รีเซต

ตรวจหามะเร็งด้วยเลือดไม่กี่หยด ! นวัตกรรมใหม่จากออสเตรเลีย

ตรวจหามะเร็งด้วยเลือดไม่กี่หยด ! นวัตกรรมใหม่จากออสเตรเลีย
TNN ช่อง16
7 มีนาคม 2566 ( 13:53 )
123
ตรวจหามะเร็งด้วยเลือดไม่กี่หยด ! นวัตกรรมใหม่จากออสเตรเลีย

นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีแห่งซิดนีย์ (University of Technology, Sydney: UTS) ประเทศออสเตรเลีย ได้ประดิษฐ์อุปกรณ์สำหรับการตรวจหาเซลล์มะเร็งเพียงแค่ใช้เลือดตัวอย่างในปริมาณน้อยเท่านั้น ซึ่งเป็นการทำให้หลักการตรวจหามะเร็งที่มีอายุมากกว่า 100 ปี สามารถเกิดขึ้นได้จริงในท้ายที่สุด


หลักการดังกล่าวค้นพบในปี 1920 โดยออตโดต วอร์เบิร์ก (Otto Warburg) แพทย์ชาวเยอรมันว่าเซลล์เนื้องอก (Tumor Cell) ที่เป็นสัญญาณของโรคมะเร็งจะมีการดึงกลูโคส (Glucose - อนุพันธ์ย่อยของน้ำตาล) และผลิตกรดแลกทิก (Lactate) ซึ่งเป็นกรดเดียวกันกับสารที่ทำให้ร่างกายรู้สึกปวดเมื่อยเมื่อออกกำลังกายหนัก แต่เซลล์เนื้องอกนั้นอาจจะพบเจอเพียงเซลล์เดียวจากเซลล์เลือดนับล้านเซลล์ในเลือดเพียงไม่กี่หยด แพทย์จึงใช้วิธีการตัดชิ้นส่วนเนื้อเยื่อที่คาดว่าเป็นมะเร็งมาตรวจสอบแทน อย่างไรก็ตามวิธีการดังกล่าวใช้ระยะเวลานาน มีราคาแพง และต้องใช้ผู้ปฏิบัติงานที่มีทักษะสูงซึ่งเป็นข้อจำกัดหากนำมาใช้งานในสถานพยาบาลทั่วไป


ด้วยเหตุนี้ นักวิจัยจึงพัฒนาอุปกรณ์ที่มีชื่อว่า SDM (Static Droplet Microfluidic) ซึ่งทำให้ความรู้เมื่อ 100 ปีก่อน ได้กลับมาใช้ในกระบวนการตรวจและรักษามะเร็งอีกครั้งแต่เพิ่มประสิทธิภาพและความแม่นยำมากขึ้น โดยเครื่องมือใหม่นี้สามารถแยกเซลล์จากตัวอย่างหยดเลือดได้มากถึง 38,400 เซลล์ ด้วยการวิเคราะห์เชิงลึกของเซลล์เนื้องอกในกระแสเลือด (CTCs) ซึ่งเป็นการวิเคราะห์สีย้อมจากฟลูออเรสเซนต์ (Fluorescent Dye) ที่หมายความว่าเซลล์เนื้องอกที่ปะปนมานั้นจะมีสีที่ต่างจากสีอื่น ๆ เนื่องจากมีกรดแลกทิกผสมมากกว่าปกตินั่นเอง 


การตรวจเจอเนื้องอกให้ทันท่วงนี้นั้นสามารถเพิ่มโอกาสในการรักษามะเร็งให้หายขาดซึ่งเป็นการลดผู้เสียชีวิตจากมะเร็งไปในเวลาเดียวกัน เป็นความหวังใหม่ในการช่วยวินิจฉัยมะเร็งโดยไม่ต้องใช้เครื่องมือที่มีราคาแพงอีกต่อไปในอนาคต และงานวิจัยชิ้นนี้ได้ยื่นจดสิทธิบัตรชั่วคราวสำหรับอุปกรณ์ SDM (Static Droplet Microfluidic)  และมีแผนการวางจำหน่ายออกสู่ตลาดในเชิงพาณิชย์ ส่วนตัวรายละเอียดงานวิจัยนั้นอยู่ในระหว่างการตรวจสอบความถูกต้องโดยคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญ (Peer Reviewed) เพื่อตีพิมพ์ลงในวารสารทางวิชาการไบโอเซนเซอร์ แอนด์ ไบโออิเล็กทรอนิกส์ (Biosensors and Bioelectronics) ต่อไป



ที่มาข้อมูล Interesting Engineering, Nobel Prize

ที่มารูปภาพ University of Technology, Sydney

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง