รีเซต

"โอนลอย" คืออะไร? โอนลอยรถต้องทำอย่างไร ป้องกันการถูกดำเนินคดีอาญาโดยไม่รู้ตัว

"โอนลอย" คืออะไร? โอนลอยรถต้องทำอย่างไร ป้องกันการถูกดำเนินคดีอาญาโดยไม่รู้ตัว
TNN ช่อง16
26 มกราคม 2565 ( 12:06 )
261
"โอนลอย" คืออะไร? โอนลอยรถต้องทำอย่างไร ป้องกันการถูกดำเนินคดีอาญาโดยไม่รู้ตัว

วันนี้ (26 ม.ค.65) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีที่ ส.ต.ต.นรวิชญ์ บัวดก ผบ.หมู่ กองร้อยที่ 2 กองกำกับการ 1 กองบังคับการอารักขาและควบคุมฝูงชน (กก.1 บก.อคฝ.) ขับขี่รถจักรยานยนต์ "บิ๊กไบค์" ชน พญ.วราลัคน์ สุภวัตรจริยากุล หรือ "หมอกระต่าย" จักษุแพทย์ ภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เสียชีวิต ขณะกำลังเดินข้ามทางม้าลาย นั้น

ล่าสุด พบประเด็นการซื้อขายรถบิ๊กไบค์ โดยมีการแชร์ข้อมูลจากทางร้านว่า ลูกค้าที่ซื้อรถคันดังกล่าวไปไม่ใช่ตำรวจ และพบว่าชื่อผู้ครอบครองล่าสุดเป็นชายหนุ่มรายหนึ่ง ซึ่งภายหลังออกมาให้ข้อมูลยืนยันว่าได้ขายในลักษณะโอนลอยรถบิ๊กไบค์ดูคาติไปแล้ว

เรื่องราวดังกล่าว สำนักงานกิจการยุติธรรม ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับ การ "โอนลอยรถ" อย่างไร ไม่ต้องคดี "อาญา" โดยไม่รู้ตัว โดยมีรายละเอียด ระบุว่า หากท่านอยากจะขายรถเก่า ไม่ว่าจะขายให้กับ "เต้นท์รถ" หรือบุคคลทั่วไป หรืออยากจะซื้อรถเก่าก็ตาม ถ้าท่านเป็นมือใหม่ในการซื้อ-ขายรถ คำถามหนึ่งที่มักเกิดขึ้นก็คือการ "โอนลอย" ดีหรือไม่

ท่านที่มีความชำนาญ หรือมีประสบการณ์ในการขายรถมาแล้ว อาจจะเห็นว่าคำถามเรื่องการ "โอนลอย" ไม่เห็นที่จะต้องเป็นประเด็นใหญ่โต แต่ไม่น่าเชื่อว่า จากการเปิดข้อมูลผ่านอินเตอร์เน็ต ไม่ว่าจะเป็นเว็บไซต์กระดานสนทนาชื่อดังอย่าง "พันธุ์ทิพย์" เว็บไซต์กฎหมาย หรือเว็บไซต์เกี่ยวกับการซื้อขายรถมือสอง ทุกอันจะมีคำถามเรื่องการ "โอนลอย" อยู่เต็มไปหมด

หลายคนมักจะเกิดคำถามเช่นว่า "โอนลอย" เป็นอย่างไร? ดีหรือไม่? จะทำอย่างไร? จะมีผลอะไรตามมาหรือเปล่ากรณีที่เจ้าของรถใหม่ยังไม่ได้เปลี่ยนชื่อ แล้วไปก่ออุบัติเหตุ หรือแม้แต่เหตุอาชญากรรม? หรือ รถที่เราซื้อมาไปมีปัญหาอะไรมาก่อนหน้านี้หรือไม่? ต่างๆ นานาล้วนเป็นคำถามที่พัวพันกับการ "โอนลอย"

