รีเซต

'ก.พาณิชย์'แนะเกษตรกรใช้ไม้ยืนต้นค้ำประกันเงินกู้ ลดหนี้นอกระบบ

'ก.พาณิชย์'แนะเกษตรกรใช้ไม้ยืนต้นค้ำประกันเงินกู้ ลดหนี้นอกระบบ
มติชน
1 กรกฎาคม 2564 ( 09:25 )
58
 

นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ตั้งแต่กฎกระทรวงกำหนดให้ทรัพย์สินอื่นเป็นหลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ.2561 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 5 พฤศจิกายน 2561 โดยกำหนดให้ไม้ยืนต้นเป็นทรัพย์สินที่สามารถนำมาใช้เป็นหลักประกันเพื่อขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินได้ ซึ่งก่อนหน้านี้ ไม้ยืนต้นที่ปลูกบนที่ดินกรรมสิทธิ์จะไม่ได้รับการประเมินในการให้สินเชื่อ จะประเมินเฉพาะส่วนที่เป็นที่ดินเท่านั้น แต่หลังจากที่กฎกระทรวงฯ มีผลบังคับใช้ทำให้สถาบันการเงินมีประเภททรัพย์สินในการให้สินเชื่อหลากหลายมากขึ้น ส่งผลดีทั้งต่อสถาบันการเงิน เกษตรกร และประชาชนที่ต้องการใช้ไม้ยืนต้นเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันในการขอสินเชื่อโดยมีกฎหมายรองรับอย่างชัดเจน

 

 

 

 

 

รวมถึงเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนปลูกไม้ยืนต้นบนที่ดินกรรมสิทธิ์ของตนเองเพื่อการออม สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ ส่งเสริมการปลูกป่าเพิ่มพื้นที่สีเขียว และเพิ่มออกซิเจนให้กับประเทศจนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2564 มีสถาบันการเงินและผู้ประกอบธุรกิจให้สินเชื่อรายย่อยอเนกประสงค์ (พิโกไฟแนนซ์) รับไม้ยืนต้นเป็นหลักประกันทางธุรกิจแล้ว 119,498 ต้น มูลค่าสินเชื่อรวมกว่า 134 ล้านบาท

 

 

โดยเป็นธุรกิจให้สินเชื่อรายย่อยอเนกประสงค์ (พิโกไฟแนนซ์) จำนวน 96,277 ต้น มูลค่าสินเชื่อ 4.03 ล้านบาท ต้นไม้ที่นำมาใช้เป็นหลักประกันทางธุรกิจส่วนใหญ่ ได้แก่ ยาง ยางพารา สัก เป็นต้น และในส่วนของสถาบันการเงินอื่น จำนวน 23,221 ต้น มูลค่าสินเชื่อกว่า 130 ล้านบาท ต้นไม้ที่นำมาใช้เป็นหลักประกันทางธุรกิจ ได้แก่ สัก มะขาม มะกอกป่า สะเดา ตะโก แดง ประดู่ป่า เป็นต้น โดยเป็นสินเชื่อของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จำนวน 221 ต้น มูลค่าสินเชื่อ 2.35 ล้านบาท

 

 

 

 

ทั้งนี้ จากตัวเลขดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงการเข้ามารุกตลาดสินเชื่อของธุรกิจให้สินเชื่อรายย่อยอเนกประสงค์ โดยเห็นว่าไม้ยืนต้นเป็นทรัพย์สินอย่างหนึ่งที่ใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันได้ นอกเหนือจาก บัญชีเงินฝาก รถจักรยานยนต์ รถยนต์ เป็นต้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้าผลักดันผู้ประกอบธุรกิจให้สินเชื่อทราบถึงประโยชน์แนวทางการใช้ไม้ ได้เห็นคุณค่าของไม้ยืนต้น และพร้อมที่จะใช้ไม้ยืนต้นเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน

 

 

“เป็นเรื่องดีที่ผู้ประกอบธุรกิจให้สินเชื่อรายย่อยอเนกประสงค์ยอมรับไม้ยืนต้นเป็นหลักประกันทางธุรกิจ แม้ผู้ประกอบธุรกิจรายย่อยและเกษตรกรจะได้รับวงเงินสินเชื่อที่ไม่สูงมากนัก ประมาณ 5 หมื่น – 1 แสนบาทต่อราย แต่การที่สามารถใช้ต้นไม้ที่มีอยู่แล้วเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน ก็เป็นช่องทางหนึ่งที่ช่วยให้เกษตรกรและผู้ประกอบธุรกิจรายย่อยที่ไม่มีทรัพย์สินในการขอกู้เงินจากสถาบันการเงินอื่นได้มีโอกาสเข้าถึงเงินทุนได้ง่ายและสะดวกมากขึ้น อีกทั้ง เป็นการลดการกู้ยืมเงินนอกระบบที่ไม่เป็นธรรม ผิดกฎหมาย และสร้างภาระให้เกษตรกรในระยะยาวคาดว่าในอนาคตธุรกิจให้สินเชื่อรายย่อยอเนกประสงค์จะมีการให้สินเชื่อแก่เกษตรกรและผู้ปลูกไม้ยืนต้นกรณีนำไม้ยืนต้นมาเป็นหลักประกันมากขึ้น ช่วยให้เกษตรกรและผู้ประกอบธุรกิจรายย่อยที่ต้องการเงินทุนจำนวนไม่มากสามารถนำต้นไม้ที่มีอยู่แล้วมาใช้ประโยชน์เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันการกู้เงินโดยไม่ต้องตัดหรือโค่นต้นไม้”

