รีเซต

สปสช. แจงดรามา 1330โทรไม่ติด พบยอดพุ่ง 4.9 หมื่นสาย แนะแอดไลน์แจ้ง

สปสช. แจงดรามา 1330โทรไม่ติด พบยอดพุ่ง 4.9 หมื่นสาย แนะแอดไลน์แจ้ง
ข่าวสด
22 กุมภาพันธ์ 2565 ( 19:01 )
83
สปสช. แจงดรามา 1330โทรไม่ติด พบยอดพุ่ง 4.9 หมื่นสาย แนะแอดไลน์แจ้ง

ข่าววันนี้ 22 ก.พ. นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวถึงกรณีผู้ติดเชื้อโควิดบางส่วนที่ไม่สามารถติดต่อเพื่อเข้าระบบการดูแลผ่านสายด่วน 1330 ได้ว่า การติดต่อเข้าระบบการดูแลที่บ้าน (HI) ผ่านสายด่วน 1330 จากข้อมูลเมื่อวันที่ 21 ก.พ. ที่ผ่านมา มีจำนวนสายติดต่อเข้ามาสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ คือ 49,005 สายในรอบ 24 ชั่วโมง

 

ซึ่งมากกว่าช่วงเดือนสิงหาคม 2564 ที่มีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก ขณะนั้นมีโทรเข้ามาประมาณ 2 หมื่นกว่าสาย ดังนั้น จึงมีการเพิ่มเจ้าหน้าที่รับโทรศัพท์อีก 150 คน และแนะนำให้ติดต่อผ่านไลน์ สปสช. @nhso หรือเว็บไซต์ของ สปสช. เจ้าหน้าที่รับเรื่องและติดต่อกลับ หรือแม้แต่ติดต่อผ่านสายด่วน 1330 แต่ยังไม่ได้รับการติดต่อกลับก็ให้แอดไลน์ สปสช.เพื่อแจ้งข้อมูลได้ ขณะนี้มีคนแอดไลน์มาแล้วกว่า 2 ล้านคน

 

"หากติดต่อผ่าน 1330 แล้ว ให้เพิ่มเพื่อนไลน์ สปสช. หากยังไม่ได้รับบริการใด หรือเข้ารับบริการแล้วไม่เป็นไปอย่างตกลง อาหารไม่ได้ อุปกรณ์ไม่ดี ก็ส่งข้อความมาบอกทางไลน์ได้ จะเป็นช่องทางที่ดีที่สุด ซึ่งจากข้อมูลพบว่า ที่มีการโทรศัพท์เข้ามาสูงสุดของเมื่อวานนั้น ส่วนหนึ่งมาจากการที่ผู้ที่ยังไม่ได้เข้าระบบ ทุก 2 ชั่วโมงโทรกลับเข้ามา ซึ่งจากข้อมูล 1 คนโทรซ้ำประมาณ 4-5 ครั้ง หาก 1 พันคนโทร 5 ครั้ง ก็ไป 5 พันครั้ง" นพ.จเด็จกล่าว

 

นพ.จเด็จกล่าวว่า ในสายทุกวินาทีมีการรอสายประมาณ 50 สายตลอดเวลา เพราะมีคนแย่งกันโทรเข้ามา โดยสายเข้ามีประมาณ 3 พันสาย คนรับประมาณ 300 ราย หากโทรมา 350 ราย ดังนั้น อีก 50 รายก็ต้องรอ ส่วน 300 คนกำลังคุยกันอยู่ ซึ่งใช้เวลาคุยวางสายไม่เท่ากัน พอวางสายก็จะดึงเอาคนที่รออยู่เข้าไป บางครั้งไม่รอก็วางเลย แล้วโทรใหม่ เราเห็นว่าเป็นระบบที่เราเชื่อว่าไม่มีประสิทธิภาพ จึงอยากให้ติดต่อผ่านไลน์ ซึ่งสามารถติดต่อเจ้าหน้าทีได้เลย

 

