ไทย-จีนร่วมเปิดตัวโครงการวิจัย 'จีโนมิกส์' วิเคราะห์ความเสี่ยงโรคแม่นยำ
กรุงเทพฯ, 21 พ.ค. (ซินหัว) -- เมื่อวันเสาร์ (18 พ.ค.) ศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เปิดเผยว่าไทยเตรียมริเริ่มโครงการวิจัยที่มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดหาเครื่องมือและแพลตฟอร์มการวิจัยสำหรับประชากรที่มีความเสี่ยงสูงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือดที่เกิดจากหลอดเลือดแดงแข็ง และเสนอแผนคาดการณ์ความเสี่ยงและการรักษาก่อนเกิดอาการศุภมาสประกาศโครงการดังกล่าวในการประชุมนานาชาติด้านจีโนมิกส์ (ICG) ครั้งที่ 19 ซึ่งจัดขึ้นที่คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ สังกัดกระทรวงฯ จะร่วมมือกับบริษัท แบงคอกจีโนมิกส์อินโนเวชั่น จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนด้านวิทยาศาสตร์ชีวภาพไทย-จีน เพื่อผลักดันโครงการโดยใช้ตัวชี้วัดทางชีวภาพใหม่ๆ อาทิ ไตรเมทิลามีน เอ็น-ออกไซด์ (Trimethylamine N-oxide)ศุภมาสระบุว่าการทดสอบไตรเมทิลามีน เอ็น-ออกไซด์ มีศักยภาพที่จะปฏิวัติการป้องกันและการจัดการโรคหัวใจและหลอดเลือดในไทย การตรวจพบความเสี่ยงของโรคหัวใจและหลอดเลือดตั้งแต่ช่วงระยะเริ่มต้นจะสามารถปรับปรุงคุณภาพชีวิตของผู้คน และลดค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลจากการรักษาโรคในระยะที่รุนแรงได้รายงานระบุว่ากลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือด อาทิ ภาวะหัวใจล้มเหลว ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน และโรคหลอดเลือดสมอง เป็นสาเหตุสำคัญของการเจ็บป่วยและการเสียชีวิตของคนไทย โดยไทยมีผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลันราว 100,000 รายต่อปี โรคหลอดเลือดสมองที่ส่งผลกระทบผู้ป่วยราว 300,000 รายต่อปี คิดเป็นค่าใช้จ่ายของภาครัฐไม่ต่ำกว่า 3 หมื่นล้านบาทต่อปีการประชุมดังกล่าวจัดขึ้นเป็นระยะเวลา 2 วัน ภายใต้หัวข้อ "โอมิกส์ สุขภาพดี และอายุที่ยืนยาว" (Omics, Wellness, and Longevity) โดยทำหน้าที่เป็นเวทีสำหรับนักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย ผู้กำหนดนโยบาย และผู้นำในอุตสาหกรรมจากทั่วโลก เพื่อมาร่วมแลกเปลี่ยนความรู้และทำงานร่วมกันในการวิจัยด้านจีโนมิกส์และเทคโนโลยีชีวภาพที่ล้ำสมัยศุภมาสระบุว่าเป็นเวลาหลายทศวรรษแล้วที่บีจีไอ (BGI) ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทแบงคอกจีโนมิกส์อินโนเวชั่น ได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อยกระดับการวิจัยวิทยาศาสตร์ชีวภาพและสุขภาพในไทยให้ก้าวขึ้นไปอีกขั้น โดยความก้าวหน้านี้ทำให้คนไทยสามารถรับการตรวจวินิจฉัยโรคด้วยการตรวจเลือดแบบง่ายๆ และช่วยให้สามารถกำหนดแผนการรักษาได้ โดยเฉพาะเมื่อมีการระบุความเสี่ยงล่วงหน้า ซึ่งโครงการความร่วมมือล้ำสมัยเหล่านี้เอื้อประโยชน์ต่อคนไทยแล้วกว่า 100,000 คนเจเรมี เฉา ผู้จัดการทั่วไปของบีจีไอ กรุ๊ป ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ระบุว่าบริษัทได้ริเริ่มความร่วมมือกับสถาบันที่เกี่ยวข้องของไทยในภาคการดูแลสุขภาพในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ได้แก่ การช่วยเหลือสถาบันไทยในการใช้เทคโนโลยีการตรวจคัดกรองหาความผิดปกติของโครโมโซมทารกในครรภ์มารดา และความร่วมมือในโครงการป้องกันและรักษาโรคธาลัสซีเมียอนึ่ง ไทยมีความชุกของโรคธาลัสซีเมียสูง โดยยีนของโรคมีการถ่ายทอดผ่านโครโมโซมระหว่างสมาชิกครอบครัว ซึ่งข้อมูลบ่งชี้ว่าคนไทยราวร้อยละ 30-40 เป็นพาหะของยีนธาลัสซีเมีย โดยเฉาระบุว่าการตรวจหาพาหะนำโรคอย่างทันท่วงทีและการรักษาที่มีประสิทธิภาพนั้นมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประเทศไทยนอกจากนี้ เฉาระบุว่าบีจีไอยังทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยในไทยเพื่อพัฒนาโครงการการศึกษาร่วมด้านจีโนมิกส์ และฝึกอบรมผู้มีความสามารถเฉพาะทางในสาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ (แฟ้มภาพซินหัว : ศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวเปิดการประชุมนานาชาติด้านจีโนมิกส์ (ICG) ครั้งที่ 19 วันที่ 18 พ.ค. 2024) (แฟ้มภาพซินหัว : เจ้าหน้าที่ด้านเทคนิคของบริษัท แบงคอกจีโนมิกส์อินโนเวชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัทร่วมลงทุนในไทยของบีจีไอ กรุ๊ป กำลังทำงานในห้องปฏิบัติการ) (แฟ้มภาพซินหัว : พิธีเปิดการประชุมนานาชาติด้านจีโนมิกส์ (ICG) ครั้งที่ 19 ซึ่งจัดขึ้นที่คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันที่ 18 พ.ค. 2024)