รีเซต

สิ้น 'ปัญญา จินตะเวช' อดีต ส.ส.อุบลราชธานี หลายสมัย

สิ้น 'ปัญญา จินตะเวช' อดีต ส.ส.อุบลราชธานี หลายสมัย
มติชน
24 กันยายน 2565 ( 15:15 )
53
สิ้น 'ปัญญา จินตะเวช' อดีต ส.ส.อุบลราชธานี หลายสมัย

เมื่อวันที่ 24 กันยายน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายปัญญา จินตะเวช อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดอุบลราชธานี 6 สมัย พรรคเพื่อไทย ได้เสียชีวิตลงอย่างสงบ เมื่อเวลา 09.20 น. ที่โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์อุบลราชธานี ด้วยโรคเบาหวาน และความดัน รวมอายุ 75 ปี กำหนดบำเพ็ญกุศลศพที่วัดเมืองเดฃ อ.เดชอุดม จ.อุบลราชธานี

 

สำหรับนายปัญญา จินตะเวช เกิดวันที่ 19 ธันวาคม 2490 เป็นบุตรของ นายวิฑูรย์ จินตะเวช อดีตปลัดอำเภอหัวหน้ากิ่งอำเภอบุณฑริก (อำเภอบุณฑริก จังหวัดอุบลราชธานี ในปัจจุบัน) และนางเกษร จินตะเวช อดีตอาจารย์โรงเรียนนารีนุกูล ที่ตำบลโพนงาม กิ่งอำเภอบุณฑริก จังหวัดอุบลราชธานี มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน 7 คน รวมถึง นายตุ่น จินตะเวช อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุบลราชธานี หลายสมัย พี่ชาย และนายศักดิ์ชัย จินตะเวช อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุบลราชธานี น้องชาย

 

นายปัญญา สมรสกับนางสืบทรัพย์ จินตะเวช (สกุลเดิม:พรหมคุปต์) อดีตสมาชิกสภาจังหวัดอุบลราชธานีหลายสมัย มีบุตร 3 คน ได้แก่ นายประภูศักดิ์ จินตะเวช สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุบลราชธานี เขต 9 นายเศกสิทธิ์ จินตะเวช และนางวิเกศญา จินตะเวช พัชรธรรมพันธุ์

 

นายปัญญา จินตะเวช ได้ลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.เป็นครั้งแรกเมื่อปี 2531 ในนามพรรคปวงชนชาวไทย และชนะการเลือกตั้งเป็น ส.ส.อุบลราชธานี เขต 2 ด้วยคะแนนเสียง 81,000 คะแนน แต่มาพรรคปวงชนชาวไทย ถูกยุบและย้ายมาอยู่กับพรรคความหวังใหม่ ซึ่งมี พล.อ.ชงลิต ยงใจยุทธ เป็นหัวหน้าพรรค และชนะการเลือกตั้งเป็น ส.ส.สมัยที่ 2 แต่อยู่ในตำแหน่งได้เพียง 8 เดือน รัฐบาลก็ยุบสภา และได้รับเลือกตั้งในสมัยที่ 3 ในปีเดียวกันมีวาระ 2 ปีเศษ ได้รับตำแหน่ง กรรมาธิการการสาธารณสุข และโฆษกคณะกรรมาธิการการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎรพ.ศ. 2538 ได้ยื่นแปรญัติขอจัดตั้งศาลจังหวัดเดชอุดม และผลักดันจนสภาผู้แทนราษฎรได้มีมติผ่านกฎหมาย พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลจังหวัดที่อำเภอเดชอุดม จังหวัดอุบลราชธานี พ.ศ. 2538

โดยมีสาระสำคัญคือ จัดตั้งศาลจังหวัดขึ้นที่อำเภอเดชอุดม จังหวัดอุบลราชธานี โดยให้มีเขตอำนาจตลอดท้องที่อำเภอเดชอุดม อำเภอนาจะหลวย อำเภอน้ำยืน อำเภอบุณฑริก กิ่งอำเภอทุ่งศรีอุดม และกิ่งอำเภอนาเยีย เนื่องจากปริมาณคดีในเขตอำเภอและกิ่งอำเภอดังกล่าวมีปริมาณพอสมควร การคมนาคม ระหว่างตัวจังหวัดกับอำเภอต่างๆ บางแห่งมีระยะทางห่างไกล และไม่สะดวกในการเดินทาง เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนที่ต้องรับบริการด้านอำนวยความยุติธรรมจากรัฐ

ต่อมาในปี 2536 ได้ชนะการเลือกตั้งในนามพรรความหวังใหม่ ในเขต 3 อุบลราชธานี ด้วยคะแนนเสียง 98,000 คะแนน เป็น ส.ส.สมัยที่ 4 ในปี พ.ศ. 2552 ได้เข้าเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย และในปี พ.ศ. 2554 ได้ลงสมัครรับเลือกตั้ง เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุบลราชธานี เขตเลือกตั้งที่ 9 ชนะการเลือกตั้งเป็น ส.ส.สมัยที่ 5 ในปี พ.ศ. 2557 ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุบลราชธานี ในเขตเลือกตั้งเดิม เป็นสมัยที่ 6

ข่าวที่เกี่ยวข้อง