รีเซต

สหรัฐฯ จะช่วยยูเครนทำสงครามกับรัสเซียหรือไม่?

สหรัฐฯ จะช่วยยูเครนทำสงครามกับรัสเซียหรือไม่?
TNN ช่อง16
21 มกราคม 2565 ( 11:36 )
234
สหรัฐฯ จะช่วยยูเครนทำสงครามกับรัสเซียหรือไม่?

รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ยังคงเดินหน้าทางการทูตเพื่อจะคลี่คลายความขัดแย้งเหนือวิกฤตยูเครน วันนี้ มีกำหนดหารือกับรัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซียที่เจนีวา สวิตเซอร์แลนด์  


แต่ขณะเดียวกันก็มีรายงานว่า ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐฯ ไฟเขียว ให้กลุ่มประเทศบอลติกขนอาวุธที่ผลิตโดยสหรัฐฯ เข้าไปในยูเครนเพื่อหวังยับยั้งรัสเซียรุกรานแล้ว


---ยังหวังใช้การทูตยับยั้งสงคราม---


สหรัฐฯ และพันธมิตรตะวันตกยังคงพยายามอย่างหนักที่จะใช้วิถีทางการทูตยับยั้งไม่ให้รัสเซียบุกยูเครน


ล่าสุด แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ เดินทางไปถึงนครเจนีวา ของสวิตเซอร์แลนด์ เพื่อเตรียมหารือกับ เซอร์เกย์ ลาฟรอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซียที่ไปถึงที่นั่นแล้วเช่นกัน


ก่อนหน้านี้ บลิงเคนเพิ่งจะเดินทางไปร่วมประชุมกับพันธมิตรยุโรป ที่กรุงเบอร์ลิน ของเยอรมนี ได้ข้อสรุปว่า สหรัฐฯ และพันธมิตรยุโรปจะเสนอมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียอันเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน อย่างรุนแรง เพื่อตอบโต้หากรัสเซียรุกรานยูเครน


อันนาเลนา แบร์บอค รัฐมนตรีต่างประเทศของเยอรมนี เรียกร้องให้รัสเซีย ลดระดับพฤติกรรมก้าวร้าวที่อาจส่งผลกระทบร้ายแรงลง มิฉะนั้นจะเผชิญกับการคว่ำบาตรหลายระดับ


---รัสเซียชี้ แค่ซ้อมรบเท่านั้น---


รัสเซียกำลังรอคำตอบเป็นลายลักษณ์อักษรจากสหรัฐฯ และ NATO หลังการประชุม 3 รอบ ที่ยุโรปไม่มีความคืบหน้า เมื่อเร็ว ๆ นี้ รัสเซียเพิ่งประกาศว่าจะไม่มีการเจรจากับยูเครนจนกว่าจะได้รับคำตอบเป็นลายลักษณ์อักษรจากชาติตะวันตก


แต่บลิงเคน ระบุว่า จะยังไม่มีการเสนอคำตอบเป็นลายลักษณ์อักษรในการเจรจากับรัฐมนตรีต่างประเทศของรัสเซียครั้งนี้ในสัปดาห์นี้


การเดินทางของบลิงเคนมีขึ้น ท่ามกลางความกังวลของชาติตะวันตกว่า รัสเซียอาจสร้างสถานการณ์เพื่อหาข้ออ้างบุกยูเครน และอาจจะบุกยูเครนเร็วๆ นี้


นอกจากมีการวางกำลังนับแสนนายประชิดชายแดนยูเครน กองทหารรัสเซียได้เดินทางไปยังเบลารุส สร้างความกังวลต่อประเทศเพื่อนบ้านต่างๆ ว่าจะยิ่งทำให้สถานการณ์ความมั่นคงภูมิภาคไร้เสถียรภาพมากขึ้น


รัสเซียซึ่งไม่ยอมหยุดการเสริมกำลังทหารตามแนวชายแดนยูเครน ปฏิเสธว่าไม่ได้วางแผนจะโจมตียูเครน และการส่งทหารไปเบลารุสก็เพื่อซ้อมรบร่วมกันเท่านั้น


---สหรัฐฯ จะช่วยยูเครนรบกับรัสเซีย?---


การที่สหรัฐฯ และพันธมิตร NATO ไม่ตอบรับข้อเรียกร้องของรัสเซียทำให้เกิดความกังวลว่าอาจะเกิดสงครามตามมา


ขณะนี้มีเจ้าหน้าที่กองทัพสหรัฐฯ เกือบ 200 นายในยูเครน ทำหน้าที่ฝึกทหารยูเครนร่วมกับกองทัพพันธมิตรนาโต เช่นแคนาดา และเยอรมนี และยังมีกองกำลังพิเศษของสหรัฐฯ ที่ไม่ได้เปิดเผยจำนวนกำลังทำงานร่วมกับกองทัพยูเครนเพื่อฝึกอบรมให้กับกองทัพยูเครน


แต่นโยบายขณะนี้ของไบเดนระบุว่า กองทัพสหรัฐฯ จะไม่ต่อสู้กับรัสเซีย หากรุกรานยูเครน และหากรัสเซียบุกยูเครนจริง เจ้าหน้าที่เหล่านี้ น่าจะทำหน้าที่ดูแลความปลอดภัยและช่วยอพยพชาวอเมริกันในยูเครนมีอยู่ประมาณ 10,000-15,000 คน


อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่า เมื่อวันพุธที่ผ่านมา (19 มกราคม) สหรัฐฯ ได้มอบเงินช่วยเหลือด้านการป้องกันประเทศ 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 6,400 ล้านบาทให้กับยูเครน และเพิ่มจากเดิมที่เคยมอบให้ 450 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 14,400 ล้านบาท เมื่อปีที่แล้ว ก่อนที่รัสเซียจะเริ่มเคลื่อนย้ายทหารหลายหมื่นนายไปยังชายแดนยูเครน


แต่เมื่อผู้สื่อข่าวตั้งคำถามกับ พลเอกลอยด์ ออสติน รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ ถึงความเป็นไปได้ที่สหรัฐฯ จะช่วยยูเครนรบกับรัสเซีย เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ก็ได้รับคำตอบเลี่ยง ๆ ว่า ในสถานการณเช่นนี้การสื่อถึงเส้นแดง ทำให้ปัญหารุนแรงขึ้น ดังนันจึงควรมุ่งเน้นไปที่การหาวิธีลดความรุนแรงและลดความตึงเครียดมากกว่า


---ทางออกทางการทูตร่วมกันคืออะไร---


แม้สหรัฐฯ จะประกาศว่าพร้อมรับมือกับรัสเซียทุกทาง ไม่ว่าจะกลับไปยังโต๊ะเจรจา หรือจะเผชิญหน้าก็ตาม แต่วิธีที่ชาติตะวันตกต้องการให้เกิดผลที่สุดก็คือการเจรจาทางการทูต


AFP ระบุว่า เวนดี เชอร์แมน รัฐมนตรีช่วยต่างประเทศสหรัฐฯ ที่เข้าร่วมเจรจากับตัวแทนฝ่ายรัสเซียก่อนหน้านี้ เสนอให้กลับไปใช้สนธิสัญญากำลังนิวเคลียร์พิสัยกลาง หรือ INF (ntermediate-Range Nuclear Forces Treaty) หรือ สนธิสัญญาระหว่างสหรัฐอเมริกากับสหภาพสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตว่าด้วยการกำจัดขีปนาวุธพิสัยกลางและพิสัยสั้นกว่าของสองประเทศ ที่อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ถอนตัวออกไปอย่างเป็นทางการเม่อปี 2019 โดยอ้างว่ารัสเซียไม่ปฏิบัติตามสนธิสัญญาดังกล่าว


ขณะที่โธมัส เกรแฮม อดีตเจ้าหน้าที่ระดับสูงในรัฐบาลอดีตประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู ยุช เขียนบทความถึงเรื่องนี้ ว่า ควรเสนอให้รัสเซียห้ามแตะต้องยูเครน หรือประเทศอดีตสหภาพโซเวียตอื่น ๆ เป็นเวลา 20 - 25 ปี


ขณะที่ สตีเวน ไพเฟอร์ ชี้ ว่า การจะเปลี่ยนแปลงนโยบายเปิดกว้างรับสมาชิกของนาโต ตามที่รัสเซียต้องการ ต้องได้รับการเห็นด้วยจากสมาชิกทั้ง 30 ชาติ ที่ขณะนี้อาจเป็นไปไม่ได้ แต่ก็อาจเปลี่ยนแปลงได้ในอนาคต


---ไบเดนสาดวาทะเดือด ทำรัสเซียไม่พอใจ---


ท่ามกลางความพยายามจะใช้วิถีทางการทูตแก้วิกฤตยูเครน-รัสเซีย แต่ดูเหมือนประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐฯ ที่ออกมาแสดงท่าทีเมื่อวานนี้ คาดการณ์ว่า รัสเซียจะบุกยูเครนแน่นอน และขู่จะตอบโต้รัสเซียด้วยการคว่ำบาตรอย่างรุนแรง ถึงขั้นเป็นหายนะ สร้างความไม่พอใจแก่รัสเซียอย่างมาก


โฆษกทำเนียบเครมลินกล่าวว่า คำขู่ของไบเดน เสี่ยงต่อการทำให้สถานการณ์ไม่มั่นคงอีกต่อไป


ขณะที่ผู้นำพรรคริพับลิกันก็ตำหนิการกระทำของไบเดน ว่าไม่เหมาะสม


ล่าสุด ไบเดน ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าว ถึงวิกฤตยูเครน มีนักข่าวคนหนึ่งถามว่า ทำไมต้องรอให้รัสเซียเคลื่อนไหวก่อน, ไบเดน ก็ตอบว่า เป็นคำถามที่โง่อะไรเช่นนี้

—————

แปล-เรียบเรียง: สุภาพร เอ็ลเดรจ

ภาพ: Reuters



ข่าวที่เกี่ยวข้อง