วัคซีนโควิด-19 : ดูผลข้างเคียงหลังผู้ใหญ่ฉีดสูตรไขว้ – นักเรียนรับไฟเซอร์
นบตั้งแต่ไทยเริ่มโครงการฉีดวัคซีนโควิด-19 อย่างเป็นทางการเมื่อเดือน มิ.ย.2564 กระทรวงสาธารณสุขรายงานตัวเลข ผู้เสียชีวิตหลังรับวัคซีน ล่าสุดนับถึงวันที่ 24 ต.ค. 2564 ว่ามีจำนวน 1,296 ราย ซึ่งคณะผู้เชี่ยวชาญสรุปว่า เป็นเหตุเกี่ยวข้องกับการฉีดวัคซีนเพียง 3 ราย
ผู้เสียชีวิตจากเหตุที่เกี่ยวข้องกับการฉีดวัคซีน 3 รายนั้น มีภาวะลิ่มเลือดอุดตันร่วมกับเกล็ดเลือดต่ำ 2 ราย และอาการแพ้รุนแรงร่วมกับภาวะช็อก 1 ราย
เสียชีวิตกว่า 1,296 ราย จากยอดรวม 77.8 ล้านโดส
เมื่อวันที่ 4 พ.ย. ที่ผ่านมา นพ.เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน แถลงรายละเอียดว่าตัวเลขผู้เสียชีวิตนี้เป็นภาพรวมจากการฉีดวัคซีนสะสมในประเทศไทยกว่า 77.8 ล้านโดส และผู้เชี่ยวชาญได้พิจารณาสาเหตุการเสียชีวิตแล้ว 842 ราย
ผลการพิจารณาของคณะผู้เชี่ยวชาญ พบว่า
- เหตุการณที่สรุปได้ว่าเกี่ยวข้องกับวัคซีน 3 ราย ได้แก่ ภาวะลิ่มเลือดอุดตันร่วมกับเกล็ดเลือดต่ำ 2 ราย และอาการแพ้รุนแรงร่วมกับภาวะช็อก 1 ราย
- เหตุการณ์ที่ไม่สามารถสรุปได้ว่าเกี่ยวข้องกับวัคซีนหรือไม่ 66 ราย
(โรคเกี่ยวกับระบบหัวใจและหลอดเลือดหัวใจ 47 ราย เลือดออกในสมอง 5 ราย ภาวะลิ่มเลือดอุดตันร่วมกัลเกล็ดเลือดต่ำ 2 ราย ระบบหายใจล้มเหลว 1 ราย โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง 1 ราย ไม่สามารถระบุสาเหตุการเสียชีวิต 1 ราย รอสรุปสาเหตุการเสียชีวิตจากผลชันสูตรศพ 9 ราย)
ส่วนผู้เสียชีวิตที่เหลือนั้น
- มีข้อมูลไม่เพียงพอที่จะสรุปว่าเกี่ยวข้องกับวัคซีนหรือไม่ 41 ราย
- รอสรุปสาเหตุการเสียชีวิตจากผลชันสูตรและข้อมูลเพิ่มเติม 191 ราย
- การเสียชีวิตที่ไม่เกี่ยวข้องกับวัคซีน เป็นเหตุการณ์ร่วมจากภาวะโรคอื่น 541 ราย เช่น เลือดออกในสมอง 37 ราย ติดเชื้อของระบบประสาทและสมอง 2 ราย ปอดอักเสบรุนแรง 257 รายในจำนวนนี้เป็นโควิด 243 ราย ลิ่มเลือดอุดตันในปอด 4 ราย โรคเกี่ยวกับระบบหัวใจและหลอดเลือดหัวใจ 109 ราย เป็นต้น
ในเวลาเดียวกันข้อมูลจากกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ระบุว่ามีผู้เสียชีวิตหลังการฉีดวัคซีนไขว้ และวัคซีนเข็มกระตุ้นยี่ห้อแอสตร้าเซนเนก้า และไฟเซอร์ อีกจำนวนหนึ่ง โดยทั้งหมดยังไม่มีการสรุปว่าเป็นเหตุเกี่ยวกับวัคซีน รายละเอียดดังนี้
เสียชีวิตหลังฉีดสูตรไขว้ ซิโนแวค-แอสตร้าเซนเนก้า 205 ราย
นพ.เฉวตสรร เปิดเผยว่า มีรายงานผู้เสียชีวิตหลังฉีดวัคซีนสูตรไขว้วิโคแวค-แอสตร้าเซนเนก้า 205 ราย คณะผู้เชี่ยวชาญพิจารณาแล้ว พบว่าไม่เกี่ยวข้องกับวัคซีน แต่เป็นเหตุการณ์ร่วมที่เกิดในเวลาใกล้เคียงกัน 30 ราย ไม่สามารถสรุปได้ว่าเกี่ยวข้องกับวัคซีน 14 ราย ข้อมูลไม่เพียงพอ 7 ราย และอยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูล 154 ราย
สำหรับสัดส่วนของอาการที่พบหลังการฉีดวัคซีนสูตรสลับชนิด ซิโนแวค- แอสตร้าเซนเนก้า นั้น จากจำนวนผู้ที่ต้องเข้ารับการรักษาเป็นผู้ป่วยใน 955 ราย พบว่ามีอาการไข้มากที่สุดคือ 31.62% รองลงมาคืออาการปวดศีรษะ 23.04% คลื่นไส้ 19.90% อาเจียน 19.48% และเวียนศีรษะ17.80%
เสียชีวิตหลังฉีดกระตุ้นเข็ม 3 ด้วยแอสตร้าเซนเนก้า 10 ราย
ผู้เสียชีวิตนี้เป็นผู้ 10 รายนี้ เป็นผู้ที่ฉีดวัคซีนยี่ห้อซิโนแวคเป็นเข็มที่ 1 และ 2 ก่อนรับการฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเป็นเข็มที่ 3 แต่ผู้เชี่ยวชาญสรุปว่าไม่เกี่ยวข้องกับการฉีดวัคซีน แต่เป็นเหตุการณ์ร่วมที่เกิดในเวลาใกล้เคียงกัน 2 ราย และอยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูล 8 ราย
มีรายงานว่ามีผู้ป่วยในกลุ่มนี้เข้ารับการรักษา 163 คน แบ่งเป็น มีอาการไข้ 35.58 % ปวดศีรษะ 31.29% คลื่นไส้ 23.31% ปวดกล้ามเนื้อ 22.09% อาเจียน 22.09 %
เสียชีวิตหลังฉีดกระตุ้นเข็ม 3 ด้วยไฟเซอร์ 6 ราย
ในจำนวนผู้เสียชีวิตทั้ง 6 รายนี้ เป็นผู้ที่ได้รับวัคซีนยี่ห้อซิโนแวคเป็นเข็มที่ 1 และ 2 ก่อนรับการฉีดวัคซีนไฟเซอร์เป็นเข็มที่ 3 ซึ่งคณะผู้เชี่ยวชาญพิจารณาแล้วพบว่า การเสียชีวิตไม่เกี่ยวข้องกับวัคซีนแต่เป็นเหตุการณ์ร่วมที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน 1 ราย ยังไม่สามารถสรุปได้ว่าเกี่ยวข้องกับวัคซีนหรือไม่ 1 ราย ข้อมูลไม่เพียงพอที่จะสรุปว่าเกี่ยวข้องกับวัคซีนหรือไม่ 1 ราย และอยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูล 3 ราย
ผู้รับวัคซีนไฟเซอร์เป็นเข็มที่ 3 กลุ่มนี้ เข้ารักษาตัวเป็นผู้ป่วยใน 48 ราย อาการที่พบมากที่สุด ได้แก่ เวียนศีรษะ 27.08 % ไข้ 22.92% ปวดศีรษะ 20.83 % คลื่นไส้ 20.83 % เจ็บแน่นหน้าอก 18.75 %
ไฟเซอร์นักเรียน
กระทรวงสาธารณสุขเปิดเผยข้อมูลการฉีดไฟเซอร์ในกลุ่มนักเรียนอายุตั้งแต่ 12-18 ปี จนถึงวันที่ 4 พ.ย. ว่า ฉีดเข็มแรกไปแล้ว 2.5 ล้านคน หรือกว่า 56% ของกลุ่มเป้าหมาย
