รีเซต

สธ.เซ็นซื้อแอสตร้าฯอีก 60 ล้านโดส บูสต์ 60 ล้านคน ปี'65 เพิ่มออฟชั่นสวิตคำสั่งซื้อรุ่น 2 ได้ทันที

สธ.เซ็นซื้อแอสตร้าฯอีก 60 ล้านโดส บูสต์ 60 ล้านคน ปี'65 เพิ่มออฟชั่นสวิตคำสั่งซื้อรุ่น 2 ได้ทันที
มติชน
29 กันยายน 2564 ( 15:27 )
53

 

เมื่อวันที่ 29 กันยายน ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการ สธ. เป็นประธานในพิธีลงนามสัญญาการจัดหาวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า เพิ่มเติมอีกจำนวน 60 ล้านโดส ระหว่าง นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กับนายเจมส์ ทีก ประธาน บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด

 

 

นายอนุทินกล่าวว่า มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งในการลงนามครั้งนี้ เป็นก้าวสำคัญของการสู้โควิด-19 โดย สธ. มอบหมายให้กรมควบคุมโรค ลงนามสัญญาจัดซื้อวัคซีนแอสตร้าฯ สำหรับปี 2565 เบื้องต้นเป็นจำนวน 60 ล้านโดส มูลค่ากว่า 1.8 หมื่นล้านบาท เพื่อเป็นวัคซีนบูสเตอร์โดสให้กับผู้ที่ได้รับวัคซีนในปี 2564 ทั้งการฉีดครบ 2 เข็ม หรือการฉีดเข็มที่ 3 แล้วก็ตาม โดยการบูสเตอร์จะฉีดเพียงเข็มเดียว ดังนั้น จึงมั่นใจได้ว่าประชากรไทย 60 ล้านคน เพียงพอสำหรับ 60 ล้านโดส และด้วยการผลิตที่มีโรงงานในประเทศไทย ก็จะทำให้เราไม่ขาดแคลนวัคซีน มีวัคซีนแอสตร้าฯ เข้ามาเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโควิด-19 ให้ทุกคนตั้งแต่ต้นปี 2565 เป็นต้นไป แบ่งเป็น 3 ไตรมาส คือ ไตรมาสที่ 1 จำนวน 15 ล้านโดส ไตรมาส 2 อีก 30 ล้านโดส และไตรมาสที่ 3 จำนวน 15 ล้านโดส ครบ 60 ล้านโดส

 

 

“เรากับแอสตร้าฯมีความเข้าใจกันมากขึ้น ทางผู้ผลิตก็ทราบถึงความต้องการวัคซีนของเรา เขาจึงให้คำยืนยันว่าจะให้ความสำคัญกับการส่งวัคซีนให้ประเทศไทยเป็นอันดับแรก” นายอนุทินกล่าว

 

 

นายอนุทินกล่าวว่า ที่สำคัญคือสัญญาในรอบนี้ กรมควบคุมโรคได้เจรจาได้เงื่อนไขที่ดีขึ้น ได้ราคาดีขึ้น ไม่ต้องมัดจำเงินจองวัคซีน โดยจะจ่ายเมื่อมีการส่งวัคซีนแล้ว นอกจากนั้น หากผู้ผลิตพัฒนาวัคซีนแอสตร้าฯ รุ่น 2 ที่ครบวงจรมากขึ้น ครอบคลุมสายพันธุ์เดลต้าและอื่นๆ ได้สำเร็จ เราสามารถสวิตคำสั่งซื้อได้ทันที โดยไม่มีค่าใช้จ่าย

“อย่างไรก็ตาม ปีหน้าวัคซีนแอสตร้าฯอาจจะพัฒนารองรับการฉีดตั้งแต่ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี เราก็อาจจะใช้ในส่วนนี้ อาจไม่ต้องสั่งซื้อเพิ่มเติม อย่างไรก็ตาม การเจรจาจัดหาวัคซีนโควิด-19 ในปีหน้าเราได้หารือกับผู้ผลิตหลายๆ เจ้ายืนยันว่าไม่เคยปิดกั้นผู้ผลิตรายอื่น” นายอนุทินกล่าว

ด้าน นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวว่า การสั่งซื้อวัคซีนแอสตร้าฯในสัญญาใหม่ก็จะเป็นฐานผลิตในประเทศไทย โดยช่วงแรกบริษัทสยาม ไบโอไซเอนซ์ ประเทศไทย สามารถผลิตได้เดือนละราว 15 ล้านโดส แต่ด้วยความชำนาญที่มากขึ้นขณะนี้ก็เพิ่มขึ้นเป็น 20 ล้านโดสต่อเดือน ซึ่งถือเป็นจำนวนที่เพิ่มขึ้นมาก เพราะไม่ใช่เรื่องง่าย ดังนั้น การส่งมอบต่อเดือนก็มากขึ้น จะเห็นได้ว่า เดือนกันยายน ส่งมอบ 8 ล้านโดส เดือนตุลาคม คาดว่า 10 ล้านโดส และเดือนพฤศจิกายน ก็น่าจะเพิ่มมากขึ้นกว่านี้

 

 

“ทั้งหมดเป็นความพยายามระหว่างแอสตร้าฯ และสยามไบโอไซเอนซ์ ส่วนหนึ่งทางแอสตร้าฯ ก็พยายามหาซัพพลายจากต่างประเทศด้วย รูปแบบสัญญามีความชัดเจนมากกว่า เพราะพ้นระยะของการวิจัยพัฒนา มีความแน่ใจการผลิตมากขึ้น ดังนั้น การส่งมอบจะชัดเจนมากขึ้น หากการผลิตในไทยติดขัดใด ทางแอสตร้าฯ ก็จะจัดหาจากที่อื่นมาให้เรา ซึ่งเป็นข้อตกลงร่วมกัน” นพ.นคร กล่าว

 

 

ผู้สื่อข่าวถามว่า วัคซีนแอสตร้าฯสามารถใช้เป็นบูสเตอร์กับการฉีดในวัคซีนชนิดอื่นๆ หรือไม่ นพ.นครกล่าวว่า ต้องใช้ข้อมูลงานวิจัยมาเสริมด้วย แต่เบื้องต้นแอสตร้าฯสามารถใช้บูสเตอร์ตัวมันเองได้ด้วย มีการศึกษาเข็มที่ 3 ด้วยแอสตร้าฯ ในผู้ที่รับแอสตร้าฯครบ 2เข็ม พบว่าได้ผลดีเช่นกัน ข้อมูลก็จะทยอยออกมา รวมถึงสูตรไขว้ด้วย เพราะทุกอย่างต้องใช้งานวิจัยมารองรับ ส่วนการบูสเตอร์แอสตร้าฯ หลังจากรับ mRNA มาแล้ว ก็ต้องดูข้อมูล ทั้งนี้ แอสตร้าฯ มีข้อดีในการกระตุ้นภูมิฯ ระดับเซลล์ ส่วน mRNA ใช้กระตุ้นภูมิฯ ระดับแอนติบอดี้สูง ดังนั้น 2 ชนิด อาจสนับสนุนการทำงานซึ่งกันและกัน ซึ่งต้องติดตามงานวิจัยทั้งในและต่างประเทศ เช่น อังกฤษ ที่เป็นงานวิจัยขนาดใหญ่ การศึกษาบูสเตอร์วัคซีนต่างชนิดกัน ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับเราจะนำข้อมูลส่วนในมาประกอบการใช้วัคซีนของเรา ที่ข้อมูลก็มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ ส่วนปีหน้าเราก็กำลังเจรจาจัดหาวัคซีน mRNA อยู่เช่นกัน

 

 

“เราพยายามจัดหาวัคซีนชนิดอื่นด้วย จะไม่เอามาเยอะเกินไป แต่ไม่น้อยเกินไป ต้องเผื่อ ซึ่งจะมีความชัดเจนมากขึ้น เพราะวัคซีนแต่ละตัวมีผล มีงานวิจัยมากขึ้น ทำให้การจองวัคซีนไม่ได้อยู่บนความเสี่ยงมากเหมือนปีที่แล้ว การซื้อวัคซีนจะเห็นผลของมันชัดเจน เราจะพิจารณาได้เป็นตัวๆ ปีหน้าก็น่าจะมีวัคซีนที่เพียงพอ จำนวนมากพอสมควร และความต้องการใช้ไม่เยอะเหมือนปีนี้ เพราะจนถึงสิ้นปี 2564 จะมีผู้ได้รับวัคซีนจำนวนมากขึ้นแล้ว ซึ่งจะมีวัคซีนที่เหลื่อมถึงปีหน้า ใช้ระหว่างรอยต่อการจัดหาของปีหน้า” นพ.นครกล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง