รีเซต

DPRK ประณามญี่ปุ่น ปมแผนปล่อย 'น้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสี' ลงทะเล

DPRK ประณามญี่ปุ่น ปมแผนปล่อย 'น้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสี' ลงทะเล
Xinhua
16 เมษายน 2564 ( 13:28 )
106
DPRK ประณามญี่ปุ่น ปมแผนปล่อย 'น้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสี' ลงทะเล

 

เปียงยาง, 16 เม.ย. (ซินหัว) -- เมื่อคืนวันพฤหัสบดี (15 เม.ย.) สำนักข่าวกลางเกาหลี (KCNA) รายงานว่าสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลี (DPRK) ได้ประณามการตัดสินใจของญี่ปุ่นที่จะปล่อยน้ำปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีลงสู่ทะเลว่าเป็น "ภัยคุกคามต่อการดำรงอยู่ของมนุษย์"

 

บทความคิดเห็นของสำนักข่าวฯ ระบุว่าการตัดสินใจของรัฐบาลญี่ปุ่นที่ปราศจากการรับฟังเสียงคัดค้านอันหนักแน่นจากนานาประเทศ จะกลายเป็น "ภัยพิบัติอีกครั้งสำหรับมนุษยชาติที่ต้องทนทุกข์ทรมานจากการแพร่ระบาดของโรคร้าย"

 

"นี่เป็นการตัดสินใจทางอาญาที่ไม่สามารถให้อภัยได้ ซึ่งก่อให้เกิดภัยคุกคามอย่างร้ายแรงต่อสุขภาพและความมั่นคงของมนุษยชาติและสิ่งแวดล้อมทางนิเวศวิทยา ทั้งยังถือเป็นอีกตัวอย่างชัดเจนที่สะท้อนความไร้ยางอายและลักษณะนิสัยอันธพาลของญี่ปุ่น"

 

น้ำเสียที่ปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีถูกกักเก็บไว้ที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะนับตั้งแต่เกิดแผ่นดินไหวและสึนามิครั้งใหญ่ในปี 2011 ซึ่งก่อให้เกิดการหลอมละลายของแกนปฏิกรณ์นิวเคลียร์ทั้งสามเครื่องที่บรรจุสสารหลายชนิด เช่น ทริเทียม ซีเซียม และสตรอนเชียม ในปริมาณมากเกินขีดจำกัดที่ยอมรับได้

 

สำนักข่าวฯ ระบุว่าการปล่อยน้ำเสียปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีลงสู่ทะเลจะทำลายสภาพแวดล้อมทางนิเวศวิทยาของทะเล ความมั่งคั่งร่วมกันของมนุษยชาติ และก่อให้เกิดความเสี่ยงร้ายแรงต่อสุขภาพและการดำรงชีวิตของผู้คนบริเวณพื้นที่ริมชายฝั่ง

 

สำหรับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลี ซึ่งตั้งอยู่อีกด้านหนึ่งของฝั่งทะเลจากญี่ปุ่น พิจารณาว่าการตัดสินใจเช่นนี้ "ถือเป็นการกระทำร้ายแรง ซึ่งเกี่ยวโยงกับชีวิตและความปลอดภัยของประชาชนของเรา"

 

"ญี่ปุ่นควรเพิกถอนการตัดสินใจปล่อยน้ำปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีโดยทันที และรับทราบอย่างถ่องแท้ถึงความไม่พอใจของประชาชนของเราที่มีต่อญี่ปุ่น"

 

ก่อนหน้านี้เมื่อวันอังคาร (13 เม.ย.) โยชิฮิเดะ ซูงะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น กล่าวว่ารัฐบาลของเขาตัดสินใจจะปล่อยน้ำเสียที่ปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีในจังหวัดฟุกุชิมะลงสู่ทะเล นำมาซึ่งเสียงคัดค้านอย่างรุนแรงจากประชาชนชาวญี่ปุ่นและกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทั่วโลก รวมถึงความกังวลจากประเทศเพื่อนบ้านเกี่ยวกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อสุขภาพของมนุษย์และธุรกิจประมง

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง