รีเซต

กทม.เตรียม รพ.บางขุนเทียน เพิ่มทีมสอบสวนโรค รับ "โควิด-19" ระบาดระลอกใหม่

กทม.เตรียม รพ.บางขุนเทียน เพิ่มทีมสอบสวนโรค รับ "โควิด-19" ระบาดระลอกใหม่
มติชน
16 มิถุนายน 2563 ( 17:24 )
118
กทม.เตรียม รพ.บางขุนเทียน เพิ่มทีมสอบสวนโรค รับ "โควิด-19" ระบาดระลอกใหม่
กทม.เตรียม รพ.บางขุนเทียน เพิ่มทีมสอบสวนโรค รับ “โควิด-19” ระบาดระลอกใหม่

เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน พญ.วันทนีย์ วัฒนะ รองปลัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นประธานการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) กรุงเทพมหานคร (ศบค.กทม.) ครั้งที่ 59/2563 ที่ศาลาว่าการ กทม. (เสาชิงช้า)

 

พญ.วันทนีย์ กล่าวว่า ที่ประชุมได้หารือถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 รอบใหม่ที่อาจเกิดขึ้นได้ ซึ่งหลายฝ่ายคาดการณ์ว่า กรุงเทพมหานครน่าจะเป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวมากที่สุด เนื่องจากภายหลังการผ่อนปรนมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดหลายประการ ทำให้ประชาชนจำนวนไม่น้อยเกิดความชะล่าใจ และขาดความใส่ใจต่อมาตรการดูแลสุขอนามัยส่วนบุคคลลงค่อนข้างมาก

 

“หากเกิดการแพร่ระบาดรอบใหม่ขึ้นจริง อาจสร้างความตื่นตระหนกให้แก่ประชาชนมากกว่าสถานการณ์แพร่ระบาดรอบที่ผ่านมา จึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายประสานการทำงานและเตรียมพร้อมรองรับสถานการณ์ดังกล่าว โดยในส่วนของ กทม. เตรียมความพร้อมโรงพยาบาล (รพ.) ผู้สูงอายุบางขุนเทียน ในสังกัด กทม. จัดเตรียมเครื่องมือ วัสดุอุปกรณ์ และบุคลากรทางการแพทย์ นอกจากนี้ ยังได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมควบคุมโรค กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เครือข่ายโรงพยาบาบาลที่ตั้งอยู่ภายในพื้นที่กรุงเทพฯ เพื่อเตรียมความพร้อมด้วยเช่นกัน คาดว่าจะสามารถรองรับสถานการณ์ได้ในระดับที่พร้อมพอสมควร” รองปลัด กทม. กล่าว

 

นอกจากนี้ พญ.วันทนีย์ กล่าวว่า ที่ประชุมได้ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องประชาสัมพันธ์กระตุ้นเตือนให้ประชาชนดูแลสุขอนามัยส่วนบุคคล ปรับการดำเนินชีวิตตามปกติในรูปแบบใหม่ (New Normal) ด้วยหลัก 6 ประการ ได้แก่ 1.หมั่นล้างพื้นผิวสัมผัสบ่อยๆ ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ หรืออย่างน้อยล้างทำความสะอาดด้วยน้ำสบู่ หรือผงซักฟอก 2.สวมหน้ากากอนามัยทุกครั้งที่ออกนอกบ้านหรืออยู่ในที่สาธารณะ 3.หมั่นล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่และน้ำ หรือแอลกอฮอล์ล้างมือ 4.รักษาระยะห่างระหว่างบุคคล อย่างน้อย 1-2 เมตร โดยเฉพาะบุคคลแปลกหน้าหรือผู้ที่ไม่ใช่สมาชิกในครอบครัว 5.หลีกเลี่ยงการอยู่ในพื้นที่แออัด โดยเฉพาะบริเวณที่อากาศถ่ายเทไม่สะดวก และ 6.ใช้แพลตฟอร์ม “ไทยชนะ” ทุกครั้งเมื่อไปใช้บริการร้านค้าหรือสถานประกอบการต่างๆ

 

“เนื่องจากแพลตฟอร์ม “ไทยชนะ” จะทำให้สามารถติดตามบุคคลในสถานที่ที่อาจมีการแพร่ระบาดได้สะดวก ซึ่งจะส่งผลให้การควบคุมการแพร่ระบาดเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว ลดการขยายวงการแพร่ระบาดได้ทันท่วงที รวมทั้งขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจแนะนำสถานประกอบการ ห้างร้าน รวมถึงประชาชนที่ประกอบกิจกรรมในสถานที่สาธารณะต่างๆ ให้ปฏิบัติตามข้อกำหนดของมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดอย่างเข้มข้นและทั่วถึง และขอให้หมั่นตรวจซ้ำสถานที่ดังกล่าวข้างต้นเพื่อให้คำแนะนำและกระตุ้นเตือนผู้ประกอบการและประชาชน โดยเฉพาะในตลาดสด ตลาดนัด และตลาดน้ำด้วย” พญ.วันทนีย์ กล่าว

 

รองปลัด กทม. กล่าวว่า อย่างไรก็ดี หากมีการระบาดรอบใหม่ สิ่งสำคัญที่จะสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็ว นอกจากการใช้แพลตฟอร์ม “ไทยชนะ” แล้ว การทำงานของทีมสอบสวนโรคเร่งด่วน (SSRT) เป็นอีกปัจจัยที่จะสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งปัจจุบัน กทม.มีทีมสอบสวนโรคเร่งด่วน รวมทั้งสิ้น 71 ทีม ทีมสอบสวนโรคเร่งด่วน ประจำศูนย์บริการสาธารณสุข ทั้ง 68 แห่ง รวม 68 ทีม และทีมสอบสวนโรคเร่งด่วนของสำนักอนามัย จำนวน 3 ทีม จึงขอให้โรงพยาบาลในสังกัด กทม.พิจารณาจัดตั้งทีมสอบสวนโรคเร่งด่วนเพิ่มเติม เพื่อให้สามารถปฏิบัติงานได้อย่างทันต่อเหตุการณ์ ซึ่งจะสามารถควบคุมการแพร่ระบาดโรคได้อย่างรวดเร็วต่อไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง