รฟท.ลุยไฮสปีดเทรน เฟส 2 ต่อขยาย "ระยอง-จันทบุรี-ตราด"
วันนี้ (24 ก.ค.63) นายสุชีพ สุขสว่าง วิศวกรใหญ่ฝ่ายโครงการพิเศษและก่อสร้าง การรถไฟแห่งประเทศไทย หรือ รฟท. เป็นประธานเปิดการประชุมเพื่อประเมินความสนใจเบื้องต้นของภาคเอกชน (Market Sounding) โครงการวิเคราะห์และศึกษาความเหมาะสมด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ สังคมการเงิน และแนวทางการลงทุนที่เหมาะสม ตลอดจนงานออกแบบเบื้องต้นโครงการรถไฟความเร็วสูง เชื่อม 3 สนามบิน ระยะที่ 2 ส่วนต่อขยายจังหวัดระยอง-จันทบุรี-ตราด เพื่อเป็นการระดมความเห็นและข้อเสนอแนะจากภาคเอกชน สำหรับการสรุปรูปแบบการร่วมลงทุนพัฒนาโครงการ โดยมี ตัวแทนหน่วยงานจากภาครัฐ ภาคธุรกิจ กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ กลุ่มธนาคาร กลุ่มนักลงทุน สมาคมการค้า ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เข้าร่วม
นายสุชีพ กล่าวว่า รฟท. ได้ว่าจ้างที่ปรึกษาเพื่อศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ สังคม การเงิน แนวทางการลงทุนที่เหมาะสม ออกแบบและประมาณราคาค่าก่อสร้างเบื้องต้น และการมีส่วนร่วมของประชาชน โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ระยะที่ 2 เพื่อรองรับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) และการจัดตั้งระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก รวมทั้งส่งเสริมการท่องเที่ยว เชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมขนส่ง และเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการด้านการเดินทางและการขนส่งสินค้าในนิคมอุตสาหกรรมภาคตะวันออก
สำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ระยะที่ 2 มีจุดเริ่มต้นโครงการเชื่อมต่อจากโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ระยะที่ 1 ฝั่งตะวันออกของสนามบินอู่ตะเภาผ่านสถานีรถไฟบ้านฉาง เข้าสู่สถานีระยอง ตั้งอยู่บนทางหลวงหมายเลข 3574 (ระยอง- บ้านค่าย) ห่างจากสี่แยกเกาะลอยประมาณ 3 กิโลเมตร จากนั้น แนวเส้นทางจะมุ่งหน้าสู่อำเภอแกลง เข้าสู่สถานีแกลง ซึ่งตั้งอยู่บนทางหลวงหมายเลข 344 (ชลบุรี-แกลง) ห่างจากสามแยกแกลง ประมาณ 2 กิโลเมตร วิ่งตามแนวเส้นทางรถไฟทางคู่บางช่วง ผ่านอำเภอนายายอาม อำเภอท่าใหม่ เข้าสู่สถานีจันทบุรี ซึ่งตั้งอยู่บริเวณแยกเขาไร่ยา ผ่านอำเภอเมืองจันทบุรี อำเภอมะขาม อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี เข้าอำเภอเขาสมิง และมาสิ้นสุดโครงการบริเวณสถานีตราด ซึ่งตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค บนทางหลวงหมายเลข 3 (ถ.สุขุมวิท) ห่างจากสามแยกตราด ประมาณ 2 กิโลเมตร รวมระยะทางประมาณ 190 กิโลเมตร
จากผลการศึกษา หากก่อสร้างสถานีระยอง แกลง จันทบุรี และตราด แล้วเสร็จ พร้อมเปิดดำเนินการภายในปี 2571 จะมีผลตอบแทนด้านเศรษฐกิจ (EIRR) 5.39 % ส่วนรูปแบบการลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชนนั้น เบื้องต้น รฟท.ได้เสนอรูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน แบบ PPP Net Cost โดยเสนอเป็น 3 แนวทางเลือก คือ แบบที่ 1 เอกชนเป็นผู้ลงทุนทั้งหมด ทั้งงานโยธา งานระบบ ขบวนรถ และงาน Operation & Maintenance โดยภาครัฐเป็นผู้จัดหาที่ดิน แบบที่ 2 เอกชนเป็นผู้ดำเนินงานเฉพาะงานระบบและตัวรถ และ งาน Operation & Maintenance โดยภาครัฐเป็นผู้จัดหาที่ดิน และงานโยธา และแบบที่ 3 เอกชนเป็นผู้ดำเนินการเฉพาะงาน Operation & Maintenance โดยภาครัฐเป็นผู้จัดหาที่ดิน งานโยธา งานระบบ และขบวนรถ
ทั้งนี้ รฟท.ได้จัดการประชุมครั้งนี้ เพื่อเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนและนักลงทุนที่มีความสนใจ ได้ร่วมแสดงความคิดเห็น ให้ข้อเสนอแนะต่อการดำเนินการโครงการ เพื่อนำไปสู่การสรุปแนวทางการให้เอกชนร่วมลงทุน ก่อนนำเสนอขออนุมัติโครงการ จากนั้น จึงดำเนินการคัดเลือกเอกชนผู้ร่วมลงทุนต่อไป
เกาะติดข่าวที่นี่
website: www.TNNThailand.com
facebook : TNNThailand
facebook live : TNN Live
twitter : @TNNThailand
Line : @TNNONLINE
Youtube Official : TNNThailand
Instagram : @tnn_online
TIKTOK : @tnnonline