เมื่อถามว่าขณะนี้มีประชาชนร้องเรียนมาว่าแจ้ง 1330 แล้วแต่ไม่มีเจ้าหน้านี้โทรกลับ บางพื้นที่ให้ประชาชนไปซื้อยากินเอง นพ.จเด็จ กล่าวว่า สปสช.มีหน้าที่ผูกหน่วยบริการ ดังนั้นผู้โทรกลับจะเป็นหน่วยบริการ หากเป็นกทม. จะมีทางเขตเป็นผู้ดูแล ซึ่งทุกวันจะมีการรอเกิน 6 ชั่วโมงประมาณ 1 พันกว่ารายทั่วประเทศ แต่เสาร์อาทิตย์พบขึ้นไป 3 พันราย

 

ถามว่ามีการถามว่าที่ติดต่อเข้าระบบช้า เนื่องจาก HI/CI เต็มแล้วหรือไม่ นพ.จเด็จกล่าวว่า ต้องดูหน่วยบริการว่ารับได้เท่าไร ซึ่งเรามีระบบติดตามดู โดยจะมีการติดต่อไปยัง กทม.ให้กำชับเขตว่าทำไมยังไม่เคลียร์รับผู้ติดเชื้อทั้งที่เกิน 6 ชั่วโมงแล้ว ซึ่งการรับเข้าไม่เข้าไม่ใช่หน้าที่ สปสช. แต่เรายินดีตามให้ ซึ่งกรณีหน่วยบริการรับ HI เต็มศักยภาพแล้วจะต้องแจ้งเรามาว่า รับได้เท่าไร หยุดรับเมื่อไร

 

ถ้าไม่แจ้งเรามา ระบบก็จะส่งเคสให้เรื่อยๆ ซึ่งหากแจ้งว่ายังรับไม่ได้จะตัดออก ซึ่งตอนนี้ที่รอแน่นที่สุด คือ คันนายาว 330 ราย บางกะปิ 101 ราย และลาดกระบัง 93 ราย อย่างไรก็ตาม เราจะประกาศรับเพิ่มหน่วยบริการที่จะร่วม HI

 

ถามต่อว่าการให้ประชาชนรักษา HI เป็นหลัก แต่ไม่เคยถามความสมัครใจ หรือความพร้อมของประชาชนว่าสามารถอยู่ในระบบ HI ได้หรือไม่ นพ.จเด็จ กล่าวว่า ย้ำว่า 1330 เรามีการสอบถามความสมัครใจ ไม่มีการบังคับผู้ป่วยว่าต้องเข้า HI เท่านั้น เพราะการคุยทางโทรศัพท์เราไม่มีวันรู้อาการแท้จริง เป็นเพียงข้อแนะนำและผูกกับหน่วยบริการให้เร็วที่สุด

 

ทั้งนี้ข้อมูลวันที่ 21 ก.พ.ที่ผ่านมา ผู้ติดเชื้อโทรเข้ามา 3.7 พันราย ครึ่งหนึ่งปฏิเสธที่จะอยู่ HI มีคนสมัครใจเข้า HI ประมาณ 1.3 พันรายเท่านั้น

 

ที่ปฏิเสธส่วนใหญ่ขอให้หาโรงแรม อีกส่วนขอให้หารพ.ให้ แต่เท่าที่ประเมินแล้วไม่ใช่กลุ่มเสี่ยงอาการรุนแรง สามารถดูแล HI/ CI ได้ แต่พอปฏิเสธ เราก็จะบันทึกประวัติเข้าระบบ CRM ไว้ ซึ่งจากการติดตามคนเหล่านี้ส่วนใหญ่จะไปหาการตรวจ RT-PCR ที่รพ. ซึ่งต้องใช้เวลา 24- 48 ชั่วโมง คนกลุ่มนี้ก็จะมีช่วงเวลาที่ต้องรอ และมักจะโทรกลับมาซ้ำๆ ทุก 2 ชั่วโมง ทำให้ปริมาณสายมาก และคนก็ต้องรอสายเพิ่มมากขึ้น

