รีเซต

‘สุริยะ’ ยันหนุนลงทุนอีวีเต็มสูบ - ล่าสุด เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ ขยายโรงงานผลิตชิ้นส่วน-แบตเตอร์รี่-สถานีชารจ์

‘สุริยะ’ ยันหนุนลงทุนอีวีเต็มสูบ - ล่าสุด เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ ขยายโรงงานผลิตชิ้นส่วน-แบตเตอร์รี่-สถานีชารจ์
ข่าวสด
13 กรกฎาคม 2563 ( 18:38 )
87
‘สุริยะ’ ยันหนุนลงทุนอีวีเต็มสูบ - ล่าสุด เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ ขยายโรงงานผลิตชิ้นส่วน-แบตเตอร์รี่-สถานีชารจ์

 

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยถึงกรณีนักลงทุนค่ายรถยนต์ยุโรป เป็นห่วงแผนการส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ในไทย ที่ยังไม่เห็นการขับเคลื่อนจากรัฐบาลอย่างจริงจัง ว่า รัฐบาลยืนยันยังมีแผนสนับสนุนเอกชนที่เข้าลงทุนด้านยานยนต์ไฟฟ้า โดยเฉพาะการลงทุนสร้างสถานีชาร์จไฟฟ้า ซึ่งล่าสุดบริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัทสัญชาติไต้หวัน ตั้งอยู่ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมบางปู จังหวัดสมุทรปราการ ได้ลงทุนขยายโรงงานผลิตชิ้นส่วนที่ใช้ในยานยนต์ไฟฟ้า แบตเตอร์รี่อีวี และสถานีชารจ์ไฟฟ้า ช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับค่ายรถยนต์ว่าไทยมีแผนผลักดันชัดเจน

ส่วนการติดตามสถานการณ์การช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในพื้นที่ตำบลแพรกษา จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีเอสเอ็มอีประกอบกิจการจำนวนกว่า 10,000 โรงงาน มีการจ้างงานจำนวนมาก ขณะนี้ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือเอสเอ็มอี ดี แบงก์ เร่งปล่อยสินเชื่อให้เอสเอ็มอีโดยด่วนแล้วรวม 41 ราย วงเงินกว่า 62 ล้านบาท ช่วยเหลือเอสเอ็มอีแล้ว 431 ราย วงเงินรวม 565 ล้านบาท แบ่งเป็นลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 จำนวน 250 ราย วงเงิน 285 ล้านบาท

นายอนุสรณ์ มุทราอิศ กรรมการบมจ.เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) กล่าวว่า เดลต้าได้ขยายโรงงานผลิตแบตเตอรี่ สตอเรจ เพื่อใช้ในยานยนต์ไฟฟ้าเพิ่มอีก 1 โรง รวมเป็น 3 โรง เป็นการย้ายฐานการผลิตจากจีน เพราะปัญหาสงครามการค้าจีนและสหรัฐ และรองรับการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ในไทย และจะร่วมกับบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) สถาบันยานยนต์ไฟฟ้าสร้างสถานีชาร์จอัดประจุไฟฟ้า ที่จะขยายในไทยเพิ่มเติมจากปัจจุบันที่ติดตั้งแล้ว 300 แห่ง

“การลงทุนของเดลต้าครั้งนี้ เชื่อว่าจะเกิดการจ้างงานภายในพื้นที่ แม้ว่าช่วงที่เกิดโรคระบาดโควิด-19 จะมีผลต่อการผลิตของบริษัทบ้าง แต่บริษัทไม่ได้ปลดคนงาน เนื่องจากบริษัทมีการสำรองเงินสดเพื่อหมุนเวียนค่อนข้างมาก และขณะนี้เริ่มมียอดสั่งซื้อจากต่างประเทศกลับเข้ามา เพราะบริษัทเน้นผลิตเพื่อส่งออกเกือบ 100% เฉลี่ยปีละ 1,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตั้งเป้าหมายจะจ้างงานในไทยเพิ่มอีก 7% จากที่มีการจ้างงานอยู่ 12,000 คน แต่ยอมรับว่าปัจจัยเสี่ยงสำคัญในครึ่งปีหลังคือ ปัญหาโควิด-19 ระบาดรอบ 2”

ปัจจุบันเดลต้า มีโรงงานในไทยรวม 3 แห่ง โรงงานแห่งที่ 3 ย้ายฐานผลิตจากประเทศจีนเมื่อปี 2562 ส่วนโรงงานอีก 2 โรง เป็นโรงงานที่ผลิตชิ้นส่วนออโตเมติกส์ โรงงานด้านศูนย์ข้อมูลเพื่อโครงสร้างพื้นฐาน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง