รีเซต

ประกาศเตือน! โรค-ภัยสุขภาพที่ต้องระวังช่วงฤดูฝน หากป่วยมีอาการอย่างไร?

ประกาศเตือน! โรค-ภัยสุขภาพที่ต้องระวังช่วงฤดูฝน หากป่วยมีอาการอย่างไร?
TNN ช่อง16
7 มิถุนายน 2565 ( 17:10 )
70
ประกาศเตือน! โรค-ภัยสุขภาพที่ต้องระวังช่วงฤดูฝน หากป่วยมีอาการอย่างไร?

วันนี้ (7 มิ.ย.65) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการแล้ว หากประชาชนดูแลรักษาสุขภาพไม่ถูกต้อง อาจทำให้เกิดการเจ็บป่วยได้   

กรมควบคุมโรค จึงได้ออกประกาศกรมควบคุมโรค เรื่อง การป้องกันโรคและภัยสุขภาพที่เกิดในช่วงฤดูฝนของประเทศไทย พ.ศ. 2565 แบ่งเป็น 4 กลุ่ม ดังนี้ 

กลุ่มที่  1 

โรคติดต่อระบบทางเดินหายใจ โรคไข้หวัดใหญ่ ติดต่อจากการไอ จามรดกัน หรือสัมผัสสิ่งของที่มีเชื้อร่วมกัน จะมีอาการไข้ ไอแห้งๆ ปวดศีรษะ เยื่อบุโพรงจมูกอักเสบและเจ็บคอ  

โรคปอดอักเสบ เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส จากการหายใจหรือสัมผัสละอองฝอยจากน้ำมูกเข้าไป จะมีไข้ ไอ หายใจหอบเหนื่อย พบได้ในทุกกลุ่มอายุ แต่จะมีอาการรุนแรงในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องและมีโรคประจำตัว 

โดยทั้งสองโรคนี้สามารถป้องกันได้ด้วยการรักษาสุขภาพให้แข็งแรง หมั่นล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่หรือแอลกอฮอล์เจล ไม่ใช้ของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น และสวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยทุกครั้งเมื่อออกนอกบ้าน ซึ่งวิธีดังกล่าวสามารถป้องกันโรคโควิด 19 ได้อีกด้วย  

กลุ่มที่ 2 

โรคติดต่อจากการสัมผัส โรคมือ เท้า ปาก พบมากในเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี จากการสัมผัสน้ำมูก น้ำลาย ผื่น ตุ่มน้ำใสของผู้ป่วย จะมีไข้ มีตุ่มพองใสหรือแผลในปาก ฝ่ามือ ฝ่าเท้าหรือก้น ส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรงและหายเองได้ ขอให้ผู้ปกครองและครูสังเกตอาการป่วยของเด็ก หากมีอาการสงสัยป่วย ให้แยกเด็กป่วยออกจากเด็กปกติและรีบไปพบแพทย์ พร้อมทั้งให้หยุดเรียนจนกว่าจะหายดี 

โรคเลปโตสไปโรซิสหรือโรคไข้ฉี่หนู พบบ่อยในผู้มีอาชีพเกษตรกรที่ต้องสัมผัสกับดินหรือน้ำอยู่เป็นประจำ จะมีไข้สูง ปวดศีรษะรุนแรง หนาวสั่น ตาแดง และปวดกล้ามเนื้อน่อง การป้องกัน คือ หลีกเลี่ยงการทำงานในน้ำหรือต้องลุยน้ำลุยโคลนเป็นเวลานาน หากจำเป็นควรสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันที่เหมาะสมทุกครั้ง 

กลุ่มที่ 3 

โรคติดต่อนำโดยยุงลาย โรคไข้เลือดออก มียุงลายเป็นพาหะนำโรค จะมีไข้สูง ปวดศีรษะ  ปวดกล้ามเนื้อ มีจุดแดงที่ผิวหนัง หากอาการรุนแรงอาจช็อกได้  

โรคไข้ปวดข้อยุงลายหรือโรคชิคุนกุนยา มียุงลายสวนและยุงลายบ้านเป็นพาหะนำโรค อาการคล้ายไข้เลือดออก แต่ต่างกันที่ไม่มีการรั่วของพลาสมาออกนอกเส้นเลือด จึงไม่พบผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงถึงขั้นช็อกและเสียชีวิต  

โรคติดเชื้อไวรัสซิกา มียุงลายเป็นพาหะ อาการโรคจะไม่รุนแรง แต่หากติดเชื้อในสตรีมีครรภ์ อาจทำให้เกิดภาวะศีรษะเล็กในเด็กแรกเกิด เด็กมีพัฒนาการช้าและตัวเล็ก หรือมีภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ การป้องกัน ขอให้ประชาชนสำรวจพื้นที่ที่มีน้ำขังและร่วมกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายในบริเวณรอบๆ ตัวบ้านและในชุมชน โดยใช้มาตรการ “3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค” เก็บบ้านให้สะอาด เก็บขยะที่อยู่บริเวณรอบบ้าน และเก็บน้ำ ปิดฝาภาชนะที่มีน้ำขังให้มิดชิด ป้องกันไม่ให้ยุงลายวางไข่ ซึ่งสามารถป้องกันได้ทั้ง 3 โรค  

กลุ่มที่ 4 

ภัยสุขภาพ การบาดเจ็บและเสียชีวิตจากการถูกฟ้าผ่า เมื่อมีฝนตกฟ้าคะนองให้หลบในที่ปลอดภัย เช่น ภายในบ้านหรืออาคาร และหลีกเลี่ยงอยู่ใต้ต้นไม้ใหญ่  

อันตรายจากการกินเห็ดพิษ หากไม่มั่นใจว่าเป็นเห็ดพิษหรือเห็ดที่รับประทานได้ ไม่ควรนำมารับประทาน หรืออาจเลือกรับประทานเห็ดที่มาจากการเพาะขยายพันธุ์ เช่น เห็ดนางฟ้า เห็ดฟาง  

อันตรายจากการถูกงูพิษกัด เมื่อมีฝนตกน้ำท่วมขัง สัตว์เลื้อยคลานและงูมีพิษ อาจมาอาศัยอยู่ในมุมอับของบ้าน ควรจัดบ้านให้สะอาด หากถูกงูพิษกัด ต้องรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที ลดการเคลื่อนไหวอวัยวะที่ถูกงูกัด และไม่ควรขันชะเนาะ อาจทำให้เนื้อเยื่อขาดเลือดเกิดเนื้อตายได้ พร้อมทั้งจดจำลักษณะชนิดของงูที่กัด เพื่อการรักษาที่ถูกต้องและรวดเร็ว


ข้อมูลจาก กรมควบคุมโรค

ภาพจาก AFP

ข่าวที่เกี่ยวข้อง