กรมควบคุมโรคระบุว่าได้รับรายงานว่ามีผู้ที่ได้รับผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนเล็กน้อยในสัดส่วนที่เป็นปกติ ส่วนที่มีอาการรุนแรงตามที่ปรากฏเป็นข่าวนั้น ยังไม่มีการข้อสรุปว่ามีสาเหตุเกี่ยวข้องกับการรับวัคซีน
- ราชบุรี- เด็กหญิงอายุ 12 ปี ชั้น ป.6 ลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดแดงปอด
เด็กหญิงอายุ 12 ปี ชั้น ป.6 ที่ อ.โพธาราม จ.ราชบุรี เริ่มมีอาการทางร่างกาย หลังจากฉีดวัคซีนไฟเซอร์เข็มแรกเป็นเวลา 5 วัน
นายพิพัฒพงศ์ ตันพานิช อายุ 50 ปี พ่อของเด็กหญิง ให้ข้อมูลว่า ได้พาบุตรสาวไปรับวัคซีนที่ศูนย์ฉีดวัคซีนของ รพ.เจ็ดเสมียน เมื่อวันที่ 19 ต.ค. เมื่อกลับมาบ้าน พบว่ามีอาการเจ็บแขน 3 วันและหาย หลังจากนั้นเริ่มไอแห้งหลังฉีดวัคซีนไปแล้วห้าวัน ต่อมาในวันที่ 25 ต.ค. เด็กหญิงเริ่มมีอาการแน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวก เล็บมือและปากเขียว จึงไปพบแพทย์ที่คลินิก แต่แพทย์ได้รีบส่งตัวต่อที่ รพ.ราชบุรีในวันเดียวกัน
ในกลางดึกคืนนั้น รพ.ราชบุรี ตัดสินใจส่งตัวเด็กหญิงเข้ารักษาตัวที่สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรุงเทพฯ เนื่องจากมี อาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ต่อมาโรงพยาบาลแจ้งว่ามีอาการลิ่มเลือดอุดขั้วหัวใจ 2 ขั้ว ทำให้หัวใจบวม และมีเลือดไปอุดตันบริเวณเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงปอด ต้องนอนพักรักษาตัวอยู่ที่ห้องไอซียู เป็นเวลา 6 วัน ก่อนอาการดีขึ้นตามลำดับ
เมื่อวันที่ 2 พ.ย. สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี สรุปผลการรักษาว่า พบลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดแดงปอด แต่อาการของโรคทั้งหมดไม่ได้เกิดจากภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ โดยทีมแพทย์หลากหลายสาขากำลังค้นหาสาเหตุของภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดแดงปอด
แต่จากการตรวจร่างกายที่สถาบันฯ พบว่า เด็กหญิงตัวเล็กและเตี้ยกว่าเกณฑ์มาก นอกจากนี้ยังพบว่ามีหลังคดและมีนิ้วปุ้มซึ่งเป็นอาการบ่งชี้ว่ามีภาวะขาดออกซิเจนเรื้อรัง ความผิดปกติของโครงสร้างร่างกายอาจทำให้ผู้ป่วยมีภาวะปอดขยายตัวไม่เต็มที่และมีพังผืดในปอดได้ ซึ่งภาวะดังกล่าวนับเป็นกลุ่มเสี่ยงในกลุ่มโรคทางเดินหายใจที่ควรได้รับวัคซีนโควิด-19
อย่างไรก็ตาม ผู้ปกครองให้ข้อมูลว่าเด็กหญิงมีภาวะหลังคดสังเกตเห็นได้ตั้งแต่อายุ 9 เดือน แต่ไม่เคยรักษาที่ใดมาก่อน และมีประวัติเหนื่อยง่ายตั้งแต่อายุ 2 ขวบ แต่ไม่เคยพบแพทย์มาก่อนเช่นกัน
จากการตรวจหัวใจด้วยคลื่นความถี่สูงพบว่า การบีบตัวของกล้ามเนื้อหัวใจดี ไม่มีสิ่งที่บ่งชี้ถึงภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ และพบการอุดตันของหลอดเลือดแดงปอด จึงตรวจหัวใจเพิ่มเติมด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์พบลิ่มเลือดอุดตัน ในหลอดเลือดแดงปอด และพบว่าถุงลมในปอดขยายได้ไม่เต็มที่ และบางบริเวณมีปอดแฟบ
เด็กหญิงรายนี้ เข้ารับการรักษาในหอผู้ป่วยวิกฤติของสถาบันฯ ระหว่างวันที่ 26-31 ต.ค. แพทย์ได้รักษาโดยการให้ยาละลายลิ่มเลือด ดูแลทางเดินหายใจ โดยขณะนี้สามารถถอดท่อทางเดินหายใจและเปลี่ยนมาให้ออกซิเจนความเข้มข้นสูง
แพทย์ได้ตรวจหัวใจด้วยคลื่นความถี่สูงและเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์หัวใจอีกครั้งในวันที่ 29 ต.ค. พบว่าก้อนลิ่มเลือดที่อุดตันมีขนาดเล็กลง เลือดไหลเวียนไปสู่ปอดได้ดีขึ้น การบีบตัวของกล้ามเนื้อหัวใจดี เมื่ออาการดีขึ้น ได้ย้ายผู้ป่วยเข้าดูแลในหอผู้ป่วยเด็กเฉพาะโรคในวันที่ 1 พ.ย. ผู้ป่วยหอบเหนื่อยลดลง สามารถรับประทานอาหารได้
- ลำปาง- วัยรุ่นหญิง อายุ 16 เสียชีวิตหลังฉีดไฟเซอร์เข็ม 2
น.ส.อรจิรา จรูญโรจน์ ณ อยุธยา อายุ 16 ปี นักศึกษาชั้นที่ปี 1 วิทยาลัยอาชีวศึกษาลำปาง เสียชีวิตเมื่อวันที่ 3 พ.ย. ที่ผ่านมา หลังเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ยี่ห้อไฟเซอร์ เข็มที่ 2 เมื่อวันที่ 27 ต.ค.
ข้อมูลจากครอบครัวระบุว่า น.ส.อรจิรา รับวัคซีนไฟเซอร์เข็มที่ 1 เมื่อวันที่ 6 ต.ค. หลังฉีดมีอาการปกติ และฉีดเข็มที่ 2 ในวันที่ 27 ต.ค. หลังฉีดวันแรกอาการปกติ แต่ในวันที่ 28-29 ต.ค. เริ่มมีอาการปวดท้อง คล้ายท้องเสีย และมีอาเจียนร่วม ครอบครัวเข้าใจว่าเป็นอาการของอาหารเป็นพิษ เข้าห้องน้ำและอาเจียนตลอดทั้งคืน จึงรับประทานพาราเซตามอล โจ๊ก เกลือแร่ และได้ซื้อยาแก้อาเจียนมารับประทาน หลังจากนั้นอาการท้องเสียดีขึ้น แต่ยังอาเจียนอยู่
อย่างไรก็ดี จนถึงวันที่ 30 ต.ค. อาการยังไม่ดีขึ้น เริ่มอ่อนแรง เริ่มมีอาการหายใจติดขัด และต้องหายใจทางปาก กับมีอาการอ่อนเพลียจน ต้องส่งตัวเข้ารักษาที่ห้องฉุกเฉิน
แพทย์ตรวจร่างกายและระบุสาเหตุว่า มีน้ำตาลในเลือดสูงกว่า 400 mmol/L และเกิดภาวะเลือดเป็นกรด ผู้ป่วยเริ่มหายใจเองไม่ได้ จนแพทย์ต้องเจาะคอใส่ท่อช่วยหายใจ ก่อนจะนำตัวเข้ารักษาในห้องไอซียู เป็นเวลา 3 วัน และเสียชีวิต ทาง รพ.แจ้งกับครอบครัวว่า น.ส.อรจิรา เสียชีวิตด้วยสาเหตุหลอดเลือดในปอดมีลิ่มเลือดอุดกั้น ร่วมกับการติดเชื้อในกระเเสเลือด
นพ.ประเสริฐ กิจสุวรรณรัตน์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดลำปาง (นพ.สสจ.) เปิดแถลงข่าวเกี่ยวกับกรณีนี้เมื่อวันที่ 6 พ.ย. ที่ผ่านมาว่า ภาวะของร่างกายตอนแรกรับพบว่ามีภาวะน้ำตาลในเลือดสูงมาก มีภาวะเลือดเป็นกรด เบื้องต้นคาดว่าเป็นไปได้ทั้ง 2 ทางคือ สัมพันธ์และไม่สัมพันธ์กับการฉีดวัคซีน ซึ่งอยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อมูลโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญยืนยันอีกครั้ง
อย่างไรก็ดี ยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนเกี่ยวกับภาวะทางสุขภาพ เช่น โรคประจำตัว น้ำหนักของผู้ป่วย ขณะที่ครอบครัวยืนยันว่าไม่เคยป่วยเป็นโรคเบาหวานมาก่อน
- เด็กชายวัย 12 ปี มีโรคประจำตัวเสียชีวิตหลังฉีดไฟเซอร์ 3 สัปดาห์
ส่วนกรณีอื่น ๆ ที่กระทรวงสาธารณสุข สรุปแล้วว่าไม่เกี่ยวกับการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ คือ กรณีเด็กชายวัย 12 ปี ในกรุเทพฯ ป่วยเป็นโรคเบาหวานเรื้อรัง เสียชีวิตหลังฉีดวัคซีนไฟเซอร์ 3 สัปดาห์
กรมควบคุมโรค ชี้แจงเมื่อวันที่ 1 ต.ค. ว่าเด็กชายป่วยเป็นโรคเบาหวานตั้งแต่แรกเกิด รักษาตัวด้วยการฉีดอินซูลินที่บ้านวันละ 3 เวลา และยังรักษาตัวต่อเนื่องที่โรงพยาบาลรามาธิบดี
เด็กชายคนนี้ เข้ารับวัคซีนโควิดเมื่อวันที่ 14 ก.ค. ซึ่งเป็นการฉีดให้เด็กที่มีโรคเรื้อรังประจำตัว ต่อมาในวันที่ 12 ส.ค. หรือสามสัปดาห์หลังการฉีดวีคซีน เริ่มมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน กินข้าวได้น้อย แต่ไม่มีอาการมือสั่น ใจสั่น ไม่ซึม ไม่เจ็บหน้าอก รวมทั้งไม่มีไข้หรืออาการเหนื่อยง่าย
ต่อมาในเช้าวันที่ 13 ส.ค. ผู้ปกครองพบว่าเด็กชายนอนไม่รู้สึกตัว จึงรีบนำส่งโรงพยาบาลก่อนจะเสียชีวิตในเวลาต่อมา
จากการตรวจหาสาเหตุการเสียชีวิตด้วยการตรวจชิ้นเนื้อ ไม่พบว่ามีอาการอักเสบที่กล้ามเนื้อหัวใจ แต่พบว่าระดับน้ำตาลในสารน้ำในลูกตาสูงมากกว่าระดับ 700 แพทย์สันนิษฐานว่าสาเหตุน่าจะมาจากภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวานเรื้อรัง