จึงอยากจะถือโอกาสรวบรวมข้อมูลต่างๆ ที่สำคัญเกี่ยวกับการโอนลอย ให้ผู้ที่สนใจจะดำเนินการธุรกรรมเกี่ยวกับเรื่องรถได้รับทราบกัน ทั้งในแง่ของวิธีการปฏิบัติ และในแง่กฎหมาย เพื่อความสะดวกในการค้นหาข้อมูล

"การโอนลอย" ตามความหมายของกรมการขนส่งทางบก ระบุว่า "คือการที่เจ้าของรถได้ขายรถของตนแล้ว และทำการลงนามในเอกสารการโอนรถ และใบมอบอำนาจให้แก่ผู้ซื้อ โดยมิได้มีการดำเนินการทางทะเบียนที่สำนักงานขนส่งฯ"

สำหรับเอกสารต่างๆ ที่ต้องใช้ในการโอนรถนั้น ประกอบไปด้วย

1.สมุดคู่มือทะเบียนรถยนต์ โดยจะต้องตรวจสอบความถูกต้องดังต่อไปนี้

1.1 เลขทะเบียนรถ จะต้องตรงกับป้ายทะเบียนรถยนต์ (ของแท้ต้องมีคำว่า "ขส.") ป้ายทะเบียน และพ.ร.บ.

1.2 ปีที่จดทะเบียน

1.3 สี, หมายเลขเครื่อง, หมายเลขตัวถัง, ต้องตรงกับตัวถังรถยนต์และหมายเลขเครื่องยนต์ที่ติดอยู่กับตัวรถ

1.4 ชื่อเจ้าของรถต้องตรวจดูชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์, เลขที่บัตร, ที่อยู่ ให้ตรงกับบัตรประชาชนของเจ้าของรถ

1.5 รายการเสียภาษี หน้า 16-17 ตรวจดูว่ามีการเสียภาษีครบทุกปีหรือไม่ ไม่ขาดต่อทะเบียน หรือแจ้งจอด ยกเลิกการใช้งาน

1.6 รายการบันทึกของเจ้าหน้าที่ หน้า 18-19 ตรวจดูว่ามีรายการบันทึกในการเปลี่ยนแปลงข้อมูลรถอย่างไร เช่น การแจ้งย้าย แจ้งเปลี่ยนสี เปลี่ยนหมายเลขเครื่อง หรือขอใช้ทะเบียนบ้านในเขตไหน ต้องมีรายการบันทึกครบถ้วน

1.7 ลายมือชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์ ต้องเซ็นให้ถูกต้องชัดเจน ตรงกับลายเซ็นในหนังสือต่างๆ

2.หนังสือสัญญาซื้อ-ขายรถ

เป็นหนังสือสัญญานิติกรรม ระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย ที่ทำการซื้อขายแลกเปลี่ยนกันต้องกรอกทุกรายละเอียด เช่น วันที่, รายละเอียดผู้ขาย, รายละเอียดผู้ซื้อ, ราคาซื้อขาย, กำหนดการมัดจำและรับรถยนต์ ค่าใช้จ่ายในการโอนว่าผู้ใดเป็นผู้ออกค่าโอน, ลงชื่อผู้ซื้อผู้ขายและพยาน, ระบุวันเวลาที่ขาย และที่ได้รับรถไปแล้ว,

หนังสือตัวนี้ถือว่ามีความสำคัญอย่างสูง ต้องถือไว้ทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย ใช้แสดงประกอบการโอน มีผลทางกฎหมาย กรณีที่ผู้ซื้อนำรถไปเกิดอุบัติเหตุ หรือใช้รถในการกระทำความผิดกฎหมาย หรือผู้ขายอาจนำไปแจ้งรถหายหรือนำเอกสารไปทำอย่างอื่น ต้องมีการตรวจเช็ครายละเอียดให้ดีทั้งผู้ซื้อ และผู้ขาย