 

 

 

นอกจากนี้ ช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทั้ง 3 ระลอก (1 มีนาคม 2563 – 30 มิถุนายน 2564) ยังคงมีเกษตรกรนำไม้ยืนต้นมาใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน จำนวน 25,720 ต้น มูลค่าสินเชื่อ 4.11 ล้านบาท โดยเป็นการกู้เงินกับผู้ประกอบธุรกิจให้สินเชื่อรายย่อยอเนกประสงค์ และ ธ.ก.ส. ซึ่งช่วยให้เกษตรกรโดยเฉพาะในส่วนภูมิภาคมีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายและสะดวกอย่างแท้จริง อย่างไรก็ตาม กฎหมายหลักประกันทางธุรกิจ เน้นหลักความสุจริต ดังนั้น ทั้งผู้ให้หลักประกัน (ผู้กู้) และผู้รับหลักประกัน (สถาบันการเงิน) จำเป็นต้องชี้แจงรายละเอียดอย่างครบถ้วนก่อนการลงนามในสัญญาการกู้เงินที่มีการใช้ไม้ยืนต้นเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน ซึ่งจะทำให้ตลอดระยะเวลาการกู้เงินเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ปราศจากข้อขัดแย้งในอนาคต

 

 

“กรมฯ ขอเตือนเกษตรกรและผู้ประกอบธุรกิจรายย่อยที่กู้เงินจากสถาบันการเงินหรือผู้ประกอบธุรกิจให้สินเชื่อรายย่อยอเนกประสงค์โดยใช้ไม้ยืนต้นเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันว่า ผู้ให้หลักประกัน (ลูกหนี้) ต้องมีวินัยทางการเงิน นำเงินไปใช้ในทางที่ก่อให้เกิดประโยชน์ รวมถึง มีวินัยในการชำระหนี้ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ให้สินเชื่อ เพราะหากผู้ให้หลักประกัน (ลูกหนี้) ผิดนัดชำระหนี้ต้องยินยอมให้ผู้รับหลักประกัน (ผู้ให้กู้) ดำเนินการยึดหลักประกันได้ เพราะกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจกำหนดวิธีการบังคับหลักประกันไว้โดยเฉพาะว่า การบังคับหลักประกันที่เป็นทรัพย์สิน ผู้รับหลักประกันสามารถดำเนินการบังคับหลักประกันเองได้ โดยผู้ให้หลักประกันต้องยินยอมส่งมอบการครอบครองทรัพย์สินให้กับผู้รับหลักประกัน เพื่อนำทรัพย์สินไปจำหน่ายแล้วนำเงินมาชำระหนี้ต่อไป”

 

 

ข้อมูล ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2564 ประเทศไทยมีผู้ประกอบธุรกิจให้สินเชื่อรายย่อยอเนกประสงค์ (พิโกไฟแนนซ์) ภายใต้การกำกับของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง จำนวน 984 ราย แบ่งเป็น ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 580 ราย (ร้อยละ 58.95) ภาคเหนือ 125 ราย (ร้อยละ 12.70) ภาคกลาง 86 ราย (ร้อยละ 8.73) กรุงเทพมหานคร 75 ราย (ร้อยละ 7.63) ภาคตะวันออก 66 ราย (ร้อยละ 6.70) และ ภาคใต้ 52 ราย (ร้อยละ 5.29)  ทั้งนี้ กฎหมายหลักประกันทางธุรกิจเป็นกลไกสำคัญในการส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ประกอบธุรกิจ (โดยเฉพาะธุรกิจเอสเอ็มอี) สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายมากขึ้น โดยผู้ประกอบธุรกิจสามารถนำทรัพย์สินที่มีมูลค่าอื่นที่ใช้ในการประกอบธุรกิจมาเป็นหลักประกันการชำระหนี้ได้โดยไม่ต้องส่งมอบทรัพย์สินนั้น กำหนดให้ทรัพย์สินที่สามารถนำมาเป็นหลักประกันทางธุรกิจได้มีจำนวน 6 ประเภท ได้แก่ (1) กิจการ (2) สิทธิเรียกร้อง เช่น สัญญาเช่า บัญชีเงินฝากธนาคาร ลูกหนี้การค้า เป็นต้น (3) สังหาริมทรัพย์ที่ผู้ให้หลักประกันใช้ในการประกอบธุรกิจ เช่น เครื่องจักร สินค้าคงคลัง หรือวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตสินค้า เป็นต้น (4) อสังหาริมทรัพย์ในกรณีที่ผู้ให้หลักประกันประกอบธุรกิจอสังหาริมทรัพย์โดยตรง เช่น ที่ดินจัดสรร หมู่บ้านจัดสรร เป็นต้น (5) ทรัพย์สินทางปัญญา เช่น เครื่องหมายการค้า ลิขสิทธิ์ เป็นต้น (6) ทรัพย์สินอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง (ไม้ยืนต้น)

ข่าวที่เกี่ยวข้อง