 

ผู้สื่อข่าวถามอีกว่าช่วงที่ผู้ป่วยปฏิเสธ HI แล้วไปตรวจ RT-PCR และต้องรอผล ระหว่างที่รอผล เขาจะทำอย่างไรได้บ้างเพื่อไม่ต้องไปอยู่ข้างถนนได้อย่างไร จะต้องเข้า CI หรือไม่ นพ.จเด็จ กล่าวว่า ขอแนะนำให้เข้าระบบ ของเราก่อนเลย ส่วนจะเข้าโรงแรม หรือโรงพยาบาลก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

 

เมื่อถามย้ำถึงเหตุผลที่คนปฏิเสธ HI เพราะไม่พร้อมจะอยู่บ้าน แต่ทำไมถึงต้องปฏิเสธระบบ CI ด้วย แต่กลับยืนยันจะเข้าฮอสปิเทลอย่างเดียว นพ.จเด็จ กล่าว คงมีเหตุผลหลายอย่าง อาจจะเป็นค่านิยม หรือการรับข้อมูลข่าวสารจากคนใกล้ชิด หรืออาจจะมีเจตนาส่วนอื่น

 

จากที่ทราบและสอบถามก็มีเรื่องของการเคลมประกันด้วย เข้าใจว่าท่านอาจจะมีเหตุผลของท่าน แต่ระหว่างรออยากให้เข้าสู่ระบบ HI หรือ CI ก่อน จะทำให้ระบบไม่เกิดความวุ่นวายมาก

 

“จริงๆ จิตอาสาต่างๆ ที่ไปพบผู้ป่วยตามที่ต่างๆ เพื่อนำเข้าสู่ระบบนั้น สปสช. เคยมีการหารือ และให้เบอร์พิเศษสำหรับจิตอาสาส่งเคสเข้ามาอยู่แล้ว ซึ่งที่ผ่านมา มีจิตอาสาส่งเคสเข้ามาให้เราตั้งแต่วันที่ 14 ก.พ. หลายพันราย เราก็ดำเนินการให้ ดังนั้นจิตอาสาถ้าท่านเจอผู้ป่วยที่อาจจะมีปัญหา กรุณาโทรหาเราที่เบอร์โทรพิเศษที่ให้ไป หรือเข้ากลุ่มไลน์พิเศษของจิตอาสาแล้วส่งข้อมูลมาให้เรา ซึ่งตอนนี้ยังทำงานกันอยู่ เป็นระบบพิเศษเพื่อเปิดมาร่วมกันเก็บคนตกหล่น เพราะจิตอาสาเป็นหน่วยที่ลงพื้นที่ได้เร็วกว่า” นพ.จเด็จ กล่าว

 

นพ.จเด็จ กล่าวว่า สำหรับการปรับลดค่าตรวจ RT-PCR 2 ยีน 900 บาท และ 3 ยีน 1.2 พันบาท รวมถึงลดอัตราค่าตรวจ ATK นั้น สามารถดำเนินการได้ในวันที่ 1 มี.ค.เลย ไม่ต้องอิงกับการประกาศปรับการรักษาโควิดฟรีตามสิทธิที่เพิ่งมีการชะลอออกไปก่อน เพราะเรื่องค่าตรวจเป็นเรื่องของหน่วยบริการ

 

ซึ่งการปรับลดตรงนี้เราได้มีการหารือ และอิงตามอัตราค่าตรวจจริงในปัจจุบัน ทั้งนี้สำหรับค่าตรวจ ดูแล รักษา โควิดตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมารวมประมาณ 1.3 แสนล้านบาท เฉพาะปี 2564 รวมประมาณ 5.1 หมื่นล้านบาท ปี 2565 ตอนนี้ใช้ไปแล้ว 3.1 หมื่นล้านบาท กำลังขอเพิ่มอีก 5.1 หมื่นล้านบาท

ข่าวที่เกี่ยวข้อง