THANI ดีมานด์รถบรรทุกโต ดันยอดสินเชื่อใหม่2.7หมื่นล.
ข่าววันนี้ THANI ตั้งเป้าสินเชื่อมใหม่ปี 2565 แตะ 2.7 หมื่นล้านบาท เน้นรถบรรทุกทั้งเก่า – ใหม่ หลังดีมานด์เติบโตต่อเนื่อง พร้อมปรับแผนเน้นรีไฟแนนซ์มากกว่าการลดอัตราดอกเบี้ยลง เพื่อคุมต้นทุนให้เหมาะสม พน้อมเพิ่มงานสินเชื่อกลุ่มใหม่ต่อเนื่อง เรือยอร์ช รถหรู รถตู้ทึบเป็นต้น
นายโกวิท รุ่งวัฒนโสภณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ราชธานีลิสซิ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ THANI เปิดเผยว่า ความต้องการใช้รถบรรทุกทั้งใหม่ และเก่า ดีมานด์ยังเร่งตัวขึ้นตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปี 2564 ต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน บริษัทจึงตั้งเป้ายอดปล่อยสินเชื่อรถใหม่ทั้งปี 2565 ประมาณ 2.6 – 2.7 หมื่นล้านบาท
ขยายสินเชื่อตลาดใหม่ ๆ
พร้อมกันนี้ บริษัทวางแผนรุกเข้าสู่การะบริการสินเชื่อประเภทอื่นเพิ่มเติม อาทิ เรือยอร์ช, เครื่องจักร, รถตู้ทึบเพื่อขนส่งสินค้าอุปโภค-บริโภค ฯลฯ รวมถึงสินเชื่อจำนำทะเบียนรถยนต์ ที่คาดว่าจะได้รับในอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ภายในเดือนเมษายน 2565 นี้ โดยบริษัทยังคงเป้าหมายพอร์ตสินเชื่อรวม ณ สิ้นปี 2565 ที่ 5 หมื่นล้านบาท จาก ณ สิ้นปี 2564 ที่ 4.79 หมื่นล้านบาท
สำหรับผลิตภัณฑ์สินเชื่อรถ Luxury Cars ปัจจุบันการแข่งขันเริ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะการที่ผู้ประกอบการธนาคารพาณิชย์เริ่มหันมาสนใจลูกค้ากลุ่มนี้ แต่ยังคงมุ่งเจาะฐานลูกค้ากลุ่ม “รถใหม่” เป็นหลัก จึงไม่ส่งผลกระทบต่อฐานลูกค้าของบริษัทในกลุ่มรถ Luxury Cars มือ 2 ซึ่งลูกค้าตอบรับดีจากอย่างต่อเนื่อง
ปัจจุบันมาตรการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ได้สิ้นสุดลงแล้ว บริษัทจึงปรับกลยุทธ์การติดตามทวงถามใหม่เพื่อรักษาสัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ให้อยู่ต่ำกว่า 4% ทำให้ระยะเวลาการยึดรถจะสั้นลงเหลือประมาณ 6 เดือน จากที่ให้ระยะเวลา 8-10 เดือน โดยตั้งเป้ายึดรถให้ได้เฉลี่ยเดือนละ 120 คัน เนื่องจากปัจจุบันความต้องการรถบรรทุกมือสองในตลาดมีสูงมาก
“ความต้องการรถบรรทุกเร่งตัวสูงขึ้นโดยปี 2564 ที่ผ่านมายอดขายรถบรรทุกใหม่สูงถึง 3 หมื่นคันเ ท่ากับสถิติสูงสุดเดิมเมื่อปี 2558 และยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจนยอดสั่งรถใหม่ล้น ดังนั้นตลาดรถบรรทุกมือสองจึงได้รับความนิยมตามมาในเวลาอันรวดเร็ว”
ขณะเดียวกันบริษัทจะเน้นการ “รีไฟแนนซ์” ลูกค้าเดิมของบริษัทแทนการให้ความช่วยเหลือด้วยการปรับลดอัตราดอกเบี้ย เพื่อรักษาระดับอัตราดอกเบี้ยรับเฉลี่ยทั้งปีที่ 7%และจะพยายามรักษาต้นทุนอัตราดอกเบี้ยจ่ายเฉลี่ยทั้งปี 2565 ให้ทรงตัวอยู่ประมาณ 2.4%ต่อเนื่องจากปี 2564 ด้าน
“ปัจจุบันต้นทุนของบริษัทมาจากการออกหุ้นกู้ และวงเงินเครดิตจากธนาคาร TTB โดยบริษัทพยายามรักษาสัดส่วนหนี้ระยะสั้น – ระยะยาให้เหมาะสม เพื่อรักษาระดับอัตราดอกเบี้ยจ่ายไว้ในระดับที่เหมาะสม ส่วนพอร์ตสินเชื่อรถบรรทุกใหม่ – รถบรรทุกมือสอง ปัจจุบันเป็นลูกค้ารายย่อยประมาณ 40-50% ของพอร์ตสินเชื่อรวม และลูกค้าขนาดกลาง-ใหญ่ ประมาณ 50-60% ของพอร์ตสินเชื่อรวม ซึ่งจะคงสัดส่วนดังกล่าวไว้เพื่อลดความเสี่ยงของพอร์ตงาน”
มั่นใจไตรมาส 1/2565 โตต่อ
ทั้งนี้ บริษัทคาดการณ์ผลการดำเนินงานงวดไตรมาส 1/2565 จะสามารถขยายตัวได้ต่อเนื่องทั้งเมื่อเทียบกับงวดไตรมาส 4/2564 (QoQ) และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) หนุนจากยอดการปล่อยสินเชื่อเดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ 2565 ที่ผ่านมาสามารถทำได้ตามเป้าที่ประมาณ 2.2 -2.4 พันล้านบาทต่อเดือน