รีเซต

ศปช. เตือนภาคกลาง-ตะวันออก-ใต้-อีสาน เฝ้าระวังภัยดินถล่มและน้ำป่าไหลหลาก

ศปช. เตือนภาคกลาง-ตะวันออก-ใต้-อีสาน เฝ้าระวังภัยดินถล่มและน้ำป่าไหลหลาก
TNN ช่อง16
21 ตุลาคม 2567 ( 13:03 )
21

วันนี้ (21 ตุลาคม 2567) นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและโฆษกศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม หรือ ศปช. และ ศปช. ส่วนหน้า เตือนพื้นที่ติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์ธรณีพิบัติภัยแผ่นดินถล่มและน้ำป่าไหลหลาก ของกรมทรัพยากรธรณีในช่วงวันที่ 21 - 23 ตุลาคม 2567 ในพื้นที่ดังนี้ ภาคกลาง ได้แก่ จังหวัดกาญจนบุรี นครนายก สระบุรี ราชบุรี เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์  ภาคตะวันออก ได้แก่ จังหวัดชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี และจันทบุรี ภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ระนอง พังงา และภูเก็ต ภาคเหนือ ได้แก่ จังหวัดอุทัยธานี ตาก ลำปาง และเชียงราย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ จังหวัดนครราชสีมา

 

ในส่วนกรมชลประทาน ประกาศพื้นที่เสี่ยงบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำแม่กลอง และแม่น้ำท่าจีน ชุมชนนอกแนวคันกั้นน้ำ แนวเขื่อนชั่วคราว และบริเวณที่ไม่มีแนวป้องกันน้ำถาวร ในจังหวัดสมุทรสงคราม สมุทรสาคร นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี กรุงเทพมหานคร และสมุทรปราการ ขอให้ประชาชนเฝ้าระวังระดับน้ำจากสถานการณ์น้ำทะเลหนุนในระยะนี้ ไปจนถึงวันที่ 24 ตุลาคม 2567

 

สำหรับการฟื้นฟูพื้นที่ในจังหวัดเชียงราย ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 4 เขต 8 เขต 9 เขต 10 เขต 11 และเขต 15 ได้ดำเนินการสนับสนุนการปฏิบัติงานเคลียร์พื้นบริเวณที่เกิดดินโคล่นในพื้นที่เขตเทศบาลและนอกเขตเทศบาล โดยที่ประชุม ศปช. ได้รับการรายงานจากทางด้านกรมป้องกันและบรรเทาสาธารภัยว่า ได้มีการดำเนินการแล้ว 100 เปอร์เซ็นต์ และในส่วนของพื้นที่อำเภอแม่สาย อยู่ในการดำเนินการ 99.76  ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการตรวจสอบและเก็บตกบริเวณพื้นที่บริเวณโดยรอบ  โดยได้มีการประสานไปยังศูนย์ปฏิบัติการ ศปช.ส่วนหน้า จะดำเนินการส่งมอบพื้นที่ทั้งหมดให้กับทางอำเภอเมืองเชียงรายและเทศบาลเชียงรายได้ในภายในวันที่ 28 ตุลาคมนี้ เพื่อดำเนินการจัดเตรียมพื้นที่ท่องเที่ยว ร้านค้าต้อนรับนักท่องเที่ยวในช่วงฤดูหนาว

 

ทั้งนี้ นาย จิรายุ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากสถานการณ์บริเวณฝนตกสะสมพื้นที่ภาคใต้และพื้นที่จุดเสี่ยงเฝ้าระวัง ที่ประชุม ศปช. ได้มีข้อสั่งการให้ กรมป้องกันบรรเทาสาธารณภัยเป็นหน่วยงานหลักในการประสาน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการบูรณาการทำงานเตรียมความพร้อมด้านข้อมูล เครื่องมือและบุคลากร ในการเฝ้าระวังบริเวณพื้นที่ฝนตกสะสมและพื้นที่จุดเสี่ยงทางภาคใต้ที่อาจเกิดสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลันในพื้นที่ พร้อมรายงานให้ที่ประชุม ศปช. ทราบโดยเร็ว



ภาพจาก AFP

ข่าวที่เกี่ยวข้อง