รีเซต

นักดาราศาสตร์พบการลุกจ้ารุนแรง บนดาวฤกษ์เพื่อนบ้านระบบสุริยะ

นักดาราศาสตร์พบการลุกจ้ารุนแรง บนดาวฤกษ์เพื่อนบ้านระบบสุริยะ
มติชน
24 มิถุนายน 2564 ( 12:16 )
155

 

วันที่ 24 มิถุนายน เฟชบุ๊ก สถาบันดาราศาสตร์แห่งชาติ(สดร.) ได้เผยแพร่ บทความของ บุญญฤทธิ์ ชุนหกิจ – เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ชำนาญการ สดร.เรื่อง นักดาราศาสตร์ตรวจพบการลุกจ้าที่รุนแรงบนดาวฤกษ์เพื่อนบ้าน ทุบสถิติความรุนแรงมากที่สุดเท่าที่เคยมีการบันทึกมา

 

 

 

โดยระบุว่า การลุกจ้า (Flare) ครั้งนี้มาจากดาวฤกษ์ที่ชื่อว่า “พร็อกซิมา เซนทอรี” (Proxima Centauri) ดาวฤกษ์เพื่อนบ้านที่อยู่ใกล้ระบบสุริยะมากที่สุด อยู่ห่างจากดวงอาทิตย์เพียง 4.25 ปีแสง บริเวณกลุ่มดาวคนครึ่งม้า (Centaurus) เป็นดาวฤกษ์ประเภทดาวแคระแดงที่มีอุณหภูมิพื้นผิวประมาณ 3,000 องศาเซลเซียส น้อยกว่าดวงอาทิตย์ที่มีอุณหภูมิพื้นผิวประมาณ 5,700 องศาเซลเซียส มีมวลเพียง 1 ใน 8 ของมวลดวงอาทิตย์ และมีรัศมีประมาณ 14% ของรัศมีดวงอาทิตย์เท่านั้น แต่น่าแปลกใจที่สามารถปลดปล่อยพลังงานได้สูงกว่าการลุกจ้าบนดวงอาทิตย์ถึง 100 เท่า

 

 

 

การตรวจพบครั้งนี้ นำทีมโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ Meredith MacGregor จากศูนย์ดาราศาสตร์ฟิสิกส์และอวกาศ (CASA) ภาควิชาฟิสิกส์ดาราศาสตร์และวิทยาศาสตร์ดาวเคราะห์ (APS ) มหาวิทยาลัยโคโลราโด สหรัฐฯ และทีมนักวิจัย ศึกษาดาวพร็อกซิมา เซนทอรี ในหลากหลายช่วงคลื่น ใช้ข้อมูลจากกล้องโทรทรรศน์ภาคพื้นดินและกล้องโทรทรรศน์อวกาศ ได้แก่ กล้องโทรทรรศน์วิทยุ ASKAP กล้องโทรทรรศน์วิทยุ ALMA กล้องโทรทรรศน์ du Pont Telescope กล้องโทรทรรศน์อวกาศ Hubble และดาวเทียม TESS ตีพิมพ์ในวารสารวิทยาศาสตร์ Astrophysical Journal Letters

 

 

MacGregor และทีมสังเกตการณ์ดาวฤกษ์ดวงนี้รวมเป็นเวลานานกว่า 40 ชั่วโมง ในช่วงวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 ผลจากการวิเคราะห์พบว่า ดาวพร็อกซิมา เซนทอรี เกิดการลุกจ้าหรือการแผ่รังสีในระดับใกล้พื้นผิวดาว ส่งผลให้ดาวสว่างวาบขึ้นมากกว่าปกติ 14,000 เท่า ภายในเวลาเพียงแค่ 7 วินาที จะเห็นการเปลี่ยนแปลงได้ชัดเจนในช่วงคลื่นรังสียูวี คลื่นวิทยุ และคลื่นระดับมิลลิเมตร

 

 

ผลงานวิจัยนี้ชี้ให้เห็นว่า แม้ดาวฤกษ์พร็อกซิมา เซนทอรี จะเป็นดาวฤกษ์ที่มีขนาดเล็กมากเมื่อเทียบกับดวงอาทิตย์ แต่กลับมีกลไกบางอย่างที่ทำให้ดาวปะทุรังสีที่ออกมาอย่างรุนแรงมากกว่าการลุกจ้าที่เกิดบนดวงอาทิตย์ประมาณ 100 เท่า และยังเป็นครั้งแรกที่ตรวจพบว่า ดาวฤกษ์สามารถเกิดการลุกจ้าในช่วงคลื่นระดับมิลลิเมตรได้

 

 

นอกจากนี้ การประทุของรังสีที่รุ่นแรงอาจส่งผลกระทบต่อ “พร็อกซิมา เซนทอรี บี” (Proxima Centauri b) ดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ ที่โคจรรอบดาวฤกษ์พร็อกซิมา เซนทอรี ทำให้แก๊สในชั้นบรรยากาศหลุดออกไปเรื่อย ๆ ดังนั้น แม้ดาวเคราะห์ดวงนี้จะเป็นดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะที่อยู่ใกล้โลกมากที่สุด แต่ก็อาจไม่ได้มีสภาพที่เอื้อต่อสิ่งมีชีวิต

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง