รีเซต

อินเดียเจอติด "เชื้อราเหลือง" เป็นรายแรก รุนแรงกว่า "เชื้อราดำ"

อินเดียเจอติด "เชื้อราเหลือง" เป็นรายแรก รุนแรงกว่า "เชื้อราดำ"
TNN ช่อง16
26 พฤษภาคม 2564 ( 15:19 )
255

เมื่อการระบาดของโควิด-19 รอบที่ 2 ปะทุขึ้นอย่างหนักในประเทศอินเดีย ทั่วประเทศก็กำลังต้องเผชิญกับการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ป่วยที่ติด "เชื้อราดำ" ที่โอกาสเสียชีวิตนับว่าค่อนข้างสูงแล้ว .. ล่าสุดมีรายผงานผู้ป่วยด้วยการติด "เชื้อราเหลือง"  ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า "เชื้อราเหลือง" นับเป็นเชื้อราที่ไม่ได้พบบ่อยนัก และนับว่าอันตรายยิ่งกว่า "เชื้อราดำ" และ "เชื้อราขาว" มาก โดยต้องใช้เวลาในการรักษามากขึ้น ขณะที่อาการส่วนใหญ่มีความคลึงกับเชื้อราสีอื่น ๆ 

"ความสะอาด" เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งในการหลีกเลี่ยงการติดเชื้อรา ขณะที่ผู้ติดเชื้อรามักมีสุขอนามัยที่ย่ำแย่

สำหรับผู้ป่วยที่พบติด "เชื้อราเหลือง" รายแรก อยู่ในรัฐอุตตรประเทศ เป็นชายในวัย 45 ปี ที่ต้องเข้ารับการรักษาตัวจากการติดเชื้อโควิด-19 นานนับเดือน ก่อนที่จะทรุดลงในไม่กี่วันที่ผ่านมา และเข้ารับการรักษาตัวอีกครั้งในโรงพยาบาล ก่อนที่จะตรวจพบว่าติด "เชื้อราเหลือง"  และตอนนี้อยู่ร่ะหว่างการรักษาตัว ซึ่งแพทย์ยังไม่สามารถบอกได้ว่าอาการเขาจะดีขึ้นหรือไม่

ขณะเดียวกัน ผู้ป่วยรายนี้ ยังมีอาการของการติด "เชื้อราดำ" และ "เชื้อราขาว" ด้วย 

"เชื้อราเหลือง" คืออะไร? ติดมาจากไหน? 

สำนักข่าว Times of India รายงานอ้างผู้เชี่ยวชาญว่า "เชื้อราเหลือง" นี้ไม่ได้พบบ่อยนัก จึงยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจน 100% ของโรคนี้ แต่สาเหตุเบื้องต้นของการติด "เชื้อราเหลือง" เกิดจากสุขอนามัยที่ไม่สะอาด, การปนเปื้อนในทรัพยากรที่เราดื่ม-กิน เช่น อาหาร หรือแม้กระทั่งการใช้ยาสเตียรอยด์ในปริมาณมาก ๆ รวมถึงการใช้ยาต้านเชื้อแบคทีเรีย ด้วย  

ดร.บีพี เตียกี ผู้เชี่ยวชาญด้านโสตศอนาสสิกวิยาในเมืองกาเซียบัด รัฐอุตตรประเทศ ระบุว่า "เชื้อราเหลือง" นี้ อาจมีต้นตอมาจาก 'สัตว์เลื้อยคลาน' และเขาก็เพิ่งจะเคยเห็นผู้ป่วยเชื้อราชนิดนี้เป็นครั้งแรกด้วย  โดยต้องฉีดยา Amphotericin B เพื่อใช้รักษาโรค .. สาเหตุที่ "เชื้อราเหลือง" อันตรายกว่า "เชื้อราดำ" และ "เชื้อราขาว" ที่พบก่อนหน้านี้นั้น เพราะมันยากที่จะวินิจฉัย เพราะมันเริ่มต้นภายในร่างกาย ส่งผลกระทบต่ออวัยวะภายใน โดยในผู้ป่วยวิกฤต อาจทำลายระบบและอวัยวะให้ล้มเหลว และเป็นเนื้อร้ายเฉียบพลัน  ซึ่งผิดกับ "เชื้อราดำ" ที่มีอาการผ่านทางใบหน้า โดยเฉพาะบริเวณจมูกและดวงตาอย่างชัดเจน ทำให้สังเกตได้ง่ายกว่า 

ติด "เชื้อราเหลือง" มีอาการอย่างไร? 

อาการต่าง ๆ ของการติด "เชื้อราเหลือง" นั้น มีตั้งแต่ 

- เซื่องซึม - โดยเมื่อมันแพร่ไปในร่างกาย โดยมันจะไปเน้นที่อวัยวะสำคัญ ๆ ทำให้คุณไม่มีกำลังวังชา ทำให้แสดงอาการเซื่องซึม เหนื่อยล้า และอ่อนเพลีย 

- ไม่อยากอาหาร - เชื้อราดำ ส่งผลกระทบต่อระบบย่อยอาหาร ทำให้ผู้ป่วยจะเริ่มแสดงอาการไม่อยากอาหาร

- น้ำหนักลด/ระบบเผาผลาญพัง - เบื้องต้นแพทย์ชี้ว่าน่าจะเป็นอาการของโรคนี้ด้วย โดยน้ำหนักที่ลดลงอย่างผิดปกติ อาจเป็นสัญญาณของผู้ติดเชื้อราดำ และจำเป็นต้องเร่งเข้ารับการรักษาโดยเร็ว 

รักษาอย่างไร? 

"เชื้อราดำ" หรือเชื้อราชนิดอื่น ๆ จำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วย Amphotericin B ที่เป็นยาต้านเชื้อรา ยังคงเป็นหนทางเดียวที่ใช้ในการรักษาการติดเชื้อนี้ 

"เบาหวาน" ทำคนเสี่ยงติด "เชื้อรา" ง่ายขึ้น

ความเสี่ยงที่สุดในการติดเชื้อรา ไม่ว่าจะสีใดก็ตามแต่ คือกลุ่มคนที่มีระดับ "น้ำตาล" ในเลือดสูง หรือการป่วยเป็น "เบาหวาน" โดยโรคเบาหวานทำให้เกิดการอักเสบอย่างรุนแรง และยับยั้งภูมิคุ้มกันของร่างกาย อีกทั้ง ระดับกลูโคสที่สูง ยังช่วยให้เชื้อราเข้าสู่ร่างกาย และแพร่ไปทั่วร่างกายได้ง่ายขึ้น อีกทั้งยังทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง อีกทั้งคนป่วยเบาหวานยังเกิดการติดเชื้อที่ผิวหนังได้ง่าย และแผลที่ผิวหนัง ก็ทำให้เชื้อราเข้าร่างกายได้ง่ายขึ้น 

6 สัปดาห์แรก หลังหายป่วยโควิด คือช่วงเสี่ยงติด "เชื้อราทุกสี"

สำนักข่าว Times of India รายงานว่า ผู้ติดเชื้อราดำ และราขาว ในเวลานี้ เชื่อมโยงกับผู้ป่วยที่หายจากโควิด-19 โดย ดร.รันดีป กูเลเรีย ผู้อำนวยการ AIIMS ชี้ว่า ผู้ที่หายป่วยจากโควิด-19 ในระยะเวลา 6 สัปดาห์แรก จะมีความเสี่ยงติดเชื้อรามากที่สุด 

ป้องกันได้หรือไม่? 

แพทย์ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า สิ่งสำคัญที่สุดในเวลานี้ ก็คือ "ความสะอาด" , "สุขอนามัยที่ดี" คือที่ต่อสู้กับเชื้อโรคได้ดีที่สุด ทั้งทำความสะอาดร่างกาย-ที่อยู่อาศัย รวมถึงการต้อง "ทิ้งอาหารเหลือ" ให้เร็วที่สุด เพื่อป้องกนัการเติบโตของแบคทีเรียและเชื้อรา

ขณะที่เรื่อง "ความชื้นของบ้าน" ก็มีความสำคัญที่ต้องใส่ใจ อย่าให้บ้านชื้นเกิน ที่จะทำให้แบคทีเรียและเชื้อราเติบโตได้ดี ซึ่งความเหมาะสมของความชื้นคือราว 30-40%  และจงจำไว้ว่าความชื้นต่ำย่อมดีกว่าความชื้นสูง!


ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง