รีเซต

“วิปรัฐบาล” เผย ครม.ขอนำกมกลับไปพิจารณา 5 ฉบับก่อนรับหลักการ ส่อหนุนร่างกฎหมายคู่ชีวิต แทนร่างสมรสเท่าเทียม

“วิปรัฐบาล” เผย ครม.ขอนำกมกลับไปพิจารณา 5 ฉบับก่อนรับหลักการ ส่อหนุนร่างกฎหมายคู่ชีวิต แทนร่างสมรสเท่าเทียม
มติชน
18 พฤษภาคม 2565 ( 14:12 )
63

“วิปรัฐบาล” เผย ครม.ขอนำกมกลับไปพิจารณา 5 ฉบับก่อนรับหลักการ ส่อหนุนร่างกฎหมายคู่ชีวิต แทนร่างสมรสเท่าเทียม เตรียมประชุมวิป 2 ฝ่าย หารือแบ่งเวลาพิจารณางบฯ 66 26 พ.ค.นี้

 

เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม นายสุรสิทธิ์ นิธิวุฒิวรรักษ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในฐานะคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล)​ เปิดเผยถึงผลการประชุมวิปรัฐบาลเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคมที่ผ่านมาว่า ที่ประชุมได้พิจารณาเกี่ยวกับการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ที่จะเข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ เบื้องต้นมีร่างพ.ร.บ. ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ขอรับไปพิจารณาก่อนที่สภาฯ จะลงมติรับหลักการจำนวน 5 ฉบับ อาทิ ร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ…. ซึ่งแก้ไขเกี่ยวกับการสมรสเท่าเทียม และจากการชี้แจงของหน่วยงานและเชิญ ส.ส.ที่เสนอร่างกฎหมายพิจารณา พบว่ามีร่างกฎหมายที่คล้ายคลึงและรัฐบาลเตรียมเสนอคือ ร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต ส่วนการแก้ไขประเด็นสมรสเท่าเทียมนั้นการเสนอแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์อาจไม่ครอบคลุม อย่างไรก็ตาม วิปรัฐบาลยังไม่ได้มีมติให้ลงมติในทิศทางใด เช่นเดียวกับร่างพ.ร.บ.อีก 4 ฉบับที่ครม.ขอนำไปพิจารณาก่อนรับหลักการ

 

นายสุรสิทธิ์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ยังมีวาระพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 ที่นายชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ ได้กำหนดวาระพิจารณาวาระแรก ในวันที่ 31 พฤษภาคม-2 มิถุนายน ซึ่งวิปไม่ขัดข้องและเห็นว่าเวลาดังกล่าวเหมาะสมแล้ว ทั้งนี้ ในวันที่ 26 พฤษภาคม จะมีการหารือระหว่างวิปรัฐบาลและวิปฝ่ายค้านเพื่อแบ่งเวลาอภิปรายอีกครั้ง

 

นายสุรสิทธิ์ กล่าวด้วยว่า นอกจากนั้นที่ประชุมยังหารือถึงความคืบหน้าการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ จำนวน 2 ฉบับที่ กมธ.ร่วมกันพิจารณา ซึ่งคาดว่าในปลายเดือนพฤษภาคมนี้ กมธ.จะส่งให้ประธานรัฐสภาได้ ส่วนการพิจารณาวาระสองและวาระสาม ในที่ประชุมร่วมรัฐสภานั้นคาดว่าจะเป็นสัปดาห์ปลายเดือนมิถุนายน เนื่องจากมีร่างกฎหมายที่ต้องพิจารณาก่อน คือ ร่างพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ…. เบื้องต้นกำหนดการประชุมรัฐสภาวันที่ 9-10 มิถุนายน และในสัปดาห์ถัดไปคือ การพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ที่ภาคประชาชนและฝ่ายค้านเสนอ จากนั้นในสัปดาห์ที่สามของเดือนมิถุนายน จะเป็นการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญทั้งสองฉบับ ที่กมธ.พิจารณาแล้วเสร็จ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง