวนเวียน สับสน ตั้งรับไม่ถูก รู้สึกโกรธ โทษคนอื่น ปฏิเสธไม่ยอมรับ ซึมเศร้า บางคนปรับตัวได้ก็จะก้าวข้ามผ่านสิ่งเหล่านี้ไปได้ แต่บางคนก็อาจจะจมอยู่กับสิ่งเหล่านี้
บางคนก็จะมีคำถามกับตัวเองว่า “อาการแบบนี้ ฉันต้องไปพบจิตแพทย์หรือยัง” แต่พอเราเริ่มถามคนรอบข้าง บางคนก็จะออกอาการตกใจว่า “เธอยังไม่บ้านะ จะไปทำไม” หรือบางคนก็คุยกับตัวเองว่า “นี่ฉันบ้าไปแล้วหรือนี่ ถึงจะต้องไปพบจิตแพทย์” ....คำถามแบบนี้ อย่าไปกังวลเยอะ
ข้อมูลจาก กองส่งเสริมและพัฒนาสุขภาพจิต กรมสุขภาพจิต บอกว่า คนเราทุกคนย่อมมีโอกาสพบกับเหตุการณ์รุนแรงที่มากระทบทั้งร่างกายและจิตใจ ทำให้เกิดความทุกข์ใจ ไม่สบายใจ ซึ่งเหตุการณ์เหล่านั้นอาจเกิดขึ้นชั่วคราว แต่ผลกระทบจิตใจจะคงอยู่หรือหายไปอย่างรวดเร็วขึ้นอยู่กับความเข้มแข็งทางใจของแต่ละคน
เริ่มสังเกตตัวเอง
ลองสำรวจและสังเกตตัวเองว่า 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา คุณเป็นแบบนี้หรือเปล่า ???
ทุกวันนี้ชีวิตฉันเลวร้ายไปหมด
เมื่อไม่สบายใจ ฉันไม่มีใครให้ปรับทุกข์ด้วย
ทุกวันนี้ฉันรู้สึกท้อแท้ หมดกำลังใจที่จะใช้ชีวิตในสถานการณ์นี้
เมื่อมีปัญหาวิกฤติเกิดขึ้น ฉันรู้สึกว่าตัวเองไร้ความสามารถ
ทุกวันนี้ฉันหมดหนทางที่จะแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในสถานการณ์นี้
ทีนี้…หากพบว่า คำตอบของตัวเองตรงกับข้อใดข้อหนึ่ง คุณควรจะ…
- บอกตัวเองว่าความทุกข์จะผ่านไป ความทุกข์ไม่ได้อยู่กับเราไปตลอด
- คิดถึงคนที่เรารักและห่วงใยเรา คิดถึงความสำเร็จ ความภูมิใจที่ผ่านมา
- ผูกมิตรและช่วยเหลือเกื้อกูลกันในยามที่เกิดปัญหาจะได้ช่วยเหลือกันได้
- ฝึกสร้างกำลังใจให้ตัวเองสู้
- เรียนรู้วิธีการแก้ปัญหาในสถานการณ์ต่างๆ จากคนอื่นเพื่อนำมาใช้เมื่อเกิดปัญหากับตนเอง
ปัจจัยสิ่งเปลี่ยนแปลงรอบตัว
เมื่อเราสังเกตเห็นว่า คนรอบข้างหรือตนเองเริ่มรู้สึกไม่สบายใจ ก็ควรมาพบจิตแพทย์ เพื่อประเมินอาการและรักษา โดยขอแบ่งสัญญานเตือนออกเป็น 3 ด้าน เพื่อให้เข้าใจและนำไปใช้ได้อย่างง่ายๆ ดังนี้
1. สัญญาณเตือนด้านอารมณ์
มีความกังวลทุกข์ใจ ซึมเศร้า ตลอดเวลา ไม่หายไป
หวาดระแวงในทุกๆ เรื่อง มีอารมณ์หงุดหงิดมากผิดปกติ
รู้สึกเครียดตลอดเวลามีความกระวนกระวายใจ และอยู่ไม่นิ่ง
2. สัญญาณเตือนด้านความคิด มักพบว่าเนื้อหาความคิด ผิดไปจากปกติ
ไม่มีสมาธิในการทำงาน ทำกิจกรรมต่างๆ และหลงลืมมากกว่าผิดปกติ
การตัดสินใจหรือการแก้ไขปัญหาไม่ได้ ในทุกๆ เรื่องแม้เป็นเรื่องเล็กน้อยก็ตาม
ได้ยินเสียงแว่วหรือเห็นภาพที่ผู้อื่นไม่เห็นมีความคิดทำร้ายตนเอง และความคิดว่ามีคนมาปองร้าย
มีการใช้คำพูดหรือคิดหมกมุ่นในเรื่องอดีต มีความคิดที่เร็ว คิดหลายเรื่อง คิดฟุ้งซ่าน
3. สัญญาณเตือนด้านพฤติกรรม หรือร่างกาย
ไม่สนใจดูแลตนเองเหมือนเมื่อก่อน ปล่อยตัวไม่สนใจสิ่งแวดล้อม แยกตัวไม่พบปะผู้คนเหมือนเคย
นอนไม่หลับหรืออาจนอนมากเกินปกติ
เบื่ออาหาร หรือรับประทานอาหารมากเกินปกติ
ใช้จ่ายฟุ่มเฟื่อย ใช้จ่ายโดยไม่ยั้งคิด
ดื่มเหล้าหรือสูบบุหรี่มาก
และเมื่อเรารู้สึกว่าตนเองหรือคนรอบข้างเปลี่ยนไป ในด้านใดด้านหนึ่งดังที่กล่าวมา ก็ควรมาพบจิตแพทย์ เพื่อได้รับการดูแลจิตใจให้แข็งแรง เมื่อจิตใจดีแล้ว ร่างกายก็ดีตามมาด้วย อย่าลืมดูแลจิตใจทั้งคนรอบข้างและตนเองให้เข้มแข็งกัน
เริ่มต้นไปพบจิตแพทย์ต้องทำอย่างไร
เมื่อสำรวจอาการของตัวเองแล้ว พบความผิดปกติตามที่กล่าวมา หรือ เอาแค่ว่ารู้สึกว่าความคิด อารมณ์ของตัวเองแปรเปลี่ยนไป และควบคุมไม่ได้ ก็ไปเถอะ...โดยมาเริ่มต้นด้วย
ตรวจสอบสิทธิการรักษาของตนเอง
สำรวจสิทธิของตัวเองว่า มีสิทธิการรักษาประเภทไหน อยู่ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สิทธิสปสช.) หรืออยู่ในบัตรประกันสังคม เพื่อจะไปให้ตรงกับสถานพยาบาลตามระบบ
มาพบจิตแพทย์แล้วจิตแพทย์ทำอย่างไร ?
การพบจิตแพทย์ จะมีการถามประวัติความไม่สบายที่ต้องมาพบแพทย์และมีการตรวจสภาพจิต และอาจตรวจร่างกายด้วยถ้าแพทย์คิดว่ามีอะไรที่จะต้องตรวจดู แพทย์จะถามประวัติเกี่ยวกับอาการทางร่างกายที่เกิดขึ้น ประวัติเกี่ยวกับอาการทางจิตใจ
นอกจากนี้แพทย์จะถามถึงความเป็นอยู่ เช่น เป็นใคร ทำอาชีพอะไร บ้านอยู่ไหน แต่งงานแต่งการหรือยัง มีลูกกี่คน ถามถึงว่าช่วงนี้มีเหตุการณ์สำคัญอะไรเกิดขึ้นหรือไม่ ทั้งที่ดี และที่ไม่ดี เป็นต้น
ในการตรวจสภาพจิต จิตแพทย์จะดูตั้งแต่ท่าทาง การแต่งเนื้อแต่งตัว การพูดจา เพราะแค่นี้ก็พอบอกอะไรได้ตั้งหลายอย่างแล้ว และเมื่อได้ข้องมูลมากพอจิตแพทย์จะเริ่มให้การรักษา
แล้วผู้ป่วยต้องทำอย่างไรบ้าง ?
เมื่อไปพบจิตแพทย์ ผู้ป่วยจะต้องเล่าปัญหาให้แพทย์ฟังให้ตรงตามความรู้สึกมากที่สุด ทั้งอาการไม่สบายที่เกิดขึ้น เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่ทำให้เราเครียด ชีวิตส่วนตัวทั้งในปัจจุบันและในอดีต สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้แพทย์จะค่อย ๆ ถามให้ผู้ป่วยเล่าออกมาได้เองโดยที่ผู้ป่วยไม่จำเป็นจะต้อง "ท่องมา" หรือ "เรียบเรียง" เอาไว้ก่อน ผู้ป่วยเพียงแต่เล่าตามที่แพทย์ถามเท่าที่จะเล่าได้ เรื่องที่ลำบากใจยังไม่อยากเล่าก็เก็บไว้ก่อน เอาไว้พร้อมที่จะเล่าแล้วค่อยเล่าก็ได้
ไปพบจิตแพทย์แล้วจะต้องกินยาใช่หรือไม่ ?
การรักษาทางจิตเวชนั้นมีทั้งการรักษาด้วยยาและการรักษาทางจิตวิทยา (ให้คำปรึกษา จิตบำบัด พฤติกรรมบำบัด ฯลฯ) โรคบางโรคเรารักษาด้วยวิธีทางจิตวิทยาเป็นหลัก แต่ในบางโรคต้องรักษาด้วย ยาเป็นหลัก และบางโรครักษาด้วยทั้ง 2 วิธีร่วมกันก็เป็นได้
.
สุดท้าย ถ้าอยากได้ข้อมูลเพิ่มเติม หรือ รับคำแนะนำเพิ่มเติม สามารถโทรหาสายด่วนสุขภาพจิต 1323 หรือจะ ตรวจเช็คสุขภาพใจ ด้วยตัวเองได้ที่นี่ https://checkin.dmh.go.th/
ติดตาม TNN Health ผ่านช่องทางต่าง ๆ ได้ที่
Website : https://www.tnnthailand.com/
Youtube : https://bit.ly/TNNHealthYoutube
TikTok : https://bit.ly/TNNHealthTikTok
Line @TNNONLINE : https://lin.ee/4fP2tltIo
หรือดูรายการ Live ได้ทาง https://www.facebook.com/TNN16LIVE/