3.แบบคำขอโอนและรับโอน

เป็นหนังสือของทางกรมขนส่งทางบก ต้องใช้เมื่อต้องยื่นประกอบเอกสารการโอนรถยนต์ ต้องระบุวันที่ ชื่อรายละเอียดผู้โอน ผู้รับโอน เลขทะเบียน รายละเอียดเกี่ยวกับรถที่โอน ราคาซื้อขาย และต้องลงรายมือชื่อทั้งผู้โอนและผู้รับโอน ที่ระบุไว้ครบทุกช่อง

4.สำเนาทะเบียนบ้านและบัตรประชาชนของผู้ขาย

จะต้องไม่หมดอายุ บัตรประชาชนต้องตรงกับทะเบียนบ้าน มีการเซ็นรับรองสำเนาถูกต้อง หรือกำหนดไว้ว่าใช้ในการโอนรถ, แจ้งย้าย, เปลี่ยนสี, เปลี่ยนเครื่อง, และหากมีการแจ้งย้าย, เปลี่ยนสี, หมายเลขเครื่อง, หรืออื่นๆ ต้องเพิ่มจำนวนสำเนาไว้อีกอย่างละชุด

5.หนังสือมอบอำนาจ

เป็นหนังสือที่มอบหมายการกระทำใดๆ ที่เกี่ยวกับทะเบียนรถ ซึ่งเจ้าของรถไม่สามารถดำเนินการเองได้ ต้องมีรายละเอียดดังนี้ วันที่, ชื่อผู้มอบและรับมอบ, ระบุรายการที่ผู้มอบอำนาจทำการแทน และลงลายมือชื่อให้ถูกต้องทั้งชื่อผู้มอบ, ชื่อผู้รับมอบ, พยาน และปิดอาการแสตมป์

6.หนังสืออื่นๆ เกี่ยวกับผู้ขาย

เช่น หนังสือเปลี่ยนชื่อและนามสกุล หนังสือหย่า, ใบมอบมรดก หรืออื่นๆ ที่ต้องใช้เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงเอกสารสำคัญทางราชการ ในกรณีที่เป็นรถบริษัทไฟแนนซ์, ประกันภัย, หรือมอบมรดก ต้องเตรียมเอกสาร เช่น หนังสือรับรองบริษัท, ใบเสร็จรับเงิน, ใบเสียภาษี, และอื่นๆ ที่ใช้ต้องตรวจดูรายชื่อ ให้ถูกต้องและครบถ้วน

7.หนังสือยินยอม

ในกรณีที่ขอใช้ในกรุงเทพฯ หรือในจังหวัดเดิมในทะเบียนรถ ต้องเตรียมหนังสือยินยอมให้ทางเจ้าของรถเดิมเซ็นยินยอมขอใช้รถในทะเบียนบ้านเดิมหรือหาเจ้าบ้านที่มีชื่อ ที่อยู่ในเขตที่ต้องการขอใช้ทะเบียนรถและเซ็นลายมือชื่อ พร้อมแนบสำเนาทะเบียนบ้าน บัตรประชาชนอีกชุดหนึ่ง

8.ใบเสร็จต่างๆ

เช่น ใบเสร็จซื้อเครื่องยนต์ในกรณีที่ยังไม่ได้เปลี่ยนหมายเลขเครื่อง ใบเสร็จค่าเปลี่ยนสีรถยนต์ที่ถูกต้องมีใบรับรองเสียภาษี หรือใบวิศวกรรองรับการดัดแปลงรถยนต์ใช้กับรถที่ยังไม่ได้แจ้งการดัดแปลง เช่น ระบบขับเคลื่อน ระบบเบรค การเปลี่ยนหลังคา หรือการซ่อมจากอู่ที่ต้องมีการตัดต่อ หรืออะไหล่ตัวถังรถ

คำถามที่ต้องรู้

1.การซื้อขายได้ทำสัญญาสัญญาจะซื้อจะขายและได้มีการชำระเงินส่งมอบและตรวจสภาพรถแล้ว ถือว่า กรรมสิทธิ์เป็นของใครเพราะยังไม่มีการโอนเล่มทะเบียน

ตอบ กรรมสิทธิ์เป็นของคนซื้อ เพราะสัญญาซื้อขายเสร็จสมบูรณ์แล้ว ทะเบียนรถไม่ใช่หลักฐานกรรมสิทธิ์ ถึงยังไม่เปลี่ยนแปลงทะเบียนก็โอนกันได้

2.ถ้าสมมุติว่า ผู้ซื้อทราบภายหลังว่ารถยนต์มีการชนมา ก่อนหน้าที่ข้าพเจ้าซื้อต่อมือที่1 โดยที่ข้าพเจ้าไม่ทราบ จะต้องรับผิดชอบรับคืนรถหรือไม่

ตอบ ถ้าคุณไม่ได้ให้คำรับรองแก่เขาว่ารถไม่เคยถูกชน และเขารู้อยู่แล้วว่าคุณเองก็เป็นมือที่ 2 คุณก็ไม่ต้องรับผิดชอบ

3.หากในการตรวจสภาพรถยนต์ใช้ได้ปกติแต่ถ้าคนซื้อขับออกไป 1-2 วันแล้วมีปัญหา ผู้ขายจะต้องรับผิดชอบหรือไม่

ตอบ เหมือนข้อ 2

4.หากผู้ซื้อมิได้ไปทำการโอนเป็นชื่อของตนเอง และหากรถเกิดคดีความทางเเพ่งและอาญา ผู้ขายจะมีส่วนหรือไม่ จะอ้างหลักฐานการซื้อขายได้หรือไม่

ตอบ อ้างได้

5.ผมและภรรยาอยู่กินกันถูกต้องตามกฎหมายโดยการจดทะเบียนสมรส และในระหว่างที่อยู่กินกันนั้นผมได้ทำการเช่าซื้อรถยนต์ไว้กับไฟแนนซ์แห่งหนึ่งโดยในสัญญาเช่าซื้อนั้นผมเป็นผู้เช่าซื้อ แต่ปัจจุบันผมและภรรยาต้องการที่จะหย่าร้างกัน โดยตกลงกันว่ารถยนต์คันดังกล่าวผมจะโอนลอยเป็นชื่อเค้า ผมจึงต้องการเรียนถามอาจารย์ ดังนี้

(1) การโอนลอยรถยนต์ในขณะที่ยังผ่อนชำระไม่หมดทำได้หรือไม่ครับ

ตอบ ได้

(2) ถ้ามีอะไรเกิดขึ้นกับรถยนต์คันดังกล่าวผมต้องเป็นคนรับผิดชอบใช่หรือไม่ครับ

ตอบ แม่นเเล้ว

(3) ผมสามารถทำหนังสือสัญญาอะไรได้บ้างครับเพื่อเป็นการยืนยันและป้องการหากเกิดอะไรขึ้นกับรถยนต์คันดังกล่าวแล้วจะไม่เดือดร้อนถึงผม

ตอบ ถ้าอยากทำ ก็ทำหนังสือง่ายๆ ว่าภรรยาได้รับรถจากการโอนลอยไปแล้ว และลงชื่อภรรยา"

นอกจากนี้ ทางศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค โดยมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เคยยกตัวอย่างผู้ขายรายหนึ่ง ซึ่งใช้วิธีการโอนลอยในการซื้อขายรถ ปรากฎว่าจู่ๆ ก็มีจดหมายจากบริษัทประกันแห่งหนึ่ง แจ้งว่าให้ชำระค่าเสียหายจำนวน 12,000 บาท เหตุเพราะถูกรถของผู้ขายรายนี้ชนแล้วหลบหนี ซึ่งเป็นรถคันเก่าที่เคยขายไปให้กับเต้นท์รถเจ้าหนึ่งนานแล้ว โดยใช้วิธีการ "โอนลอย" พร้อมกับมอบหลักฐานต่างๆ เพื่อให้ทางเต้นท์ไปจัดการเรื่องทะเบียน

ทำให้ผู้ขายรายนี้ เกิดข้อข้องใจว่าเมื่อเกิดเหตุเช่นนี้ขึ้นจะทำอย่างไรต่อไป ในเมื่อไม่ใช่ผู้กระทำความผิดเลยแม้แต่น้อย

ทางศูนย์ฯ จึงแนะนำไปว่า ให้ทำหนังสือถึงบริษัทประกันภัย เพื่อบอกกล่าวว่าไม่ได้เป็นผู้ครอบครองรถ พร้อมส่งหลักฐานการขายและส่งมอบรถแนบไปด้วย ทั้งนี้ ในทางกฎหมายการซื้อขายรถยนต์โดยการ "โอนลอย" กรรมสิทธิในรถยนต์ก็เป็นของผู้ซื้อตั้งแต่วันที่ผู้ขายส่งมอบรถยนต์ให้แก่ผู้ซื้อแล้ว แม้ว่าจะยังไม่ได้เปลี่ยนแปลงชื่อผู้เป็นเจ้าของในทางทะเบียน

ปัจจุบันในการซื้อขายรถยนต์กับผู้ประกอบการเต้นท์รถ มักจะใช้วิธีการ "โอนลอย" คือให้ผู้ที่นำรถมาขายเซ็นหนังสือในหลักฐานต่างๆ ไว้ในลักษณะที่พร้อมจะเปลี่ยนชื่อในทางทะเบียนให้กับใครก็ได้ที่มาซื้อรถยนต์กับทางเต้นท์ ทั้งที่โดยปกติผู้ประกอบการจะต้องรับโอนรถมาเป็นชื่อของตัวเองก่อน เมื่อมีคนมาซื้อแล้วจึงค่อยโอนทะเบียนให้กับผู้ซื้อรายใหม่ต่อไป

การที่เต้นท์รถส่วนใหญ่ซื้อขายรถยนต์ด้วยการโอนลอย เพราะไม่อยากรับภาระเรื่องการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียน ซึ่งจะต้องเสียเวลา เสียค่าใช้จ่าย จึงผลักภาระนี้มาให้กับผู้บริโภค ดังนั้น ไม่ว่าในกรณีใดก็แล้วแต่ หากยังไม่ได้ไปดำเนินการเปลี่ยนแปลงชื่อเจ้าของในทางทะเบียน โอกาสที่จะเกิดปัญหาในลักษณะเดียวกันนี้ก็อาจเกิดขึ้นได้ เพราะเมื่อไม่สามารถจับตัวผู้กระทำผิด กฎหมายก็ต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้มีชื่อในทางทะเบียนเป็นผู้ที่ขับรถยนต์ดังกล่าว ซึ่งได้กระทำละเมิดต่อบุคคลอื่น

แต่หากถามว่าถึงที่สุดแล้วผู้ขายรถจะต้องรับผิดชอบจ่ายค่าเสียหายหรือไม่นั้น คำตอบคือ "ไม่" เพราะในข้อเท็จจริงไม่ใช่ผู้ขับรถยนต์ ไม่ได้เป็นผู้กระทำละเมิด จึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหาย

คำแนะนำ สำหรับทนาย

การป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาลักษณะนี้คือ เมื่อซื้อขายรถยนต์ผู้บริโภคควรจะไปดำเนินการเปลี่ยนแปลงชื่อผู้ครอบครองรถในทางทะเบียนให้เรียบร้อย ไม่ว่าจะขายรถให้กับผู้ประกอบการเต้นท์รถ หรือใครก็ตาม แม้ว่าวิธีนี้ท่านอาจจะต้องรับภาระค่าใช้จ่ายในการโอน เพราะเต้นท์รถคงผลักภาระในการโอนนี้มาให้กับผู้บริโภคแน่ๆ แต่ก็เป็นวิธีที่ปลอดภัยที่สุด ที่ไม่ต้องมาผจญกับปัญหาคดีอาญาแบบไม่รู้ตัว.


ข้อมูลจาก สำนักงานกิจการยุติธรรม

ภาพจาก TNN ONLINE

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง